ขออนุมัติในหลักการจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 04 March 2022 12:24
- Hits: 7081
ขออนุมัติในหลักการจัดสรรงบประมาณให้แก่โครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ตสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการจัดสรรงบประมาณให้กับ สธ. ดำเนินโครงการยกระดับ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก โดยใช้ที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก. 153 (บางส่วน) เนื้อที่ 141 - 2 - 64 ไร่ ตั้งอยู่ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 - 2569 จำนวนทั้งสิ้น 1,411.70 ล้านบาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า
1. โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ได้เสนอโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก (โครงการฯ) [ชื่อเดิม แผนงานสำคัญเพื่อการขับเคลื่อนประเด็นการพัฒนาของจังหวัด : เมืองบริการทางการแพทย์ระดับนานาชาติ (International Medical City)] เข้าสู่แผนพัฒนาจังหวัดภูเก็ต (พ.ศ. 2561 - 2565) ฉบับทบทวน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยมีการดำเนินการที่สำคัญคือการจัดสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร โดยใช้ที่ดินราชพัสดุหมายเลขทะเบียนที่ ภก. 153 (บางส่วน) เนื้อที่ 141 - 2 - 64 ไร่ และมีแผนการดำเนินงาน 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 (ปี 2566) งานศึกษาและเตรียมความพร้อมโครงการ มีกิจกรรม อาทิ การศึกษาความเป็นไปได้ การออกแบบอาคาร การจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) การสร้างรั้วโครงการ ป้าย และถนนบางส่วน ระยะที่ 2 (ปี 2566 - 2567) การเตรียมพื้นที่ก่อสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน มีการดำเนินการ อาทิ การเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง การปรับทัศนียภาพและภูมิสถาปัตย์และระยะที่ 3 (ปี 2567 - 2569) งานก่อสร้าง อาทิ การก่อสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ทั้ง 4 ศูนย์ (ตามข้อ 3) มีกรอบงบประมาณในการดำเนินโครงการเป็นเงินทั้งสิ้น 1,411.70 ล้านบาท ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (นโยบาย Medical Hub) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการแล้ว
2. เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 กรมธนารักษ์ได้อนุญาตให้ สธ. โดยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตใช้ที่ดินราชพัสดุหมายเลขทะเบียนที่ ภก. 153 (บางส่วน) เนื้อที่ 141 - 2 - 64 ไร่ เพื่อดำเนินโครงการฯ โดยใช้งบประมาณแผ่นดิน ทั้งนี้ ต้องเข้าทำประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุตามวัตถุประสงค์ที่ขออนุญาตภายในกำหนด 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินราชพัสดุ (สิ้นสุดกำหนดวันที่ 13 ตุลาคม 2566) ต่อมากรมธนารักษ์ได้มีหนังสือถึง สป.สธ. เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 แจ้งถึงการอนุญาตดังกล่าว โดยจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้ที่ราชพัสดุ และหากมีการนำพื้นที่ทั้งหมดหรือบางส่วนไปจัดหาประโยชน์หรือให้เอกชนร่วมลงทุนจะต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง ระเบียบ หลักเกณฑ์ ที่ออกตามความในพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562
3. สาระสำคัญของโครงการฯ สรุปได้ ดังนี้
รายการ |
รายละเอียด |
|
วัตถุประสงค์ |
(1) เพื่อพัฒนาเมืองภูเก็ตให้เป็นศูนย์กลางการบริการทางการแพทย์มูลค่าสูงเชื่อมโยงการท่องเที่ยวนานาชาติ ที่มีมูลค่าทางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระดับโลก ภายใต้โครงการ Phuket Sandbox (2) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของจังหวัดภูเก็ตและประเทศ โดยส่งเสริมผลผลิตและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวหรือภาคบริการอื่น (3) เพื่อสร้างโอกาสในการลงทุนหลังสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่ความปกติใหม่ (New Normal) (4) เพื่อเพิ่มการจ้างงานและลดอัตราการว่างงานให้กับประชาชนในพื้นที่หลังสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด 19 (5) เพื่อเสริมสร้างความพร้อมของระบบโครงสร้างพื้นฐานเทคโนโลยี วิทยาการทางการแพทย์ และระบบบริการทางการแพทย์รองรับการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติที่ทันสมัยที่มุ่งเน้นยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพสู่เวทีโลก (6) เพื่อรองรับการจัดงาน EXPO 2028 - Phuket, Thailand ในปี 2571 |
|
หน่วยงานรับผิดชอบโครงการ |
สธ. โดยโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต |
|
สถานที่ |
ที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ ภก.153 (บางส่วน) ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต เนื้อที่ 141 – 2 - 64 ไร่ |
|
การดำเนินการ/กิจกรรม |
ดำเนินโครงการโดยจัดสร้างศูนย์บริการทางการแพทย์ครบวงจร ประกอบด้วย (1) ศูนย์บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขระดับนานาชาติครบวงจร(International Health/Medical Plaza) (2) ศูนย์อภิบาลสุขภาพผู้สูงอายุนานาชาติ (Premium Long Term Care) (3) ศูนย์ใจรักษ์ (Hospice Care)2 (4) ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูครบวงจร (Rehabilitation Center) |
|
แหล่งเงิน |
งบประมาณรายจ่ายประจำปี (ปี 2566 - 2569) |
|
ระยะเวลาดำเนินการ |
4 ปี (ปีงบประมาณ 2566 - 2569) |
|
รูปแบบการบริหารจัดการโครงการ |
สธ. (กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ) แจ้งว่าอยู่ระหว่างการหารือ [โดยมี 5 รูปแบบ ได้แก่ (1) ภาครัฐดำเนินการเอง (2) รูปแบบพิเศษ (3) โรงพยาบาลกึ่งรัฐกึ่งเอกชน (4) องค์กรมหาชน และ (5) ภาครัฐร่วมลงทุนกับภาคเอกชน] |
|
การจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (รายงาน EIA) |
จำเป็นต้องจัดทำรายงาน EIA3 โดย สป.สธ. แจ้งว่าจะดำเนินการหลังจาก คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการจัดสรรงบประมาณให้ สธ. ดำเนินโครงการแล้ว |
|
ประโยชน์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น |
- เกิดการจ้างงาน และเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นสำหรับภาคประชาชน - เป็นการสร้างโอกาสการลงทุน และเกิดการกระจายรายได้สำหรับภาคเอกชน - เกิดรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามา ส่งผลให้มีมูลค่าเศรษฐกิจสูงขึ้น รวมทั้งเป็นต้นแบบด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3118