การโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่คู่สัญญาในการขายที่ราชพัสดุที่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 04 March 2022 12:09
- Hits: 7146
การโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่คู่สัญญาในการขายที่ราชพัสดุที่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่คู่สัญญาในการขายที่ราชพัสดุที่ได้มาโดย คำพิพากษาของศาลให้ตกเป็นของแผ่นดิน จำนวน 86 ราย 94 รายการ (131 แปลง) ตามกฎกระทรวงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่มิใช่ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ พ.ศ. 2562 ข้อ 9 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กค. รายงานว่า
1. ศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ทรัพย์สินพร้อมดอกผลที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 25421 และพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ตกเป็นของแผ่นดิน มีผลทำให้ทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลมีสถานะเป็นที่ราชพัสดุตามพระราชบัญญัติที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2562 ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) และสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้แจ้งผลคดี พร้อมทั้งส่งมอบทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ตามคำพิพากษาของศาลดังกล่าว รวมจำนวนทั้งสิ้น 1,470 แปลง2 (ข้อมูล ณ เดือนตุลาคม 2564) ให้แก่ กค. (กรมธนารักษ์) เพื่อดูแลบริหารจัดการตามกฎหมายว่าด้วยที่ราชพัสดุ โดยกรมธนารักษ์ได้ดำเนินการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมรับโอนอสังหาริมทรัพย์ในนาม กค. เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และนำส่งขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุแล้ว
2. กรมธนารักษ์ โดยคณะกรรมการพิจารณาการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลและโดยประการอื่น (ตามคำสั่งกรมธนารักษ์ที่ 9/2563 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาการบริหารจัดการทรัพย์สินที่ตกเป็นของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลและโดยประการอื่น) พิจารณาแล้วเห็นว่า เนื่องจากทรัพย์สินบางรายการมีสภาพไม่เหมาะสม สำหรับการใช้ในราชการหรือนำไปจัดหาประโยชน์ ประกอบกับกรมธนารักษ์ไม่มีอัตรากำลังและงบประมาณในการดูแล บำรุงรักษา หากปล่อยทรัพย์สินไว้โดยเฉพาะที่เป็นอาคาร สิ่งปลูกสร้างจะมีสภาพทรุดโทรมและเสี่ยงต่อการถูกบุกรุก ก่อให้เกิดความเสียหายที่ต้องหาผู้รับผิดชอบ ซึ่งเกิดจากการกระทำละเมิดได้ ดังนั้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการทรัพย์สิน รวมทั้งเพื่อเพิ่มรายได้แผ่นดินอีกทางหนึ่ง จึงเห็นสมควรนำที่ราชพัสดุมาประมูลขาย จำนวน 182 แปลง (130 รายการ) กรมธนารักษ์จึงได้ดำเนินการตามขั้นตอนตามกฎกระทรวงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่มิใช่ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้ เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ พ.ศ. 2562 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยวิธีประมูลขายหรือแลกเปลี่ยนที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2564
3. คณะกรรมการพิจารณาให้ความเห็นการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุตามกฎกระทรวงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่มิใช่ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ พ.ศ. 2562 ได้ประชุมพิจารณากลั่นกรองเรื่องการขายที่ราชพัสดุแล้วมีความเห็นโดยสรุปว่า กรมธนารักษ์ได้รับมอบทรัพย์สิน มานาน โดยไม่มีหน่วยงานใดประสงค์ขอใช้ ทรัพย์สินบางรายการมีสิ่งปลูกสร้างในที่ดินถูกปล่อยทิ้งร้างขาดการดูแลและบำรุงรักษา ทำให้มีสภาพทรุดโทรม บางรายการตั้งอยู่ในโครงการหมู่บ้านจัดสรร ทำเลที่ตั้งไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นสถานที่ราชการ บางรายการไม่มีทางเข้า - ออก หรือต้องใช้ทางเข้า - ออก ร่วมกับที่ดินแปลงอื่น หรือตั้งอยู่ห่างไกลจากถนนสายหลัก จึงไม่สะดวกในการเข้าถึงหรือทำประโยชน์ในแปลงที่ดิน บางรายการมีขนาดพื้นที่ไม่เกิน 50 ตารางวา ทำให้มีข้อจำกัดในการใช้ในราชการหรือนำไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์ ทรัพย์สินบางรายการมีบริวารหรือผู้อยู่อาศัยของเจ้าของทรัพย์เดิม หรือผู้เช่าเดิมยังคงอยู่ ส่งผลให้มีข้อจำกัดในการใช้ โดยต้องดำเนินการให้เจ้าของเดิมออกไปจากพื้นที่ก่อน และในส่วนทรัพย์สินที่เป็นห้องชุดมีภาระค่าใช้จ่ายส่วนกลางตั้งแต่รับมอบทรัพย์สินที่ทางราชการต้องรับภาระ ดังนั้น เพื่อมิให้เป็นภาระต่อทางราชการในการดูแลทรัพย์สินดังกล่าว และลดความเสี่ยงที่อาจเกิดความเสียหายต่อตัวทรัพย์ที่อยู่ในความดูแลของทางราชการ จึงมีมติให้ประมูลขายที่ราชพัสดุ พร้อมทั้งทบทวน/กำหนดมูลค่าขั้นต่ำของที่ราชพัสดุที่จะดำเนินการประมูลขาย 182 แปลง (130 รายการ) มูลค่ารวม 341.4726 ล้านบาท ตามกฎกระทรวงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่มิใช่ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ พ.ศ. 2562 และให้กรมธนารักษ์นำเสนอ กค. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดต่อไป
4. กค. โดยอธิบดีกรมธนารักษ์จึงอาศัยอำนาจตามคำสั่ง กค. ที่ 2741/2563 สั่ง ณ วันที่ 9 ธันวาคม 2563 เรื่อง การมอบอำนาจของรองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สินให้แก่อธิบดีกรมธนารักษ์ พิจารณาแล้วให้ความเห็นชอบการขายที่ราชพัสดุในพื้นที่ 25 จังหวัด จำนวน 182 แปลง (130 รายการ) โดยวิธีการประมูลเป็นการทั่วไป พร้อมเห็นชอบการกำหนดมูลค่าที่ราชพัสดุที่จะขายรวมทั้งสิ้น 341.4726 ล้านบาท และได้รายงานผลการใช้อำนาจให้รองปลัดกระทรวงการคลัง หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านทรัพย์สิน ทราบด้วยแล้ว ต่อมากรมธนารักษ์ได้อาศัยอำนาจระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยวิธีประมูลขายหรือแลกเปลี่ยนที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2564 ออกประกาศประมูล ขายที่ราชพัสดุผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยในระหว่างการประกาศเปิดประมูลขายที่ราชพัสดุ จำนวน 182 แปลง (130 รายการ) ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์นั้น กรมธนารักษ์ได้ระงับการประมูลขายที่ราชพัสดุในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 1 แปลง (1 รายการ) เนื่องจากต้องประเมินมูลค่าที่ดินที่ไม่มีสิ่งปลูกสร้างใหม่ จึงคงเหลือที่ราชพัสดุที่กรมธนารักษ์สามารถออกประกาศประมูลขายที่ราชพัสดุต่อไปได้ จำนวน 181 แปลง (129 รายการ) มูลค่ารวมทั้งสิ้น 340.9676 ล้านบาท
5. ผลการดำเนินการขายที่ราชพัสดุในระบบประมูลขายที่ราชพัสดุผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรมธนารักษ์ ระหว่างวันที่ 9 - 14 กันยายน 2564 พบว่า มีผู้เสนอราคาสูงสุดเพื่อซื้อที่ราชพัสดุ จำนวน 137 แปลง (99 รายการ) มูลค่ารวมที่ประมูลได้เป็นเงิน 289.6376 ล้านบาท [ไม่มีผู้เสนอราคา 44 แปลง (30 รายการ) มูลค่ารวมที่ไม่มีการประมูล 139.19 ล้านบาท] โดยมีผู้ผ่านการคัดเลือกเบื้องต้นซึ่งถือเป็นผู้มีสิทธิซื้อที่ราชพัสดุ ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยวิธีประมูลขายหรือแลกเปลี่ยนที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2564 มาจัดทำสัญญาจะซื้อจะขายกับกรมธนารักษ์รวม 86 ราย รวมจำนวน 131 แปลง (94 รายการ) มูลค่ารวมของราคาที่เสนอสูงสุดเป็นเงิน 204.9486 ล้านบาท และได้วางเงินมัดจำ ร้อยละ 10 ของราคาที่เสนอสูงสุดเป็นเงิน 20.4949 ล้านบาท (กรมธนารักษ์นำส่งเป็นรายได้แผ่นดินแล้ว) ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยวิธีประมูลขายหรือแลกเปลี่ยน ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2564 ข้อ 23 ส่วนเงินคงเหลือร้อยละ 90 ของราคาที่เสนอสูงสุด เป็นเงิน 184.4537 ล้านบาท กรมธนารักษ์จะได้รับและนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินก็ต่อเมื่อคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่คู่สัญญาการขายที่ราชพัสดุจำนวน 86 ราย 131 แปลง (94 รายการ) ข้างต้นแล้ว ตามข้อ 9 ของกฎกระทรวงการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุที่มิใช่ที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ พ.ศ. 2562
___________________
1ปัจจุบันมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 รองรับการดำเนินการดังกล่าว
2ในจำนวน 1,470 แปลง รวมถึงการโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่คู่สัญญาในการขายที่ราชพัสดุที่ได้มาโดยคำพิพากษาของศาล จำนวน 189 แปลง (115 ราย 131 รายการ) ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบไว้เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2564 ด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3116