แผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ (พ.ศ. 2564 - 2575)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 February 2022 15:43
- Hits: 8021
แผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ (พ.ศ. 2564 - 2575)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ (พ.ศ. 2564 - 2575) (แผนปฏิบัติการฯ) ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ
สำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ภายใต้แผนปฏิบัติการดังกล่าว เห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้จ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ได้รับจัดสรร หรือปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ หรือโอนเงินจัดสรรหรือเปลี่ยนแปลงเงินจัดสรร หรือใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ แล้วแต่กรณี โดยคำนึงถึงความประหยัด ความคุ้มค่า ผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ที่จะได้รับเป็นสำคัญ ส่วนค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณต่อๆ ไป เห็นควรให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณรายปีเพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
สาระสำคัญของเรื่อง
สธ. รายงานว่า
1. คณะกรรมการสุขภาพปฐมภูมิ ในคราวประชุมครั้งที่ 4/2563 เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2563 มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ตามพระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และให้นำเสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนแนวทางการเสนอแผนระดับที่ 3 เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี
2. สธ. ได้เสนอ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ต่อ สศช. โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒนาฯ) ในคราวประชุมเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ และมีความเห็นให้ สธ. พิจารณาเพิ่มเติมใน 8 ประเด็นสำคัญ เนื่องจากเห็นว่าการกำหนดแนวทางการพัฒนายังไม่ครอบคลุมระบบสุขภาพปฐมภูมิ (ระบบปฐมภูมิฯ) ในทุกมิติและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาคส่วนอื่นๆ ที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดของ สธ.อีกทั้งยังขาดการพัฒนาแนวทางใหม่ๆ ที่รองรับบริบทการเปลี่ยนแปลง โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
(1) พันธกิจ วิสัยทัศน์ และ เป้าหมาย |
ควรปรับให้สะท้อนแนวคิดของระบบปฐมภูมิฯ ที่ให้ความสำคัญกับ (1) การเปลี่ยนฐานการดูแลสุขภาพจากโรงพยาบาลเป็นการใช้บ้านและชุมชน โดยมีประชาชนเป็นผู้ขับเคลื่อนระบบ (2) ปรับจากรัฐเป็นผู้ลงทุนหลักเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภาคเอกชน และภาคประชาชน และ (3) การจัดการกับปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ (Social Determinants of Health)1 เพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมในระยะยาว |
(2) ระยะเวลาดำเนินการ |
ปรับห้วงเวลาของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ เป็น ปี พ.ศ. 2564 – 2575 (เดิม ปี พ.ศ. 2564 – 2573) เพื่อให้สอดคล้องกับห้วงเวลาของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (รายละเอียดเพิ่มเติมตามข้อ 4.7.3) |
(3) จัดลำดับความสำคัญประเด็นการพัฒนาในระยะต่างๆ |
• ระยะเร่งด่วน (ปี พ.ศ. 2564 - 2565) เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโดยเฉพาะด้านดิจิทัล การวางแนวทางกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ฯลฯ • ระยะปานกลาง (ปี พ.ศ. 2566 - 2570) เน้นสร้างเสริมให้ประชาชนสามารถดูแลสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม • ระยะยาว (ปี พ.ศ. 2571 - 2575) เน้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้จัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ (บริการปฐมภูมิฯ) แก่ผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ การให้ความสำคัญกับการรักษาแบบประคับประคอง การดูแลผู้ป่วยในระยะกลาง ระยะยาว และระยะสุดท้าย |
