การขอความเห็นชอบต่อร่างแผนงานขององค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา พ.ศ. 2564 – 2568 และกรอบผลลัพธ์การปฏิบัติงาน (SOMSWD Work Plan 2021 – 2025 and Its Results Framework)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 February 2022 12:43
- Hits: 6072
การขอความเห็นชอบต่อร่างแผนงานขององค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา พ.ศ. 2564 – 2568 และกรอบผลลัพธ์การปฏิบัติงาน (SOMSWD Work Plan 2021 – 2025 and Its Results Framework)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแผนงานขององค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา พ.ศ. 2564 - 2568 และกรอบผลลัพธ์การปฏิบัติงาน [Senior Officials Meeting on Social Welfare and Development (SOMSWD) Work Plan 2021 - 2025 and Its Results Framework] (ร่างแผนงานของ SOMSWD พ.ศ. 2564 – 2568 และกรอบผลลัพธ์การปฏิบัติงาน) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการได้ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก และหลังจากนั้นให้รายงานผลเพื่อคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (ASEAN Ministers in Charge of Social Welfare and Development : AMMSWD Ministers) ของประเทศไทย มีหนังสือแจ้งรับรองร่างแผนงานของ SOMSWD พ.ศ. 2564 - 2568 และกรอบผลลัพธ์การปฏิบัติงานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวในฐานะประธานการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (Chair of AMMSWD) ในโอกาสแรก ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้วตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
1. พม. ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานประสานงานหลัก (Focal Point) ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนของประเทศไทย โดยมีอำนาจหน้าที่ในการประสานการดำเนินงานตามแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 (ASCC Blueprint 2025) และเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักทั้งในระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสสำหรับการประชุมภายใต้ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งรวมถึงการจัดและการเข้าร่วมการประชุมที่เกี่ยวข้องกับองค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาทั้งในระดับรัฐมนตรีและระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส
2. องค์กรอาเซียนเฉพาะสาขาด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (SOMSWD) จะดำเนินการตามพันธกรณีของอาเซียนในการส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาสังคม เพื่อยกระดับมาตรฐานการดำรงชีพของกลุ่มผู้ด้อยโอกาสและแสวงหาการมีส่วนร่วมกับองค์กรทุกภาคส่วนในสังคม รวมทั้งสนับสนุนและรายงานต่อที่ประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (AMMSWD) โดยจะมีการจัดทำแผนงานระยะ 5 ปี เพื่อเป็นแผนงานหลักในการกำหนดทิศทาง ยุทธศาสตร์และนโยบายการดำเนินงานที่เหมาะสมในด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของภูมิภาค รวมถึงกรอบผลลัพธ์การปฏิบัติงาน ทั้งนี้ แผนงาน SOMSWD พ.ศ. 2559 - 2563 (SOMSWD Work plan 2016 - 2020 ) ได้สิ้นสุดลงแล้ว และประเทศสมาชิกอาเซียนโดยการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการอาเซียนอยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนงานของ SOMSWD พ.ศ. 2564 – 2568 และกรอบผลลัพธ์การปฏิบัติงาน ซึ่งจะเป็นแผนงานฉบับใหม่สำหรับการดำเนินงานในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า โดยร่างแผนงานดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
|
1. วิสัยทัศน์ |
การเป็นประชาคมอาเซียนที่ สตรี เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ และกลุ่มเปราะบางอื่นๆ มีส่วนร่วมและได้รับการส่งเสริมเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน และได้รับการยอมรับว่าเป็นสมาชิกที่เท่าเทียมและมีคุณค่าในสังคม |
|
2.เป้าหมายและวัตถุประสงค์ |
2.1 ส่งเสริมนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสวัสติการสังคมและการพัฒนาที่เสริมความเข้มแข็งและคุ้มครองกลุ่มคนเปราะบางและกลุ่มคนชายขอบ รวมถึงเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต่อวิกฤตการณ์ด้านสุขภาพ ด้านสังคม และด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ภัยพิบัติ และความท้าทายอื่นๆ ในด้านสิ่งแวดล้อม 2.2 ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบางอื่นๆ 2.3 ส่งเสริมขีดความสามารถของประเทศในการกำหนดและดำเนินการใช้ระบบการคุ้มครองทางสังคมที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดความเสี่ยงและภาวะเปราะบางของประชาชนในอาเซียน 2.4 ส่งเสริมการสร้างความเข้มแข็งของงานสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมผ่านการยกระดับขีดความสามารถและการส่งมอบบริการทางสังคมที่มีคุณภาพแน่นแฟ้น ตอบสนอง เชื่อมโยงกัน และมุ่งเน้นพหุวิทยาการ |
