ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 6
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Friday, 04 March 2022 10:50
- Hits: 5645
ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย ครั้งที่ 6
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอผลการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (Meeting of the Ministers of Foreign Affairs of the on Conference on Interaction and Confidence Building Measures in Asia: CICA) ครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 11-12 ตุลาคม 2564 ณ กรุงนูร์-ซุลตัน สาธารณรัฐคาซัคสถาน (คาซัคสถาน) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคาซัคสถานเป็นประธาน CICA [คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (5 ตุลาคม 2564) เห็นชอบร่างเอกสารที่จะรับรองโดยที่ประชุม CICA จำนวน 5 ฉบับ และอนุมัติให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศหรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนพิเศษของรองนายกรัฐมนตรี (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมรับรองเอกสารดังกล่าวตามที่ กต. เสนอ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนร่างเอกสารที่จะรับรองดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ให้ กต. ดำเนินการได้ โดยให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง พร้อมทั้งให้ชี้แจงเหตุผลและประโยชน์ที่ไทยได้รับจากการปรับเปลี่ยนดังกล่าว] ซึ่งการประชุมดังกล่าวมีคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิก CICA และองค์การระหว่างประเทศเข้าร่วม [สำหรับไทย รองนายกรัฐมนตรี (นายดอนฯ) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงนูร์-ซุลตัน (เรือเอก ชัชวรรณ สาครสินธุ์) เป็นผู้แทนพิเศษเข้าร่วมการประชุมฯ] โดยมีแนวคิดหลักของการประชุมฯ คือ “ความมั่นคงและการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียในสถานการณ์ใหม่ๆ ของโลกยุคหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)” และได้มีการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นต่างๆ รวมถึงประเด็นการรับรองเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ ด้วย ดังนี้
1. เอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ ที่ได้รับรองเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ (1) ข้อบังคับการประชุมของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (2) แนวปฏิบัติมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย (3) ระเบียบว่าด้วยสภาผู้ทรงคุณวุฒิของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย และ (4) กฎระเบียบการประชุมคลังสมองของการประชุมว่าด้วยการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชีย [โดยเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมฯ ในข้อ (2) และข้อ (4) มีการปรับเปลี่ยนเอกสารเพียงเล็กน้อยในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย]
2. เอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ ที่ไม่สามารถบรรลุฉันทามติร่วมกันได้ จำนวน 1 ฉบับ ได้แก่ “ร่างปฏิญญาการประชุม CICA ครั้งที่ 6” เนื่องจากประเทศสมาชิกไม่สามารถประนีประนอมกันได้ในหลายประเด็น เช่น รูปแบบของความร่วมมือของพหุภาคี ความปลอดภัยของข้อมูล การตรวจสอบแหล่งที่มาของเชื้อโรคโควิด-19 แนวทางการพัฒนาโลก สถานการณ์ในตะวันออกกลาง ดังนั้น ประธาน CICA จึงได้เสนอขอปรับรูปแบบของเอกสารผลลัพธ์การประชุมฯ เป็นถ้อยแถลงของประธาน CICA ซึ่งมีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1. ด้านความมั่นคง |
- การร่วมกันพัฒนา CICA เพื่อให้ดำเนินการตามแนวทางฉันทามติที่มีประสิทธิผลเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือบนพื้นฐานของการเคารพในหลักการความเสมอภาคแห่งอธิปไตย บูรณภาพแห่งดินแดน ความเป็นอิสระทางการเมือง การไม่แทรกแซงกิจการภายใน - การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และกฎหมายระหว่างประเทศ - การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแบบพหุภาคีแบบเป็นตัวแทนที่ยุติธรรมและยั่งยืน เพิ่มมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และปฏิเสธแรงกดดันทางการเมืองและเศรษฐกิจโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่อรัฐสมาชิกใดๆ - การเน้นย้ำถึงผลกระทบของการก่อการร้าย การแบ่งแยกดินแดน และความสุดโต่ง รวมไปถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน วิกฤตทางการเงิน และความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม - การให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดปฏิบัติตามพันธกรณีด้านการควบคุมอาวุธ การลดอาวุธ และการไม่แพร่ขยายอาวุธ โดยคำนึงถึงภัยคุกคามในวงกว้างที่เกี่ยวข้องกับอาวุธที่มีอำนาจทำลายล้างสูง รวมถึงตระหนักถึงคุณประโยชน์ของเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียกลางและความสำคัญของการรับรองความปลอดภัยและความมั่นคงของกิจกรรมในห้วงอวกาศส่วนนอก และให้ใช้แนวทางที่ครอบคลุมในการป้องกันและต่อต้านการก่อการร้าย - การส่งเสริมการพัฒนาความเป็นสถาบันของ CICA และการดำเนินมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในทางปฏิบัติ รวมถึงการบรรจุมาตรการการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจใหม่ด้านความปลอดภัยทางระบาดวิทยา และการรักษาความปลอดภัยและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ - การจัดการหารืออย่างมีแบบแผนเกี่ยวกับการยกระดับ CICA ให้เป็นองค์กรระหว่างประเทศเพื่อความมั่นคงและความร่วมมือระดับภูมิภาคในเอเชีย |
|
2. การเมืองระหว่างประเทศ |
- การฟื้นฟูสันติภาพและการพัฒนาเศรษฐกิจในสาธารณรัฐอัฟกานิสถาน (อัฟกานิสถาน) บนพื้นฐานของกระบวนการเจรจาทางการเมืองที่ครอบคลุม รวมถึงการจัดการกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมและการรักษาไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน สิทธิสตรี เด็ก และชนกลุ่มน้อยในอัฟกานิสถาน - การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์บนพื้นฐานของการแก้ปัญหาของสองรัฐ โดยมีความจำเป็นต้องเจรจาทวิภาคีโดยตรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐของอิสราเอลและปาเลสไตน์ |
|
3. ด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา |
- การตระหนักถึงความท้าทายเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโรคโควิต-19 และความพยายามของประชาคมระหว่างประเทศในการก้าวข้ามผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลกจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 - การดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ของสหประชาชาติและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชากร แบ่งปันแนวปฏิบัติด้านการพัฒนาสากลที่เป็นเลิศ และส่งเสริมการพัฒนาระดับโลกที่เข้มแข็ง ดีต่อสุขภาพ และยั่งยืน - การเสริมสร้างความร่วมมือในการปกป้องสิ่งแวดล้อม การบรรเทา และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการสถานการณ์ฉุกเฉิน การเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมประชาคมแห่งชีวิตเพื่อมนุษย์ และธรรมชาติ และความจำเป็นในการผลักดันนโยบายให้เป็นรูปธรรม - การเน้นย้ำความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การปรับใช้และบูรณาการเทคโนโลยีดีจิทัลอย่างมีประสิทธิภาพ การลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และการสร้างขีดความสามารถของบุคลากรด้านดิจิทัลเพื่อรับมือกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการอำนวยความสะดวกในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ - การเน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของความเชื่อมโยงเพื่อการค้าและการพัฒนา และการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก เช่น การพัฒนาระเบียงคมนาคมขนส่ง การขนส่งหลากหลายรูปแบบและศูนย์โลจิสติกส์ และการส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัลของการขนส่ง - การยึดมั่นต่อระบบการค้าพหุภาคีที่เปิดกว้าง โปร่งใส ไม่เลือกประติบัติครอบคลุม และยึดกฎเป็นพื้นฐานโดยมีองค์การการค้าโลก (World Trade Organisation: WTO) เป็นแกนหลัก ทั้งนี้ มีการผลักดันการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 อย่างจริงจัง |
|
4. ด้านสังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ |
- การสนับสนุนการกระชับความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม การพัฒนาการหารือระหว่างอารยธรรม การส่งเสริมความร่วมมือในด้านการศึกษา วิทยาศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ระหว่างประเทศสมาชิก - การส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านกีฬาระหว่างประเทศสมาชิกและต่อต้านการใช้กีฬาเป็นเครื่องมือทางการเมือง - การเข้ามาของเติร์กเมนิสถานเพื่อเป็นผู้สังเกตการณ์ของ CICA |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3107