ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 03 March 2022 22:20
- Hits: 3691
ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบต่อร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทนที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้ พณ. สามารถดำเนินการได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์หรือผู้แทน ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
4. เห็นชอบผู้แทนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติเป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารของศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี
[จะมีการลงนวมในร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างวันที่ 16 - 17 มีนาคม 2565]
สาระสำคัญของเรื่อง
พณ. รายงานว่า
1. ในการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 16 เมื่อเดือนกันยายน 2562 ณ กรุงเทพมหานคร สาธารณรัฐเกาหลีได้เสนอเอกสารการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (ASEAN-Korea Industrial Innovation Center: AKIIC) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรม รวมทั้งการนำเทคโนโลยีไปใช้ในเชิงพาณิชย์ระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลี ต่อมาในการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ครั้งที่ 33 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ประชุมเห็นพ้องให้มีการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี โดยมอบหมายให้คณะทำงานร่วม (Joint Working Group) ระหว่างอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีหารือในการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าว โดยคณะทำงานร่วมฯ ได้มีการหารือเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจฯ เป็นระยะ และสามารถสรุปผลการขัดเกลาถ้อยคำทางกฎหมายเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 สำนักเลขาธิการอาเซียนจึงได้เวียนร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้ภาคีสมาชิกเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีการลงนามต่อไป
2. การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKIIC) ซึ่งเป็นข้อเสนอของสาธารณรัฐเกาหลีในฐานะประเทศหนึ่งที่มีความโดดเด่นและมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม จะช่วยเสริมสร้างความร่วมมือและเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรมเพื่อยกระดับการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนและสาธารณรัฐเกาหลีให้มากขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 ของไทย โดยการลงนามร่างบันทึกความเข้าใจฯ จะนำไปสู่การดำเนินโครงการความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมต่อไป
3. ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
วัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ |
มุ่งเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี ในความร่วมมือทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมอุตสาหกรรม โดยการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนอย่างแข็งขัน |
|
ที่ตั้งของศูนย์ฯ |
ศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKIIC) จะตั้งอยู่ ณ สาธารณรัฐเกาหลี (ประเทศเจ้าภาพ) |
|
หน้าที่ของศูนย์ฯ |
เสริมสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับสาธารณรัฐเกาหลี รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยี ส่งเสริมการเชื่อมโยงเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมและการนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดสัมมนา การประชุมเชิงปฏิบัติการต่างๆ |
|
โครงสร้างของศูนย์ฯ |
- ประกอบด้วยคณะกรรมการบริหาร เลขาธิการ และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งคณะที่ปรึกษา ซึ่งอาจพิจารณาจัดตั้งภายหลัง - คณะกรรมการบริหาร 11 คน โดยแต่ละภาคีสมาชิกจะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่อาวุโสของแต่ละภาคีสมาชิก 1 คน เป็นกรรมการบริหาร - คณะกรรมการบริหารจะแต่งตั้งกรรมการบริหาร 1 คนจากคณะกรรมการบริหารเป็นประธานกรรมการบริหารโดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 1 ปี - เลขาธิการจะได้รับการเสนอชื่อโดยภาคีสมาชิก และคัดเลือกโดยคณะกรรมการบริหาร ทั้งนี้ เลขาธิการมีวาระการดำรงตำแหน่ง 3 ปี และเลขาธิการจะต้องไม่เป็นบุคคลสัญชาติเดียวกันกับประธานกรรมการบริหาร |
