ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัว ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 04 March 2022 12:00
- Hits: 6156
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัว ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง ความรุนแรงต่อเด็กในครอบครัว ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
สาระสำคัญ
พม. ได้ประชุมหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยที่ประชุมเห็นว่ารายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าวเป็นประโยชน์และสามารถนำมาปรับปรุงการดำเนินงานได้ ซึ่งขณะนี้ พม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการดังกล่าว โดยสรุปผลการพิจารณาได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1) แนวทางการค้นหาข้อเท็จจริง ควรมีการศึกษาเด็กที่ถูกกระทำความรุนแรง ว่าเหตุใดจึงถูกกระทำ หรือถูกกระทำด้วยวิธีใด และศึกษาในตัวผู้กระทำว่ากระทำด้วยสาเหตุอะไร และวิธีการใด |
- พม. ได้มีการสำรวจรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำรายงานตามมาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา ประจำทุกปี ได้แก่ สาเหตุ/ปัจจัยของการกระทำความรุนแรง และประเภทของการกระทำความรุนแรง |
|
2) แนวทางการช่วยเหลือ เยียวยา 2.1 เมื่อพบเห็นเหตุการณ์กระทำความรุนแรงต่อเด็ก จะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ให้เข้ามาดูแลช่วยเหลือ และควรตระหนักถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็กด้วยการทำงานในเชิงรุก โดยใช้กระบวนการจากทีมสหวิชาชีพดำเนินการช่วยเหลือ เยียวยา 2.2 ศูนย์ข้อมูลกลาง ควรมีการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวอย่างเป็นระบบ โดยอาจใช้ฐานจาก “ศูนย์พึ่งได้ สธ.” เป็นแหล่งรวบรวมกลางควรปรับทัศนคติเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัว โดยเน้น “ฐานชุมชน” และการทำงานเชิงรุก และการคุ้มครองและเยียวยาผู้ถูกกระทำ ต้องมีสถานที่รองรับ โดยอาศัยทีมสหวิชาชีพเข้าร่วมให้คำปรึกษาและเยียวยาอย่างทันท่วงที |
- มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานร่วมกันเมื่อเกิดเหตุความรุนแรงในครอบครัว ในลักษณะสหวิชาชีพ ได้แก่ พนักงานเจ้าหน้าที่จากศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันการกระทำความรุนแรงในครอบครัว นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา หรือบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ และพนักงานสอบสวน เข้าไปสืบเสาะข้อเท็จจริง และระงับเหตุคุ้มครองช่วยเหลือเยียวยาครอบครัว และกรมกิจการเด็กและเยาวชนได้จัดให้มีแอปพลิเคชั่น (Application) “คุ้มครองเด็ก” และเว็บไซต์ https//cpis.dcy go.th เพื่อแจ้งข้อมูลผ่านระบบแจ้งเหตุ - หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันเสริมสร้าง และพัฒนาศักยภาพผู้ปฏิบัติงานด้านความรุนแรงในครอบครัว ในส่วนของพนักงานเจ้าหน้าที่ และทีมสหวิชาชีพในการปฏิบัติงานในพื้นที่ รวมทั้งศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชน (ศพค.) ให้มีบทบาทในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และประสานการดำเนินงานกับทีมสหวิชาชีพเกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงในครอบครัวในพื้นที่ - พม. ได้จัดทำระบบฐานข้อมูลครอบครัว (Family Big Data) โดยบูรณาการด้านข้อมูลและเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์พึ่งได้ สธ. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) มท. สำนักงานอัยการสูงสุด ศาลเยาวชนและครอบครัวมีการจัดตั้งและผลักดันการดำเนินงานของกลไกชุมชน คือ ศพค. ที่มีทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในการเฝ้าระวัง ป้องกันและประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง - การคุ้มครองและเยียวยาผู้ถูกกระทำ พม. มีหน่วยงานบ้านพัก เด็กและครอบครัวทั้งในเขตกรุงเทพฯ และส่วนภูมิภาคทุกจังหวัดรองรับและให้การคุ้มครองผู้ถูกกระทำ โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 และทีมสหวิชาชีพ ช่วยเหลือเยียวยา และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้กระทำ |