(4) ปรับปรุง/เพิ่มจุดเน้นแนวทางการพัฒนาของ แต่ละยุทธศาสตร์ (รายละเอียดยุทธศาสตร์ ตามข้อ 2.3) |
• ยุทธศาสตร์ที่ 1 เช่น พัฒนาระบบพี่เลี้ยงชุมชนร่วมกับแกนนำชุมชน โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นโค้ชเพื่อให้เกิด Community Health Ecosystem ฯลฯ • ยุทธศาสตร์ที่ 2 เช่น พัฒนาเรื่อง Coaching System/Training the Trainer ดึงดูดแพทย์ให้อบรมด้านเวชศาสตร์ครอบครัวเพื่อปฏิบัติงานใน ถิ่นฐานบ้านเกิด ฯลฯ • ยุทธศาสตร์ที่ 3 เช่น ทำฐานข้อมูลและโครงสร้างที่สอดประสานกันเพื่อการส่งต่อข้อมูลนำนวัตกรรมใหม่มาให้บริการปฐมภูมิฯ เช่น เครื่องเจาะวัดน้ำตาลในเลือดแบบพกพา ซึ่งสามารถเชื่อมโยงผลเข้าสู่ฐานข้อมูลของคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ (คณะผู้ให้บริการฯ) ได้โดยตรง ฯลฯ • ยุทธศาสตร์ที่ 4 เช่น ส่งเสริมให้ประชาชนตระหนักถึงความรับผิดชอบในการดูแลสุขภาพ ฯลฯ • ยุทธศาสตร์ที่ 5 เช่น จัดทำแนวทางที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ให้ชัดเจน ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนโดยทีมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) |
(5) เพิ่มยุทธศาสตร์อื่นๆ |
• เพิ่มแนวทางรองรับการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ อาทิ (1) การรองรับการเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยวางระบบการดูแลในชุมชน เน้นการรักษาแบบประคับประคองและระยะท้าย (2) การนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ให้บริการ เช่น Telemedicine/Personal Health Record ที่เชื่อมโยงกับอุปกรณ์ดิจิทัล (3) การรองรับโรคอุบัติใหม่ โรคระบาด และภัยธรรมชาติอย่างฉับพลัน • การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการจัดระบบปฐมภูมิฯ ตามบริบทที่แตกต่างกัน เน้นการศึกษาและการกำหนดมาตรการที่ตอบสนองบริบทสังคมเมือง ซึ่งมีความเปราะบางมากกว่าในหลายมิติ • การเชื่อมโยงพระราชบัญญัติปฐมภูมิฯ กับกฎหมาย/กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง |
(6) การวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย |
จัดทำแผนภาพแสดงความเชื่อมโยงและวิเคราะห์บทบาทความรับผิดชอบและศักยภาพของหน่วยงานและภาคีเครือข่ายต่างๆ และผู้มีส่วนได้ ส่วนเสียกับระบบปฐมภูมิฯ เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์การดำเนินงานและการสนับสนุนที่ควรเพิ่มเติม และแสดงให้เห็น Value Chain และ Data Chain ที่ช่วยให้การติดตาม การจัดสรรงบประมาณ และการบูรณาการเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลได้อย่างแท้จริง |
(7) การจัดทำโครงการและ งบประมาณ |
ให้ความสำคัญกับการดำเนินโครงการที่มุ่งเน้นการป้องกันและโครงการ ใหม่ๆ ที่รองรับบริบทในอนาคต อาทิ การลงทุนด้านเทคโนโลยี การวางแนวทางกระจายอำนาจให้ อปท. |
(8) การบริหารจัดการและ การติดตามประเมินผล |
• ควรเพิ่มกลไกการประเมินผลระดับชาติและระดับเขตสุขภาพ และกำหนดให้มีกระบวนการพิจารณาทบทวนและปรับปรุงแผนปฏิบัติการฯ ให้สอดคล้องกับบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคต • การกำหนดตัวชี้วัด โดย (1) จัดกลุ่มตัวชี้วัดเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ความสำเร็จในระดับของการสร้างความตระหนัก การริเริ่มดำเนินการ และการดำเนินการและ (2) จัดทำตัวชี้วัดที่สะท้อนไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่เป็นรูปธรรม อาทิตัวชี้วัดในระดับภาพรวมของแผน (เช่น อายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี) ตัวชี้วัดที่สะท้อนการรองรับบริบทที่เปลี่ยนแปลงในอนาคต (เช่น ความครอบคลุมของระบบการดูแลแบบประคับประคองและระยะสุดท้ายในชุมชน) และตัวชี้วัดความพร้อมในการรับมือโรคอุบัติใหม่ ทั้งนี้ ควรกำหนดค่าเป้าหมายตัวชี้วัดในแต่ละระยะให้เป็นแบบก้าวหน้า (Progressive) |