|
สถานะทางกฎหมายของศูนย์ฯ |
ศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKIIC) มีสถานะเป็นนิติบุคคล และมีความสามารถในการทำนิติกรรมต่างๆ |
|
หน้าที่ของประเทศเจ้าภาพสิทธิประโยชน์และความคุ้มกัน |
- สาธารณรัฐเกาหลี (ประเทศเจ้าภาพ) จะจัดสรรพื้นที่สำนักงานสำหรับศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKIIC) และรับผิดชอบค่าเช่าพื้นที่สำนักงานดังกล่าว - สาธารณรัฐเกาหลี (ประเทศเจ้าภาพ) จะมอบเอกสิทธิ์และความคุ้มกันให้แก่ศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKIIC) เลขาธิการและเจ้าหน้าที่ตามความเหมาะสม - สิทธิประโยชน์และความคุ้มกันอาจจำเป็นสำหรับการปฏิบัติหน้าที่และจะเป็นไปตามข้อตกลงแยกอีกฉบับระหว่างศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKIIC) กับสาธารณรัฐเกาหลี (ประเทศเจ้าภาพ |
|
ขอบเขตความร่วมมือ |
- จัดตั้งกรอบแนวทางทั่วไปสำหรับความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีระหว่างภาคีสมาชิก - ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนความรู้ในสาขาที่สนใจร่วมกัน - ดำเนินโครงการร่วมสำหรับการวิจัยและพัฒนา การให้คำปรึกษาทางเทคนิคการถ่ายทอดและความร่วมมือทางเทคโนโลยี การนำเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และการจัดสัมมนานานาชาติ |
|
กิจกรรมและโครงการ |
- สร้างแพลตฟอร์มเพื่ออำนวยความสะดวกในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมการใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ระหว่างอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี - สนับสนุนแผนงานการให้คำแนะนำทางเทคโนโลยีอุตสาหกรรมสำหรับภาคเอกชนที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอาเซียน - สนับสนุนการสร้างเครือข่ายและส่งเสริมการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน - สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาร่วมด้านนวัตกรรมอุตสาหกรรมระหว่างภาคีสมาชิก - การแบ่งปันและการวางแนวนวัตกรรมทางอุตสาหกรรมเพื่อรับมือต่อความต้องการและประเด็นระดับโลกล่วงหน้า |
|
ความร่วมมือของศูนย์ฯ กับหน่วยงานอื่น |
- สถาบันเพื่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแห่งเกาหลี (Korean Institute for Advancement of Technology : KIAT) อำนวยความสะดวกและประสานงานในการปฏิบัติงานของสาธารณรัฐเกาหลีต่อกิจกรรมและโครงการของศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKIIC) - สำนักเลขาธิการอาเซียนอำนวยความสะดวกและประสานงานความร่วมมือของประเทศสมาชิกอาเซียน |
|
งบประมาณ |
- ประเทศที่เสนอโครงการจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดๆ ภายใต้บันทึกความเข้าใจ - สาธารณรัฐเกาหลีจะรับผิดชอบ (1) ค่าดำเนินการศูนย์นวัตกรรมอุตสาหกรรมอาเซียน-สาธารณรัฐเกาหลี (AKIIC) รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่จ้างโดยศูนย์ฯ อาทิ เลขาธิการและเจ้าหน้าที่ของศูนย์ และ (2) ค่าใช้จ่ายในการวางแผนและดำเนินโครงการ อาทิ การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ดำเนินการโดยสาธารณรัฐเกาหลี และกิจกรรมการสร้างเครือข่าย |
|
การมีผลใช้บังคับ |
- เมื่อมีการลงนามบันทึกความเข้าใจแล้ว จะจัดเก็บเอกสารต้นฉบับไว้ที่สำนักเลขาธิการอาเซียนและกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐเกาหลี โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะได้รับสำเนาบันทึกความเข้าใจฯ เพื่อดำเนินกระบวนการภายในในการให้สัตยาบันต่อไป - บันทึกความเข้าใจจะมีผลบังคับใช้ 30 วัน หลังจากวันที่ภาคีสมาชิกประเทศสุดท้ายนำฝากตราสารการให้สัตยาบัน การให้ความเห็นชอบ หรือการยอมรับ กับสำนักเลขาธิการอาเซียน |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 มีนาคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A3105