ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 February 2022 16:43
- Hits: 8143
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. โดยที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (14 กันยายน 2564) เห็นชอบในหลักการมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญให้เข้ามาพักอาศัยหรือทำงานในประเทศไทย อันจะเป็นการเพิ่มการบริโภคและการลงทุนในประเทศ และก่อให้เกิดรายได้ต่อเนื่องแก่ประชาชนและแรงงาน รวมทั้งทำให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเพียงพอต่อภาคธุรกิจที่รัฐส่งเสริม ซึ่งประกอบด้วย 2 มาตรการหลัก ได้แก่ การออกวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว (Long-term resident Visa : LTR Visa) และการแก้ไขกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงดูดชาวต่างชาติ โดย กค. ได้ดำเนินการกำหนดสิทธิประโยชน์ทางภาษีและสิทธิประโยชน์อื่นๆ แยกตามประเภทของชาวต่างชาติ ดังต่อไปนี้
ประเภทของชาวต่างชาติ |
คุณสมบัติ |
สิทธิประโยชน์ |
||
1. กลุ่มประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง |
1. ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือในอสังหาริมทรัพย์ ไม่ต่ำกว่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ 2. มีรายได้ส่วนบุคคลไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 3. มีทรัพย์สินไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ |
1. ให้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่า 2. ให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกันด้วย 3. ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับรายได้จากต่างประเทศ (รวมทั้งรายได้ที่นำเข้ามาในปีภาษีเดียวกัน) 4. ในอนาคตจะมีการพิจารณาในประเด็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาวและสิทธิประโยชน์อื่น |
||
2. กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ |
1. อายุ 50 ปีขึ้นไป 2. ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลไทย ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) หรือในอสังหาริมทรัพย์ไม่ต่ำกว่า 250,000 ดอลลาร์สหรัฐ 3. มีรายได้ปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 4. มีรายได้ (เงินบำนาญ) ไม่ต่ำกว่าปีละ 80,000 ดอลลาร์สหรัฐ |
|||
3. กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (กลุ่มที่ทำงานออนไลน์แล้วส่งผลงานและมีรายได้จากต่างประเทศแต่มาพำนักในไทยเกิน 180 วัน) |
1. มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือ 2. มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป หรือครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา หรือได้รับเงินทุน Series A 3. มีประสบการณ์ทำงาน 5 ปี |
|||
4. กลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ |
1. มีรายได้ปีละไม่ต่ำกว่า 80,000 ดอลลาร์สหรัฐในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา หรือ 2. มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐ หากจบการศึกษาระดับปริญญาโทขึ้นไป 3. มีประสบการณ์ทำงาน 5 ปีในอุตสาหกรรมเป้าหมาย |
1. ให้สิทธิทำงานพร้อมวีซ่า 2. ให้คู่สมรสและบุตรได้รับวีซ่าผู้ติดตามไปพร้อมกันด้วย 3. เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากรายได้ในประเทศไทยในอัตราเทียบเท่ากับอัตราภาษีเงินได้ที่ได้รับเนื่องจากการจ้างแรงงานในพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 4. ในอนาคตจะมีการพิจารณาในประเด็นการเช่าอสังหาริมทรัพย์ระยะยาวและสิทธิประโยชน์อื่น |
2. กค. พิจารณาแล้วจึงได้ดำเนินการยกร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ในการจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนโดยการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีศักยภาพสูงสู่ประเทศไทย ในการดึงดูดชาวต่างชาติที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญให้เข้ามาพักอาศัยหรือทำงานในประเทศไทย รวมทั้งให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบศ.) ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 และมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 14 กันยายน 2564 และวันที่ 7 ธันวาคม 2564
3. กค. ได้รายงานประมาณการการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยการคาดการณ์ของ สศช. ว่า จะมีชาวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยจำนวน 1 ล้านคน อย่างไรก็ดี จะไม่ทำให้สูญเสียรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายเป็นชาวต่างประเทศ ซึ่งไม่อยู่ในฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของประเทศไทย แต่อาจเพิ่มรายได้ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากกลุ่มผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้พึงประเมิน และมีประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
3.1 ชาวต่างชาติผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจหรือมีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาพักอาศัยหรือทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น
3.2 ฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้นจากกลุ่มชาวต่างชาติผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย
3.3 การบริโภคและการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น
3.4 ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศเพิ่มขึ้น
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
1. ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาวประเภทประชากรโลกผู้มีความมั่งคั่งสูง ประเภทผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ หรือประเภทผู้ที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย สำหรับเงินได้พึงประเมินในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศหรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศ และได้นำเงินได้เข้ามาในประเทศไทย โดยผู้มีเงินได้ต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
2. ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายเหลืออัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ผู้ถือวีซ่าประเภทผู้พำนักระยะยาว ประเภทผู้มีทักษะเชี่ยวชาญพิเศษ เนื่องจากการจ้างแรงงานของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการอุตสาหกรรมเป้าหมายซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ตามกฎหมายว่าด้วยการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย กฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งเมื่อคำนวณภาษีตามมาตรา 50 (1) แห่งประมวลรัษฎากรแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียภาษีในอัตราที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ ในกรณีที่คำนวณภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายแล้วอยู่ในบังคับต้องเสียเท่ากับหรือน้อยกว่าร้อยละ 17 ของเงินได้ ให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้พึงประเมินดังกล่าวไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อผู้มีเงินได้ยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้นั้น
3. ให้ผู้มีเงินได้ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 17 ของเงินได้ตามข้อ 2. ไว้แล้ว เมื่อถึงกำหนดยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ต้องนำเงินพึงประเมินไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เฉพาะกรณีไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตคืนภาษีที่ถูกหักไว้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
3.1 ในกรณีที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายตามมาตรา 50 ไว้แล้วและมีสิทธิเลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 48 (3) และ (4) ผู้มีเงินได้จะใช้สิทธิได้เมื่อไม่นำเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) และ (8) ไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืน และไม่ขอเครดิตภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
3.2 ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ไม่ต้องนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
4. ผู้มีเงินได้ที่จะได้รับสิทธิตามข้อ 2. และข้อ 3. ต้องมีคุณสมบัติและปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
5. กรณีที่มีการใช้สิทธิไปแล้ว และต่อมาไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในปีภาษีใด ให้สิทธิเป็นอันระงับไปในเฉพาะปีภาษีนั้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2619