ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการขนส่งเอสแคป ครั้งที่ 4
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 February 2022 12:20
- Hits: 6444
ผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการขนส่งเอสแคป ครั้งที่ 4
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการขนส่งเอสแคป1 ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 14 - 17 ธันวาคม 2564 ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพมหานคร ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมการประชุม เพื่อหารือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศสมาชิกเอสแคปในการพัฒนาโครงการด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และเพื่อประเมินความคืบหน้าในการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคสำหรับการเชื่อมโยงด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระยะที่ 1 (ค.ศ. 2017 - 2021) (แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 1) รวมถึงพิจารณาและรับรองร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีด้านการพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ ร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคสำหรับการพัฒนาด้านการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (ค.ศ. 2022-2026) (ร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 2) [คณะรัฐมนตรีมีมติ (7 ธันวาคม 2564) เห็นชอบร่างปฏิญญาและ ร่างแผนปฏิบัติการทั้ง 2 ฉบับแล้ว] ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การประชุมเจ้าหน้าที่ระดับสูง (14 -15 ธันวาคม 2564)
1.1 ไทยได้กล่าวถึงการดำเนินนโยบายที่สำคัญภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งของประเทศไทยระยะยาว ประกอบด้วย 3 แนวคิดหลัก ได้แก่ (1) การขนส่งที่มีประสิทธิภาพ (2) การขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (3) การขนส่งที่ปลอดภัยและครอบคลุมเพื่อมุ่งสู่ระบบการขนส่งที่ยั่งยืน ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 2 และได้นำเสนอนโยบายที่สำคัญ เช่น การสร้างสะพานเชื่อมระหว่างอ่าวไทยและมหาสมุทรอันดามัน การขนส่งเพื่อตั้งเป้าสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนการใช้พลังงานทางเลือก แผนการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และการมุ่งสู่การพัฒนาด้านความปลอดภัยทางถนน นอกจากนี้ เลขาธิการบริหารเอสแคปได้ กล่าวชื่นชมการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) รวมถึงการดำเนินมาตรการเปิดประเทศเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ
1.2 การประเมินผลการดำเนินการตามปฏิญญาระดับรัฐมนตรีด้านการเชื่อมโยงด้านการขนส่งที่ยั่งยืนและแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 1 ฝ่ายเลขานุการเอสแคปได้นำเสนอข้อสรุปและข้อแนะนำที่ได้จากการจัดทำรายงานการประเมินผลของแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 1 เพื่อเป็นแนวทางสำหรับการจัดทำ ร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 2 โดยไทยได้แสดงความเห็นว่า ร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 2 ควรมีความยืดหยุ่นและควรมีการจัดกิจกรรมเสริมสร้างสมรรถนะที่มีความต่อเนื่องในรูปแบบกายภาพและออนไลน์ นอกจากนี้ ไทยเห็นด้วยกับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ และภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 2 เพื่อให้การดำเนินการ มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
1.3 การมุ่งสู่โครงข่ายการขนส่งและโลจิสติกส์และการสัญจรที่มีประสิทธิภาพและทนทาน ฝ่ายเลขานุการเอสแคปได้นำเสนอการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่โครงข่ายการขนส่งและโลจิสติกส์ การสัญจรที่มีประสิทธิภาพและทนทาน และข้อมูลสถานการณ์ด้านการขนส่งระดับภูมิภาคในปัจจุบัน โดยไทยได้นำเสนอการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 1 เช่น การสร้างการเชื่อมต่อกับราชอาณาจักรกัมพูชาและการพัฒนาการเชื่อมต่อทางรางในระดับภูมิภาค รวมทั้งได้เสนอให้เอสแคปพิจารณาความตกลงในกรอบอาเซียนด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบเพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนากรอบงานกฎหมายด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก
นอกจากนี้ ไทยได้พัฒนาระบบ Port Community System เพื่อให้เกิดระบบคลังข้อมูล โลจิสติกส์และศูนย์การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างท่าเรือและระบบปฏิบัติการท่าเรือ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายในการสนับสนุนระบบอัตโนมัติและการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลในท่าเรือหลักของประเทศ ซึ่งไทยยินดีรับความช่วยเหลือจากเอสแคปในด้านการสนับสนุนการพัฒนาสู่ระบบดิจิทัลด้านการขนส่งทางทะเลและท่าเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ไทยได้เสนอให้เอสแคปพิจารณาให้ข้อเสนอแนะในประเด็นด้านผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลต่อระบบโลจิสติกส์ทางทะเล เช่น การขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ ค่าขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น