3. สธ. ได้รับความเห็นของสภาพัฒนาฯ ไปดำเนินการปรับแก้ไข (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ และได้เสนอคณะกรรมการสุขภาพปฐมภูมิรับทราบแล้วในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) แผนปฏิบัติการฯ ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ และแผนงาน/โครงการสำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์ต่างๆ จำนวน 36 แผนงาน/โครงการ สรุปได้ ดังนี้
(ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านระบบสุขภาพปฐมภูมิ (พ.ศ. 2564 - 2575)
วิสัยทัศน์
เป็นระบบปฐมภูมิฯ ที่มีคุณภาพมาตรฐาน ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ทำให้ประชาชนสามารถจัดการสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้ รวมทั้งเข้าถึงบริการสุขภาพอย่างทั่วถึงเป็นธรรม มีความเชื่อมั่น ศรัทธา เพื่อมุ่งสู่การมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน
พันธกิจ
1. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการจัดบริการปฐมภูมิฯ อย่างต่อเนื่อง และผสมผสาน ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมโรค การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสุขภาพ
2. ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะผู้ให้บริการฯ ให้มีคุณภาพและเพียงพอต่อการให้บริการปฐมภูมิฯ
3. ส่งเสริมและพัฒนาระบบบริหารจัดการระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้มีการจัดบริการ ปฐมภูมิฯ ที่มีคุณภาพ
4. ส่งเสริม พัฒนา และประสานความร่วมมือด้านการจัดระบบบริการปฐมภูมิฯ ระหว่างภาครัฐ อปท. ภาคประชาชน และภาคเอกชนในการเป็นเจ้าของร่วมกัน เพื่อจัดการและพัฒนาระบบปฐมภูมิฯ ให้มีประสิทธิภาพ
5. ส่งเสริมและสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีศักยภาพมีความรอบรู้ในการจัดการสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชน เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสม รวมถึงสามารถจัดการกับปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม
เป้าประสงค์
• ประชาชนมีความรอบรู้สามารถจัดการสุขภาพตนเองได้
• ประชาชนมีความเชื่อมั่น ศรัทธา สามารถเข้าถึงบริการอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืน
• การจัดบริการปฐมภูมิฯ มีคุณภาพตามมาตรฐาน
• ระบบปฐมภูมิฯ มีกลไกและกระบวนการในการประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย เพื่อพัฒนาและจัดระบบปฐมภูมิฯ ที่มีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 1
เพิ่มศักยภาพบริการปฐมภูมิฯ ทุกรูปแบบที่ขับเคลื่อนโดยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและคณะ ผู้ให้บริการฯ ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่
แนวทางพัฒนา
จัดระบบ/พัฒนารูปแบบการบริการปฐมภูมิฯ ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ โดยยึดประชาชนเป็นศูนย์กลางและมุ่งสู่เป้าหมายระยะยาว (Better Health - Better Care - Better Value) เน้นการมีส่วนร่วมของภาครัฐ อปท. ภาคประชาชน และภาคเอกชน พัฒนาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ให้มีศักยภาพเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิและพัฒนาระบบการส่งต่อระหว่างหน่วยบริการทุกระดับ
ตัวอย่างแผนงาน/โครงการ
- โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
- โครงการจัดทำคู่มือเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานการให้บริการฯ
ยุทธศาสตร์ที่ 2
พัฒนาและสร้างกลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและ คณะผู้ให้บริการฯ
แนวทางพัฒนา
ส่งเสริมการผลิตและพัฒนาศักยภาพแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และคณะผู้ให้บริการฯ พัฒนากลไกการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพให้ทำงานเป็นทีม มีความเข้าใจที่ตรงกัน และเสริมสร้างขวัญกำลังใจแก่บุคลากร
ตัวอย่างแผนงาน/โครงการ
- โครงการผลิตแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวหลักสูตร Community - based training/Hospital-based training
