ร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 February 2022 15:59
- Hits: 8262
ร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติความหลากหลายทางชีวภาพ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ ทส. เสนอ เป็นการกำหนดพื้นที่ในการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อเป็นกลไกการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพการอนุรักษ์ การเข้าถึง การใช้ประโยชน์ และการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ และความปลอดภัยทางชีวภาพจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมของประเทศไทย (Living Modified Organisms: LMOs) เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ และการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio - Circular - Green Economy : BCG Model) รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศด้านความหลากหลายทางชีวภาพอันจะเป็นการรองรับการเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องกับความหลากหลายทางชีวภาพตามแผนจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศกำหนดให้หน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใดของรัฐตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้กำหนดขึ้นโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบและมีหน้าที่และอำนาจในการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้คำนึงถึงความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ความเกี่ยวข้องกับทรัพยากรชีวภาพ จำนวนบุคลากร ความสัมพันธ์กับภารกิจหลัก และปริมาณงานในความรับผิดชอบเป็นสำคัญ
2. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับแก่การบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพทั่วราชอาณาจักร ตลอดจนเขตเศรษฐกิจจำเพาะ เขตไหล่ทวีปและทะเลหลวง ที่ประเทศไทยมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพตราบเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายระหว่างประเทศหรือความตกลงที่ทำกับต่างประเทศ
3. กำหนดให้มี “คณะกรรมการความหลากหลายทางชีวภาพแห่งชาติ” ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย เป็นประธานกรรมการ โดยมีหน้าที่และอำนาจในการเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่นายกรัฐมนตรีในการกำหนดภารกิจให้แก่หน่วยงานของรัฐที่จะต้องรับผิดชอบ หรือกำหนดให้เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบที่ต้องดำเนินการ และเสนอแนะและให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีของหน่วยงานของรัฐในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ กฎหมาย และพันธกรณีตามความตกลงระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
4. กำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบพิจารณาสนับสนุนให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการจัดทำบัญชีรายการทรัพยากรชีวภาพในระดับท้องถิ่นส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นพัฒนา องค์ความรู้และสมรรถนะด้านการบริหารจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และส่งเสริมให้ประชาชนและชุมชนท้องถิ่นมีความสามารถในการติดตามตรวจสอบการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรชีวภาพตามพระราชบัญญัตินี้
5. การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ
5.1 กำหนดให้การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นไปตามแผนจัดการความหลากหลายทางชีวภาพ และให้รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการมีอำนาจออกประกาศกำหนดให้พื้นที่นั้นเป็นเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครอง ป้องกัน แก้ไขและพื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพได้ตามความจำเป็นและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยมีแผนที่แสดงแนวเขตแนบท้ายประกาศ รวมทั้งมีอำนาจประกาศกำหนดให้เป็นทรัพยากรชีวภาพคุ้มครองและกำหนดมาตรการคุ้มครองและป้องกันผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพคุ้มครอง
5.2 กำหนดให้การกำหนดเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบ ดูแลรักษา หรือเป็นของหน่วยงานของรัฐต้องได้รับความเห็นชอบจากหน่วยงานของรัฐนั้นก่อนและ การกำหนดให้พื้นที่บริเวณใดเป็นเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วย
5.3 กำหนดให้ที่ดินที่ของบุคคลใด ซึ่งประสงค์จะกำหนดให้เป็นเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ จะต้องขอขึ้นทะเบียนและจัดทำมาตรการอนุรักษ์ทรัพยากรชีวภาพตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด
5.4 กำหนดให้เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษโดยคำแนะนำของหน่วยงานผู้รับผิดชอบจัดทำบัญชีทรัพยากรชีวภาพในพื้นที่ของตน โดยการจัดทำบัญชีดังกล่าวต้องจัดให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชนท้องถิ่น
6. การเข้าถึง การใช้ประโยน์จากทรัพยากรชีวภาพ และการแบ่งปันผลประโยชน์
6.1 กำหนดกลไกในการเข้าถึงและการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรชีวภาพ รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น ตามหลักการที่กำหนดไว้ในพิธีสารนาโงยาว่าด้วยการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรมอย่างยุติธรรมและเท่าเทียม
6.2 กำหนดให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบพิจารณาอนุญาตการขอเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และพิจารณาจัดทำข้อตกลงการแบ่งปันผลประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ กรณีที่การใช้ประโยชน์นั้นเป็นไปเพื่อการค้า โดยจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป
6.3 กำหนดให้มีระบบการรายงานความก้าวหน้าหรือผลการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ เพื่อติดตามการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของการขออนุญาตเข้าถึงการนำไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการแบ่งปันผลประโยชน์จากการใช้ทรัพยากรชีวภาพนั้นๆ