|
3. ผลผลิตและผลลัพธ์ที่คาดหวัง |
3.1 ผลผลิตที่สำคัญ เช่น 3.1.1 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับการส่งเสริมให้ทบทวนนโยบายระดับภูมิภาค ระดับชาติ มาตรการและแนวปฏิบัติต่างๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับเด็ก ทั้งที่มีอยู่เดิมและที่กำลังพัฒนาขึ้นใหม่ เพื่อมุ่งตอบสนองต่อกระแสสังคมและความท้าทายที่เกิดขึ้นใหม่อันจะส่งผลกระทบต่อเด็กในอาเซียน 3.1.2 ปรับปรุงศักยภาพในการให้บริการและการเข้าถึงบริการของคนพิการโดยคำนึงถึงมิติหญิงชายของประเทศสมาชิกอาเซียน 3.1.3 การพัฒนาองค์ความรู้ ความช่วยเหลือทางเทคนิคและการแบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดีในการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้สูงอายุและการส่งเสริมสังคมที่ครอบคลุมผู้สูงอายุให้ได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมในหมู่ประเทศสมาชิกอาเซียนและภาคีเครือข่ายในการทำงาน 3.1.4 กลไกสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการเข้าร่วมและการมีส่วนร่วมที่เพิ่มมากขึ้นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ รวมถึงได้รับการเสริมสร้างให้เข้มแข็งและถูกทำให้เป็นสถาบัน 3.2 ผลลัพธ์ที่สำคัญ เช่น 3.2.1 สิทธิของเด็กทุกคนในการมีชีวิต การคุ้มครอง การมีส่วนร่วมและการพัฒนาได้รับการสนับสนุนส่งเสริม และสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองจากความรุนแรง การเอารัด เอาเปรียบ และการล่วงละเมิดทุกรูปแบบ รวมถึงเด็กที่อยู่ในบริบทของการโยกย้ายถิ่นฐานได้รับการรับประกัน 3.2.2 คนพิการและหน่วยงานที่ดูแลคนพิการได้รับการสนับสนุนส่งเสริมโดยการเพิ่มการเข้าถึงและการเพิ่มการบริการที่ครอบคลุม เพื่อมุ่งสู่การบรรลุเป้าหมายการพึ่งพาตนเองการมีงานทำ และการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ 3.2.3 มีหลักประกันความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุ โดยการส่งเสริมยุทธศาสตร์สำหรับการบรรเทาความยากจน เสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางการเงินที่มุ่งเน้นไปที่ผู้สูงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีผู้สูงอายุ 3.2.4 การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ และความรับผิดชอบต่อสังคมได้รับการส่งเสริมและพัฒนายิ่งขึ้น |
|
4. การดำเนินการเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ |
4.1 กลไกระดับภูมิภาคในการดำเนินการตามแผนงาน เช่น 4.1.1 การประชุมเจ้าหน้าที่อวุโสบวกสามด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (SOMSWD Plus Three) เป็นการประชุมประจำปีกับกลุ่มประเทศอาเซียนบวกสาม ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยนนโยบายและแนวปฏิบัติที่ดีด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา 4.1.2 การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนบวกสามด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (AMMSWD Plus Three) เป็นการประชุมที่มีขึ้นทุก 2 ปี กับรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประเทศญี่ปุ่น และสาธารณรัฐเกาหลี โดยเป็นเวทีในการหารือเกี่ยวกับประเด็นยุทธศาสตร์และกำกับทิศทางความร่วมมือในการพัฒนา 4.1.3 การประชุมร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (GO - NGO Forum โดยเชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากหลายภาคส่วนมาไว้ด้วยกัน เช่น รัฐบาล องค์กรภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์เกี่ยวกับนโยบายและการพัฒนาโครงการและการนำไปปฏิบัติรวมไปถึงแนวทางปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับสวัสดิการสังคมและการพัฒนา 4.1.4 รางวัลด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาดีเด่นแห่งอาเซียน (ASEAN Outstanding Social Welfare and Development Awards : AOSWADA) โดยจะจัดให้มีพิธีมอบรางวัลขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความยอมรับและตระหนักถึงบทบาท ความสำเร็จที่โดดเด่น และการมีส่วนร่วมขององค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาคประชาสังคม (NGOs/CSOs) และภาคเอกชนในประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา และสนับสนุนให้ NGOs/CSOs และภาคเอกชน ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง 4.2 กลไกการมีส่วนร่วมและความร่วมมือด้านอื่นๆ เช่น 4.2.1 คณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children : ACWC) และคณะกรรมการอาเซียนด้านสตรี (ASEAN