ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมกราคม 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 February 2022 12:54
- Hits: 9077
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมกราคม 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนมกราคม 2565 ตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
1.1 สศช. ได้จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีตามยุทธศาสตร์ชาติประจำปี 2564 (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560) โดยจากการประเมินผลสัมฤทธิ์การบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติในภาพรวมปี 2564 พบว่า ความอยู่ดีมีสุขลดลง ภาพรวมการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายมิติดีขึ้น สอดคล้องกับการปรับตัวดีขึ้นของคุณภาพชีวิต สุขภาวะ และความเป็นอยู่ของคนไทย และขีดความสามารถในการแข่งขันและประสิทธิภาพของภาครัฐไทย รวมทั้งมีการฟื้นฟูระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ การประเมินผลการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ ประกอบด้วย เป้าหมายในระดับประเด็น 37 เป้าหมาย มีสถานะการบรรลุเป้าหมาย จำนวน 7 เป้าหมาย (ร้อยละ 18.92) สถานะการบรรลุเป้าหมายที่ต่ำกว่าเป้าหมาย จำนวน 15 เป้าหมาย (ร้อยละ 40.54) สถานะการบรรลุเป้าหมายระดับเสี่ยง จำนวน 4 เป้าหมาย (ร้อยละ 10.81) และสถานะการบรรลุเป้าหมายในระดับวิกฤต จำนวน 11 เป้าหมาย (ร้อยละ 29.73) (คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2565)
นอกจากนี้ มีประเด็นท้าทายที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อบรรลุผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ เช่น แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของบริบทโลกและการฟื้นฟูประเทศกลับสู่ระดับการพัฒนาก่อนสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-๑๙) ดังนั้น สศช. จึงมีข้อเสนอให้หน่วยงานของรัฐดำเนินการตามหลักการบริหารงานคุณภาพ (Plan-Do-Check-Act: PDCA) ในการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ชาติให้บรรลุผลสัมฤทธิ์และผลลัพธ์ตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติได้อย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ สศช. ได้เผยแพร่รายงานดังกล่าวแล้วเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565
1.2 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติผ่านแผน 3 ระดับ ในส่วนของเผนปฏิบัติการด้าน...เพื่อเข้าสู่การพิจารณากลั่นกรอง ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 มีจำนวนทั้งสิ้น 135 แผน โดยเป็นแผนฯ เข้าใหม่รอบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 จำนวน 5 แผน เช่น (1) แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564-2570 (2) แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 (พ.ศ.2566-2570) และ (3) (ร่าง) กรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 และ (ร่าง) แผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2566-2570 โดยมีสถานะของแผนฯ ดังนี้ (1) แผนฯ ซึ่งผ่านกระบวนการพิจารณาและรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบแล้วและยังมีผลบังคับใช้อยู่ จำนวน 67 แผน (2) แผนฯ ที่อยู่ระหว่างพิจารณากลั่นกรองหรือเห็นสมควรทบทวนปรับปรุงแผนให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นก่อนนำเสนอตามขั้นตอนต่อไป จำนวน 32 แผน (3) แผนฯ ที่ยกเลิกการดำเนินการ/สิ้นสุดการดำเนินการ จำนวน 30 แผน และ (4) แผนฯ ที่ผ่านกระบวนการพิจารณา รอบเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2564 จำนวน 6 แผน เช่น 1) (ร่าง) แผนปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2570 2) แผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุแห่งชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2566-2580) และแผนปฏิบัติการด้านผู้สูงอายุ ระยะกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) และ 3) ร่างนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2566-2570
1.3 การประชุมคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2565 เพื่อติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยมีการรายงานความเชื่อมโยงระหว่าง 17 เป้าหมายหลักสู่แผนแม่บทย่อยภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ ดังนี้ (1) สถานะการบรรลุเป้าหมายที่ต่ำกว่าเป้าหมาย 10 เป้าหมาย (ร้อยละ 58.8 และ (2) เป้าหมายระดับเสี่ยง 7 เป้าหมาย (ร้อยละ 41.2) ในขณะที่ไม่มีเป้าหมายใดมีสถานะที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต นอกจากนี้ มีประเด็นความท้าทาย ได้แก่ การบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติ และความเชื่อมโยงของผลการดำเนินการกับเป้าหมายอื่นๆ ที่ส่งผลให้การขับเคลื่อน SDGS ไม่บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น (1) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (2) ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ และ (3) การเข้าถึงหลักประกันขั้นพื้นฐานและความคุ้มครองทางสังคมของกลุ่มเปราะบาง