- โครงการสรรหานักเรียนในพื้นที่เข้าสู่โครงการแพทย์คืนถิ่น
- โครงการสร้างสภาพแวดล้อมของสถานที่ทำงานให้เอื้อต่อการปฏิบัติงานและเป็น happy work place
ยุทธศาสตร์ที่ 3
พัฒนาระบบสารสนเทศการวิจัย และนวัตกรรมระบบปฐมภูมิ
แนวทางพัฒนา
พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการเชื่อมโยงข้อมูลการบริการและการบริหารจัดการระบบปฐมภูมิฯ นำเทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมด้านสุขภาพมาใช้ในการให้บริการปฐมภูมิฯ สนับสนุนงานวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
ตัวอย่างแผนงาน/โครงการ
- โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศด้านระบบปฐมภูมิฯ (เน้นพัฒนา hardware/application และโปรแกรมเชื่อมโยงข้อมูล/AI ฯลฯ)
ยุทธศาสตร์ที่ 4
พัฒนากลไกและกระบวนการสร้างหลักธรรมาภิบาลในการอภิบาลระบบปฐมภูมิฯ
แนวทางพัฒนา
พัฒนาและบังคับใช้กฎระเบียบกลไกการบริหารจัดการระบบปฐมภูมิฯ การบูรณาการทรัพยากรในการจัดบริการปฐมภูมิฯ และกำกับติดตาม การประเมินผล เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้
ตัวอย่างแผนงาน/โครงการ
- โครงการบูรณาการงานสุขภาพปฐมภูมิเชื่อมโยงการทำงานกับกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- โครงการบริหารจัดการการเงินการคลังในระบบปฐมภูมิฯ
- โครงการติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการฯ
ยุทธศาสตร์ที่ 5
เสริมสร้างองค์ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมของภาคเครือข่ายและชุมชน
แนวทางพัฒนา
บูรณาการองค์กรทุกภาคส่วน ภาคประชาชน และภาคประชาสังคมเพื่อจัดการปัจจัยกำหนดสุขภาพทางสังคม ส่งเสริมให้ประชาชนมีความรอบรู้ด้านสุขภาพ สามารถดูแลจัดการสุขภาพของตนเอง ครอบครัว และชุมชนได้ รวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับระบบปฐมภูมิฯ ให้ประชาชน
ตัวอย่างแผนงาน/โครงการ
- โครงการขับเคลื่อน พชอ. (เน้นจัดสภาพพื้นที่ จัดหาอุปกรณ์ดูแลสุขภาพให้ประชาชน)
- โครงการส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารจัดการและการจัดบริการด้านสาธารณสุขของ อปท. ภายใต้พระราชบัญญัติระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562
4. ผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ เป็นระบบปฐมภูมิฯ ที่มีประสิทธิภาพ สามารถจัดบริการปฐมภูมิฯ ที่มีคุณภาพ ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม มีความเชื่อมั่นศรัทธา และมุ่งสู่การมีสุขภาวะที่ดีอย่างยั่งยืนโดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย
5. ในส่วนของงบประมาณ ได้ประมาณการกรอบวงเงินงบประมาณ รวมทั้งสิ้น 67,956.986 ล้านบาท โดยจะตั้งรายการเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีของหน่วยงาน แบ่งเป็น
ปีงบประมาณ |
วงเงิน (ล้านบาท) |
หมายเหตุ |
พ.ศ. 2564 |
3,702.260 |
ได้รับการจัดสรรงบประมาณแล้ว |
พ.ศ. 2565 |
5,531.204 |
|
พ.ศ. 2566 - 2570 |
35,198.430 |
|
พ.ศ. 2564 - 2575 |
23,525.092 |
|
รวม |
67,956.986 |
_______________________
1องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ให้คำนิยาม “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” ว่าหมายถึง ปัจจัยเชิงโครงสร้างและระบบ ไม่ว่าจะเป็นสภาพแวดล้อมที่บุคคลเกิด เติบโต ทำงาน ดำรงชีวิตอยู่ ไปจนถึงระบบซึ่งกำหนดเงื่อนไขในชีวิตประจำวัน อาทิ นโยบายและระบบเศรษฐกิจ วาระการพัฒนา บรรทัดฐานทางสังคม นโยบายสังคมและระบบการเมือง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวมีอิทธิพลสำคัญต่อประเด็นความเป็นธรรมด้านสุขภาพ (Health Equity) โดยส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตและกำหนดรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ในสังคมนั้นซึ่งสัมพันธ์โดยตรงกับผลลัพธ์ด้านสุขภาพ ยิ่งสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของบุคคลนั้นอยู่ระดับล่างเท่าไรยิ่งมีแนวโน้มที่จะสุขภาพแย่ลงไปด้วย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2614