Committee on Women : ACW เพื่อผลักดันประเด็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรี และสิทธิเด็กผ่านการจัดทำเป็นแผนงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมความก้าวหน้าเรื่องสิทธิและการคุ้มครองเด็กจากการค้ามนุษย์ การโยกย้ายถิ่นฐาน การแสวงหาผลประโยชน์ในสื่อออนไลน์ และการเอารัดเอาเปรียบการคุ้มครองทางสังคม และการฟื้นคืนจากโรคระบาดใหญ่การรับประกันการบูรณาการมิติหญิงชายเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเสมอภาคทางเพศและการสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรีในอาเซียนและการจัดการกับปัญหาความรุนแรงต่อเด็กและสตรี 4.2.2 เครื่อข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านผู้ประกอบการอาเซียน (Network of Experts on Inclusive Entrepreneurship in ASEAN : NIEA เพื่อเป็นกลไกในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างครอบคลุม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนพิการและกลุ่มเปราะบางอื่นๆ ในสังคมและสนับสนุนการเติบโตของผู้ประกอบการทางสังคมในอาเซียน 4.3 โครงสร้างขององค์กรและบทบาท ประกอบด้วย 4.3.1 บทบาทของผู้แทน SOMSWD เช่น เป็นผู้ขับเคลื่อนหลักของโครงการต่างๆ และผลลัพธ์ตามแผนงาน รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานระดับประเทศ ส่งเสริมโครงการระดมเงินทุน และติดต่อผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางสำหรับโครงการที่ได้ริเริ่มขึ้น 4.3.2 บทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียน เช่น ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคสนับสนุนผู้ประสานงาน SOMSWD ของประเทศสมาชิก และ SOMSWD ในภาพรวม สำรวจและจัดหาแหล่งเงินทุนที่มีศักยภาพจากประเทศคู่เจรจาของอาเซียนและหน่วยงานพันธมิตรอื่นๆ |
|
5. การติดตามและประเมินผล |
5.1 ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ เช่น 5.1.1 จำนวนนโยบายที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับเด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุของทุกประเทศสมาชิกอาเซียน 5.1.2 จำนวนเวทีการเจรจา หรือการประชุมสัมมนาที่จัดขึ้นระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน ภาคีเครือข่าย องค์กรภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 5.1.3 จำนวนข้อมูลและสถิติที่ได้รับการจัดเก็บหรือแบ่งปันกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเกี่ยวกับนโยบายและโครงการเพื่อผู้สูงอายุต่างๆ 5.1.4 ข้อเสนอแนะที่ได้รวบรวมมาจากเวทีการประชุมระดับภูมิภาคเหล่านี้ถูกนำไปดำเนินการ 5.2 แนวทางปฏิบัติ เช่น 5.2.1 ประสานงานอย่างใกล้ชิดกับคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ACWC) และองค์กรเฉพาะสาขาอื่นๆ ของอาเซียนหรือหน่วยงานในภาคส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 5.2.2 จัดการประชุม ASEAN GO - NGO Forum ประจำปีด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนากับการประชุม SOMSWD อย่างต่อเนื่อง ในฐานะที่เป็นเวทีสำคัญเพื่อการแบ่งปันข้อมูลและการเจรจาระหว่างรัฐบาลและองค์กรพัฒนาเอกชน 5.2.3 ให้องค์กรภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรระดับภูมิภาคของกลุ่มเป้าหมายผู้เปราะบางต่างๆ ในอาเซียน ได้มีส่วนร่วมในการติดตามและประเมินผลแผนงานของ SOMSWD พ.ศ. 2564 - 2568 โดยผ่านเวทีและยุทธศาสตร์เชิงที่ปรึกษา 5.3 การรายงานความก้าวหน้าในการบรรลุผลลัพธ์ เช่น 5.3.1 รายงานต่อการประชุมประจำปีของ SOMSWD เพื่อพิจารณาการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อแก้ไขช่องว่างและเร่งดำเนินการตามแผน 5.3.2 จัดทำรายงานสิ้นสุดแผนงานกี่ยวกับการดำเนินการตามแผนงานของ SOMSWD พ.ศ. 2564 - 2568 โดยสำนักเลขาธิการอาเซียน เพื่อนำส่งให้ SOMSWD และ AMMSWD 5.4 การประเมินผลกระทบและประสิทธิผลของโครงการ/กิจกรรมที่ดำเนินการตามแผนงานจากกลุ่มผลสัมฤทธิ์หลัก (KRAs) และมาตรการเชิงยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 และจากผลผลิตและผลลัพธ์เชิงยุทธศาสตร์ต่างๆ รวมถึงผลผลิตและผลลัพธ์ที่คาดหวังของแผนงานของ SOMSWD พ.ศ. 2564 - 2568 |
3. ร่างแผนงานของ SOMSWD พ.ศ. 2564 - 2568 และกรอบผลลัพธ์การปฏิบัติงานได้รับความเห็นชอบโดยการแจ้งเวียน (Ad - referendum Endorsement) จากเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนาของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะ AMMSWD Minister ของประเทศไทยจะต้องรับรองร่างแผนงานดังกล่าวร่วมกับAMMSWD Ministers ของประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยการแจ้งเวียน เพื่อให้ร่างแผนงานของ SOMSWD พ.ศ. 2564 – 2568 และกรอบผลลัพธ์การปฏิบัติงานมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2609