|
3) แนวทางป้องกัน 3.1 มิติครอบครัว การเตรียมความพร้อมครอบครัวรุ่นใหม่ ควรส่งเสริมให้มีการดำเนินการในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มชุมชนคนยากจนในเมืองเพิ่มขึ้น ควรส่งเสริมให้ส่วนราชการหรือองค์กรรัฐวิสาหกิจมีเนอร์สเซอรี่เพื่อให้แม่มีโอกาสใกล้ชิดบุตร และส่งเสริมให้มีศูนย์ให้คำปรึกษาแก่ครอบครัวกระจายออกไปอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะการใช้ฐานศูนย์พึ่งได้ สธ. (OSCC) ศูนย์พัฒนาครอบครัวในชุมชนและองค์กรภาคเอกชน และการพัฒนาระบบโปรแกรม MySis ให้คำปรึกษาด้านครอบครัว โดยใช้ Chatbot ในการสนทนาโต้ตอบ |
- พม. มีการดำเนินโครงการเสริมสร้างศักยภาพครอบครัวลดความรุนแรงในเด็กเล็ก ในพื้นที่เป้าหมาย 23 จังหวัด วัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างให้ครอบครัวมีศักยภาพ สามารถเลี้ยงดู ดูแล และพัฒนาเด็กเล็กโดยไม่ใช้ความรุนแรง และได้ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีการจัดสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือเนอร์สเซอรี่ และได้ประกาศเจตนารมณ์ “การเสริมพลังบทบาทหญิงและชายเพื่อการเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ” - การให้คำปรึกษามีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องและร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีระบบเพื่อนครอบครัว (Family line) ให้คำปรึกษา ทั้งนี้ พม. จะพัฒนาระบบให้คำปรึกษา Chatbot ในการสนทนาโต้ตอบต่อไป ทั้งนี้ พม. มีแผนปฏิบัติการด้านครอบครัว พ.ศ. 2563 - 2565 คือ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาศักยภาพของครอบครัว ส่งเสริมให้ครอบครัวมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกัน มีสัมพันธภาพที่ดี และยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างหลักประกันความมั่นคงของครอบครัว ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนลดพื้นที่เสี่ยง เพิ่มพื้นที่ปลอดภัย สร้างพื้นที่การเรียนรู้สำหรับครอบครัวผ่านการดำเนินการในโครงการ/กิจกรรมต่างๆ |
|
3.2 มิติทางชุมชน ผลักดันให้ท้องถิ่นมีแผนและกิจกรรมส่งเสริมครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ใช้ฐานชุมชนเป็นตัวตั้งในการป้องกัน เฝ้าระวังค้นหาครอบครัวโดยอาศัยกลไกอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ประจำหมู่บ้าน อาสาสมัครสาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มทางสังคม และส่งเสริมให้มีศักยภาพ มีความเข้มแข็ง และได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ เพื่อแก้ปัญหาความรุนแรงในครอบครัว |
- มท. มีการส่งเสริมให้ อปท. ดำเนินการหรือสนับสนุนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรักและความอบอุ่นในครอบครัว สนับสนุนการใช้ฐานชุมชนเป็นตัวตั้งในการป้องกัน โดยมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นกลไกในชุมชน รวมทั้งกรมกิจการเด็กและเยาวชนให้มีชุมชนคุ้มครองเด็กระดับตำบล จำนวน 1,762 แห่ง ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการช่วยเหลือคุ้มครองเด็กในตำบล เพื่อทำให้เด็กที่ประสบปัญหา/เสี่ยง เข้าสู่สังคมร่วมกับเด็กในกลุ่มปกติได้ และ พม. ได้สนับสนุนให้มีการจัดตั้ง ศพค. ขึ้นทั่วประเทศ และสนับสนุนงบประมาณให้แก่ ศพค. รวมทั้งสื่อองค์ความรู้ พัฒนาศักยภาพของคณะทำงาน ศพค. อย่างต่อเนื่องทุกปี |
|
3.3 มิติทางสังคม ส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนกระบวนการรณรงค์ลดความรุนแรง และจัดกิจกรรมรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและบุคคลในครอบครัวและองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสังคมควรร่วมมือกับสื่อสารมวลชน เพื่อเสนอสื่อที่ส่งเสริมให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ มีพื้นที่การนำเสนอสาระเกี่ยวกับครอบครัวเพิ่มมาก |