6.4 กำหนดให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีรายได้และทรัพย์สิน ได้แก่ เงินที่ได้รับจากข้อตกลงการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการใช้ทรัพยากรชีวภาพ เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้ เงินค่าปรับทางปกครอง เงินค่าปรับจากการเปรียบเทียบ และดอกผลและผลประโยชน์อื่นใดที่เกิดจากเงินและทรัพย์สินดังกล่าว
7. การควบคุมผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ
7.1 กำหนดให้หมวดนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมดูแลการใช้สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมในกระบวนการต่างๆ และการใช้ประโยชน์จากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศและที่มีอยู่ภายในประเทศให้เป็นไปอย่างปลอดภัย เหมาะสม และสอดคล้องกับการดำเนินงานในระดับสากล
7.2 กำหนดคำนิยามคำว่า “ความปลอดภัยทางชีวภาพ” “สิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม” “เทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่” “กิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม” “ใช้ในสภาพควบคุม” “ใช้ในภาคสนาม” “ปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม” “ผลิต” และ “ชนิดพันธุ์ต่างถิ่น” เพื่อให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น
7.3 กำหนดกลไกการกำกับดูแลกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ LMOs ที่สอดคล้องกับแนวทางที่กำหนดในพิธีสารคาร์ตาเฮนาว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ ทั้ง LMOs ที่พัฒนาขึ้นในประเทศและที่นำเข้าจากต่างประเทศในทุกกระบวนการ ตั้งแต่การนำเข้า ส่งออก นำผ่าน การดูแล ขนส่ง การบรรจุหีบห่อ การจำแนกระบุ การใช้ในสภาพควบคุม การใช้ในภาคสนาม การประเมินความปลอดภัยทางชีวภาพก่อนการปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม
7.4 กำหนดให้มีการจัดทำบัญชีชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกัน ควบคุม หรือกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ซึ่งรวมถึงชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจด้วย เพื่อควบคุม ป้องกันภัยคุกคามและผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ โดยคำนึงถึงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
8. กำหนดให้ผู้ใดทำให้เกิดความเสียหายต่อความหลากหลายทางชีวภาพ ทรัพย์สิน เศรษฐกิจ สังคม หรือความมั่นคงทางอาหาร หรือมีผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพมนุษย์ที่เกิดจากสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมหรือชนิดพันธุ์ต่างถิ่น ผู้นั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสิ่นไหมทดแทนเพื่อการนั้น ไม่ว่าความเสียหายนั้นจะเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อของบุคคลดังกล่าวหรือไม่ก็ตาม
9. กำหนดให้มีโทษทางปกครอง ดังนี้
9.1 กำหนดให้ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติในการจัดทำรายงานความก้าวหน้าในการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพเสนอต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบ ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 10,000 บาท
9.2 กำหนดให้ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติในการแจ้งการครอบครองสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมนั้น ต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบหรือแจ้งต่อหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรมที่อยู่ในบัญชีปลดปล่อยสู่สิ่งแวดล้อม ต้องระวางโทษปรับทางปกครองไม่เกิน 100,000 บาท
9.3 กำหนดให้ผู้ที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้นอกจากโทษปรับทางปกครอง อาจได้รับการลงโทษทางปกครองอื่นร่วมด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างก็ได้ ดังนี้ (1) ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน (2) สั่งให้ผู้ถูกลงโทษกระทำการหรืองดเว้นกระทำการเพื่อแก้ไขหรือป้องกันมิให้เกิดการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติกฎกระทรวง ประกาศ หลักเกณฑ์ คำสั่ง หรือเงื่อนไขที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้ โดยให้หน่วยงานผู้รับผิดชอบหรือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้วแต่กรณี เป็นผู้มีอำนาจลงโทษทางปกครอง
10. กำหนดให้มีโทษทางอาญา ดังนี้
10.1 กำหนดให้ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการคุ้มครอง ป้องกัน แก้ไขและพื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพในเขตคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพหรือตามมาตรการคุ้มครองและป้องกันผลกระทบต่อทรัพยากรชีวภาพคุ้มครอง หรือตามมาตรการป้องกัน ควบคุม หรือกำจัดชนิดพันธุ์ต่างถิ่น หรือตามมาตรการป้องกัน ควบคุม หรือกำจัด ทำลาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
10.2 กำหนดให้ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดเป็นนิติบุคคล ถ้าการกระทำความผิดของ นิติบุคคลนั้นเกิดจากการสั่งการหรือการกระทำของกรรมการหรือผู้จัดการหรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลดังกล่าวมีหน้าที่ต้องสั่งการหรือกระทำการและละเว้นไม่สั่งการหรือไม่กระทำการจนเป็นเหตุให้นิติบุคคลนั้นกระทำความผิด ผู้นั้นต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิด นั้นๆ ด้วย
11. บทเฉพาะกาล
11.1 กำหนดให้ในวาระเริ่มแรกให้คณะกรรมการประกอบด้วยกรรมการซึ่งเป็นรองประธานคนที่หนึ่ง และคนที่สอง และกรรมการโดยตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตามพระราชบัญญัตินี้ไปพลางก่อน และให้รัฐมนตรีแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
11.2 กำหนดให้การอนุญาตเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพตามระเบียบคณะกรรมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการในการเข้าถึงทรัพยากรชีวภาพและการได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากทรัพยากรชีวภาพ พ.ศ. 2554 ให้ดำเนินการต่อไปเพียงเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวงหรือประกาศตามพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2617