ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2564 ทั้งปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 04 March 2022 11:47
- Hits: 6298
ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2564 ทั้งปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2564 (เดือนตุลาคม-ธันวาคม) ทั้งปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 [เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 (5) ที่บัญญัติให้ สำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดทำฐานข้อมูลเศรษฐกิจและสังคม บัญชีประชาชาติของประเทศ ตามระบบสากล เพื่อประกอบการจัดทำนโยบายการพัฒนาประเทศ และรายงานภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ] ตามที่สำนักงานสภาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. ภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ของปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.9 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 0.2 โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่สี่ของปี 2564 ขยายตัวจากไตรมาสที่สามของปี 2564 ร้อยละ 1.8 (ปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว) รวมทั้งปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.2
1.1 ด้านการใช้จ่าย การส่งออกสินค้าและบริการและการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเพิ่มขึ้น การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาครัฐกลับมาขยายตัว ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง โดยการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน ขยายตัวร้อยละ 0.3 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 3.2 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่คลี่คลายลงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐที่ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการดำเนินมาตรการเพื่อกระตุ้น การใช้จ่ายของภาครัฐ นอกจากนี้ การใช้จ่ายหมวดบริการลดลงร้อยละ 1.7 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 5.4
การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 8.1 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ขยายตวร้อยละ 1.5 โดยรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการขยายตัวร้อยละ 11.4 และการโอนเพื่อสวัสดิการทางสังคมที่ไม่เป็นตัวเงินสำหรับสินค้าและบริการในระบบตลาด ขยายตัวร้อยละ 38.5 ส่วนอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำอยู่ที่ร้อยละ 35.5 (สูงกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่มีอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 23.8 และสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของ ปีก่อนที่มีอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 32.3)
การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 0.2 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 0.4 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 1.7 ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลงร้อยละ 6.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนรัฐวิสาหกิจลดลงร้อยละ 15.9 ส่วนอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 16.0 (ต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าที่มีอัตราเบิกจ่ายร้อยละ 24.0 แต่สูงกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 12.1) นอกจากนี้ การลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.6
1.2 ด้านภาคต่างประเทศ
1.2.1 การส่งออกสินค้ามีมูลค่า 70,543 ล้านดอลลาร์สหรัฐขยายตัวในเกณฑ์สูงร้อยละ 21.3 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.7 โดยปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 สินค้าที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องจักรและอุปกรณ์ รถยนต์นั่ง ชิ้นส่วนและอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อาหารสัตว์ ข้าว และยางพารา และสินค้าที่มีมูลค่าส่งออกลดลง เช่น ผลิตภัณฑ์ยางและ ปลากระป๋องและปลาแปรรูป ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าไปยังตลาดหลักส่วนใหญ่ขยายตัวต่อเนื่อง
1.2.2 การนำเข้าสินค้า มีมูลค่า 59,666 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 31.8 โดยปริมาณและราคานำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0 และร้อยละ 5.7 ตามลำดับ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 10.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
1.3 ด้านการผลิต โดยสาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 3.8 ปรับตัว ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 0.9 สาขาการขนส่งและสถานที่เก็บสินค้าขยายตัวร้อยละ 3.2 ปรับตัว ดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 1.4 สาขาไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ไอน้ำและระบบการปรับอากาศขยายตัวร้อยละ 2.1 ปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 2.4 สาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง ขยายตัวร้อยละ 0.7 ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.2 โดยมีผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ลดลง เช่น สุกรและข้าวเปลือก ขณะที่ผลผลิตสินค้าเกษตรสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น อ้อยและปาล์มน้ำมัน และสาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารลดลงร้อยละ 4.9 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 19.0 สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของการท่องเที่ยวในประเทศและการเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศซึ่งมีจำนวน 342,024 คน โดยเป็นผลจากนโยบายเปิดประเทศแบบไม่กักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ (Test & Go) และการผ่อนคลายมาตรการเดินทางของหลายประเทศ
1.4 เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.64 ต่ำกว่าไตรมาสก่อนหน้าซึ่งมีจำนวนร้อยละ 2.25 ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.4 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 7 หมื่นล้านบาท) เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ 2.46 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่า 9.644 ล้านล้านบาท คิดเป็น ร้อยละ 59.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)
2. เศรษฐกิจไทยปี 2564 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 ที่ลดลงร้อยละ 6.2 ด้านการใช้จ่าย มูลค่าการส่งออกสินค้า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 ร้อยละ 0.3 และร้อยละ 3.4 ตามลำดับ ด้านการผลิต สาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง สาขาการผลิตสินค้าอุตสาหกรรม และสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมบำรุง ขยายต้วร้อยละ 1.4 ร้อยละ 4.9 และร้อยละ 1.7 ตามลำดับ ขณะที่สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหารและสาขาการขนส่งฯ ลดลงร้อยละ 14.4 และร้อยละ 2.9 ตามลำดับ รวมทั้งปี 2564 GDP อยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท GDP ต่อหัวของคนไทย เฉลี่ยอยู่ที่ 232,176 บาทต่อคนต่อปี ส่วนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.2 และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลร้อยละ 2.2 ของ GDP
3. แนวโน้มเศรษฐกิจไทย ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนสำคัญประกอบด้วย (1) การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ (2) การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว (3) การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า และ (4) แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐจะขยายตัวร้อยละ 4.9 การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.5 และ ร้อยละ 3.8 ตามลำดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 1.5-2.5 และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลร้อยละ 1.5 ของ GDP
4. การบริหารเศรษฐกิจในปี 2565 ควรให้ความสำคัญประเด็นต่างๆ ดังนี้ (1) การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด (2) การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจ โดยเร่งรัดติดตามมาตรการต่างๆ ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงและในสาขาเศรษฐกิจที่มีข้อจำกัดในการฟื้นตัว แก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานควบคู่ไปกับการพิจารณามาตรการเพื่อช่วยเหลือแรงงานเพิ่มเติม และเร่งรัดมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจ (3) การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ เช่น การดูแลกลไกตลาดเพื่อแก้ไขและบรรเทาผลกระทบจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นรวมทั้งผลกระทบจากราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และการพิจารณาการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 และ 2566 โดยให้ความสำคัญกับโครงการลงทุนที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างงานสร้างอาชีพในระดับชุมชน (4) การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน โดยให้ความสำคัญกับมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้และมาตรการจูงใจในการชำระหนี้ (5) การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า เช่น การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าสำคัญไปยังตลาดหลักควบคู่กับการสร้างตลาดใหม่และการแก้ปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อระบบการขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ (6) การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน เช่น การแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนและการประกอบธุรกิจ การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษต่างๆ (7) การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ (8) การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ และ (9) การขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการกระจายรายได้ และปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3112