2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้จัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศประจำปี 2564 (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560) และได้เผยแพร่รายงานดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 สถานะการบรรลุเป้าหมายความสำเร็จของผลอันพึงประสงค์หรือผลสัมฤทธิ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตามที่กำหนดไว้ภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ทั้ง 13 ด้าน เทียบกับค่าเป้าหมายปี 2564 ส่วนใหญ่มีสถานะการบรรลุเป้าหมายใกล้เคียงหรือบรรลุค่าเป้าหมายที่กำหนด จำนวนทั้งสิ้น 26 เป้าหมาย จาก 31 เป้าหมาย หรือคิดเป็นร้อยละ 84 ของเป้าหมายทั้งหมด โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศให้สามารถบรรลุเป้าหมายได้ภายในปี 2565
2.2 สรุปสถานะความคืบหน้าการดำเนินงานตามกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big RocK) จำนวน 62 กิจกรรม ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 มีการดำเนินการเป็นไปตามแผน จำนวน 53 กิจกรรม (ร้อยละ 85) และล่าช้ากว่าแผน จำนวน 9 กิจกรรม (ร้อยละ 15)
2.3 ประเด็นท้าทายที่ส่งผลต่อการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย ได้แก่ (1) สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้การดำเนินงานตามแผนการปฏิรูปประเทศเกิดความล่าช้าเนื่องจากหน่วยงานต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับมาตรการการป้องกันละควบคุมโรคติดต่อ (2) การเร่งรัดการดำเนินโครงการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายอันพึงประสงค์ ยังมีการดำเนินการโครงการที่ล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ในแผนขับเคลื่อนกิจกรรม Big Rock ส่งผลให้ไม่บรรลุค่าเป้าหมายตามระยะเวลาที่กำหนด (3) การผลักดันกฎหมายที่เอื้อต่อการพัฒนาประเทศ การปรับปรุงกฎหมายที่มีความล้าสมัยและเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศต้องใช้ระยะเวลาดำเนินการ ส่งผลให้เกิดความล่าช้า และ (4) การบูณาการทำงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานยังยึดติดกับภารกิจหน้าที่ของตนเอง ส่งผลให้การบูรณาการทำงานเป็นไปอย่างล่าช้า
2.4 การดำเนินการในระยะต่อไป หน่วยงานรับผิดชอบหลัก หน่วยงานร่วมดำเนินการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในการดำเนินงาน/โครงการที่ส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายอันพึงประสงค์ของการปฏิรูปประเทศ โดยต้องประสานและบูรณาการร่วมกันอย่างใกล้ชิด
3. การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้ร่วมประชุมชี้แจงการดำเนินการตามแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติตามหลัก PDCA โดยภาคีที่เกี่ยวข้องได้รับทราบและตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวแล้ว ประกอบกับได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 319/2564 เรื่อง การตรวจราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีการกำหนดประเด็นการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลในแผนการตรวจราชการโดยใช้สถานการณ์บรรลุเป้าหมายตามยุทธศาสตร์ชาติจากฐานข้อมูลระบบติดตามประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) และรายงานสรุปผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ทั้งนี้ สศช. จะร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องสร้างความเข้าใจให้กับหน่วยงานของรัฐดำเนินการตามหลักการ PDCA ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
4. การสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) สร้างการตระหนักรู้ผ่านสื่อวีดิทัศน์เกี่ยวกับสอนการใช้งานระบบ eMENSCR และการพัฒนาระบบโดยการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อนำมาวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยสื่อวีดิทัศน์ดังกล่าวจะทำให้หน่วยงานของรัฐเข้าใจกระบวนการใช้งานระบบ eMENSCR และสามารถนำข้อมูลมาติดตาม ประเมินผล และวิเคราะห์ในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งขณะนี้ สศช. อยู่ระหว่างจัดทำสื่อวีดิทัศน์การสอนใช้งานระบ eMENSCR ดังกล่าว
5. ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ จากการตรวจสอบข้อมูลจำนวนโครงการ/การดำเนินงานที่หน่วยงานของรัฐนำเข้าในระบบ eMENSCR กับรหัสงบประมาณและรหัสกิจกรรมหลักประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จากระบบบริหารการเงินการคลังภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ (GFMIS) ที่หน่วยงานควรจะนำเข้าระบบพบว่า หน่วยงานของรัฐได้นำเข้าข้อมูลโครงการ/การดำเนินงานตามระยะเวลาที่กำหนด จำนวน 15,408 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 13.08 ของโครงการ/กิจกรรมในระบบ GFMIS จากจำนวน 117,785 โครงการ/กิจกรรม ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลในระบบ eMENSCR ขาดความครบถ้วนสมบูรณ์และไม่เพียงพอที่จะนำไปใช้ในการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น จึงควรเร่งรัดให้หน่วยงานนำเข้าข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานในระบบ eMENSCR ตามรายการและกรอบระยะเวลาที่กำหนด เพื่อที่ สศช. จะใช้เป็นข้อมูลในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลสัมฤทธิ์ของยุทธศาสตร์ชาติและผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2612