- พม. ได้ส่งเสริมให้มีการขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าวอย่างต่อเนื่องทุกปี รวมทั้ง มท. โดย อปท. ได้ดำเนินการ/สนับสนุนกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความรัก และความอบอุ่นในครอบครัว และ พม. ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนที่ได้เคยร่วมลงนาม MOU การดำเนินงานยุติความรุนแรงในครอบครัว - พม. ได้สร้างความร่วมมือกับสื่อสารมวลชนในโครงการพลังบวกสาม และเชิญสื่อร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือก/ครอบครัว/ผู้ปฏิบัติงาน/บุคคลดีเด่น ที่เป็นตัวแบบของครอบครัวและสังคม เป็นต้น |
|
3.4 มิติทางการศึกษาสถาบันการศึกษาต้องขับเคลื่อนการรณรงค์ลดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในครอบครัว รวมถึงผลิตสื่อในรูปแบบต่างๆ เพื่อเผยแพร่รณรงค์ และส่งเสริมจัดกระบวนการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนมีทักษะชีวิตที่สามารถแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญในชีวิตประจำวัน |
- พม. ร่วมกับคณะกรรมาธิการ สังคม เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาสสภานิติบัญญัติแห่งชาติ รวมทั้งสถาบันการศึกษาต่างๆ และโรงเรียนต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ดำเนินโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ “New Gen Say No คนรุ่นใหม่ไร้ความรุนแรง” เพื่อเป็นการขับเคลื่อนการรณรงค์ รวมถึงได้ผลิตสื่อรณรงค์ยุติความรุนแรงเผยแพร่ในกิจกรรมดังกล่าว และ มท. ได้ให้สถานศึกษาในสังกัด อปท. ระดับปฐมวัยจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พ.ศ. 2560 |
|
3.5 มิติการสร้างต้นแบบที่ดี บูรณาการระหว่างครอบครัว สถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อรณรงค์ให้บุคคลเรียนรู้ถึงพิษภัยของปัจจัยที่ก่อให้เกิดความรุนแรงต่อเด็กและเยาวชนในครอบครัว |
- พม. ได้จัดกิจกรรมวันแห่งครอบครัวทั่วประเทศและกระตุ้นให้ เกิดครอบครัวไทยใจอาสา การยกย่องเชิดชูเกียรติครอบครัว/บุคคลให้เป็นต้นแบบ และมีการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชน ในสภาเด็กและเยาวชน ซึ่งมี 3 ระดับคือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัดระดับชาติ เป็นต้นแบบที่ดีให้แก่เด็กและเยาวชน |
|
3.6 มิติทางกฎหมาย ควรทบทวนพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว พ.ศ. 2562 การบังคับใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ให้มีการพิจารณาอย่างรอบคอบมากที่สุดเพื่อคุ้มครองผู้ถูกทำร้ายให้มากที่สุด และผลักดันให้สามีสามารถลาเลี้ยงดูบุตรหลังภรรยาคลอดบุตรตามมติคณะรัฐมนตรี (8 กุมภาพันธ์ 2553) โดยมีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ พ.ศ. 2555 |
- พม. อยู่ระหว่างปรับปรุงกฎหมายโดยมีข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายเป็นรายหมวด รวมถึงข้อเสนอในการปรับปรุงกฎหมายออกเป็นสองฉบับ ซึ่งด้านหนึ่งเป็นการส่งเสริมสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง และอีกด้านเป็นการคุ้มครองสวัสดิภาพบุคคลในครอบครัวจากความรุนแรงที่เกิดขึ้น สำหรับการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือ คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว และประมวลกฎหมายอาญา มีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อคุ้มครองผู้ถูกทำร้ายให้มากที่สุด ส่วนการให้สามีลาเลี้ยงดูบุตรในปี 2563 พม. ร่วมกับองค์กรธุรกิจและองค์กรพัฒนาเอกชน รวม 17 องค์กร ประกาศเจตนารมณ์ “การเสริมพลังบทบาทหญิงและชายเพื่อการเลี้ยงดูบุตรอย่างมีคุณภาพ” ให้หน่วยงานอนุญาตให้พนักงานชาย (บิดา) สามารถลาเพื่อช่วยเหลือภรรยาดูแลเลี้ยงดูบุตร 15 วัน โดยได้รับค่าจ้าง หรืออนุญาตให้ลาได้มากกว่านั้นตามนโยบายบริษัท |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3114