1.4 การมุ่งสู่ระบบและบริการด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ฝ่ายเลขานุการเอสแคปได้นำเสนอเกี่ยวกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในภาคการขนส่ง ความต้องการในการเร่งรัดการดำเนินการเพื่อลดอัตราการปล่อยคาร์บอนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก รวมถึงการลดอัตราการปล่อยคาร์บอนของห่วงโซ่อุปทานระดับภูมิภาคและการสัญจรคาร์บอนต่ำ โดยมีการหารือใน 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) การสัญจรและระบบโลจิสติกส์คาร์บอนต่ำ และ (2) การขนส่งภายในเมือง ซึ่งรวมถึงการสัญจรด้วยระบบดิจิทัล ทั้งนี้ ไทยมีความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการดำเนินการตามความตกลงระหว่างประเทศ เพื่อแก้ไขด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้จัดทำแผนปฏิบัติการการตั้งเป้าหมายในการมีส่วนร่วมของประเทศในภาคการขนส่งและกำหนดเป้าหมายในการลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 31 ล้านตัน ภายในปี ค.ศ. 2030 รวมถึงการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าด้วย
1.5 การมุ่งสู่การขนส่งและการสัญจรที่ปลอดภัยและครอบคลุม ฝ่ายเลขานุการเอสแคปได้นำเสนอความท้าทายด้านการพัฒนาความปลอดภัยทางถนน และการแก้ไขปัญหาเชิงสังคมในภาคการขนส่ง ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีอัตราการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก และอันดับ 1 ของอาเซียน โดยอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์มีอัตราสูงที่สุดโดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน อย่างไรก็ตาม ไทยได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทางถนนและดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ขับขี่ เช่น การสร้างความตระหนักรู้เพื่อพัฒนาพฤติกรรมผู้ขับขี่โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง การออกแบบโครงสร้างพื้นฐานทางถนนที่มีความปลอดภัย และการส่งเสริมการใช้รถโดยสารสาธารณะ
1.6 การสนับสนุนการดำเนินการตามร่างปฏิญญาระดับรัฐมนตรีฉบับถัดไปและร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 2 ซึ่งมีวัตถุประสงค์ ดังนี้ (1) การขนส่งที่มีประสิทธิภาพและยืดหยุ่น (2) ระบบและบริการด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ (3) การขนส่งและสัญจรที่ปลอดภัย โดยจะดำเนินการภายใต้ 7 ประเด็นสำคัญด้านการขนส่ง ได้แก่ (1) การเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางบกและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาค (2) การเชื่อมโยงด้านการขนส่งทางทะเลและระหว่างภูมิภาค (3) ระบบดิจิทัลด้านการขนส่ง (4) การสัญจรและโลจิสติกส์แบบคาร์บอนต่ำ (5) การขนส่งภายในเมือง (6) ความปลอดภัยทางถนน และ (7) การขนส่งและการสัญจรที่ครอบคลุม
2. การประชุมระดับรัฐมนตรี (16-17 ธันวาคม 2564)
2.1 ไทยได้นำเสนอนโยบายที่สำคัญ เช่น การพัฒนาระบบรถไฟรางคู่และระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล การให้ความสำคัญกับระบบดิจิทัลด้านการขนส่งผ่านการพัฒนาระบบการเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ (National Single Window: NSW) การพัฒนาระบบการจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น รวมถึงการผลักดันอุตสาหกรรมการให้บริการยานพาหนะผ่านทางแอปพลิเคชัน และได้นำเสนอนโยบายและแผนงานด้านการขนส่งที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยการจัดทำแผนปฏิบัติการการตั้งเป้าหมายการมีส่วนร่วมของประเทศภาคการขนส่ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมุ่งสู่การพัฒนาด้านความปลอดภัยทางถนนผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่ การออกกฎกระทรวงกำหนดความเร็วของยานพาหนะบน ทางหลวงแผ่นดินหรือทางหลวงชนบท และการพัฒนาโครงการติดตั้งแผ่นยางพาราครอบแบริเออร์
2.2 การหารือกับเลขาธิการบริหารเอสแคป ไทยได้นำเสนอนโยบายด้านการขนส่งที่สำคัญซึ่งสอดคล้องกับร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 2 โดยเฉพาะในด้านการสร้างความเชื่อมโยงการขนส่ง ความปลอดภัยทางถนน และการขนส่งคาร์บอนต่ำ รวมถึงแสดงความมุ่งมั่นในการสร้างความร่วมมือกับเอสแคปในอนาคตเพื่อมุ่งสู่การพัฒนาระบบการขนส่งที่ยั่งยืนของไทยต่อไป
2.3 การประชุมโต๊ะกลมระดับรัฐมนตรี ภายใต้หัวข้อ “การเร่งรัดการดำเนินการเชิงปฏิรูปด้านการขนส่งเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” ไทยได้กล่าวเกี่ยวกับการดำเนินนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนนที่ครอบคลุมทั้ง 3 มิติ ได้แก่ มิติผู้ขับขี่ มิติรถยนต์ และมิติสภาพแวดล้อมและถนน โดยมีการดำเนินนโยบายและมาตรการที่หลากหลายเพื่อแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนน รวมทั้งการกำหนดให้ปัญหาดังกล่าวเป็นวาระแห่งชาติ
2.4 การกล่าวถ้อยแถลงในนามประเทศเกี่ยวกับการดำเนินการเพื่อมุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืนและมีความสอดคล้องกับร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาค ระยะที่ 2 ได้แก่ ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบขนส่งของไทยระยะยาวสำหรับการพัฒนาด้านการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปลอดภัย การส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาความเชื่อมโยงระดับภูมิภาค การพัฒนาการขนส่งภายในเมืองผ่านแผนการพัฒนาระบบการขนส่งมวลชนสาธารณะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภายในปี 2573 การพัฒนาด้านความปลอดภัยทางถนน และการออกแบบโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับความต้องการของประชาชน
2.5 การรับรองร่างปฏิญญาฯ และร่างแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคสำหรับการพัฒนาฯ เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของรัฐมนตรีด้านคมนาคมขนส่งของประเทศสมาชิกเอสแคปในการมุ่งสู่การพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกสำหรับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี ค.ศ. 2030 ผ่านการดำเนินโครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวกับการพัฒนาการขนส่งที่ยั่งยืน
3. คค. เห็นว่าไทยได้มีส่วนร่วมและบทบาทในการประชุมฯ อย่างต่อเนื่อง และได้เสนอนโยบายและแผนงานที่สำคัญในด้านต่างๆ ที่มุ่งสู่การขนส่งที่ยั่งยืน ซึ่งการประชุมครั้งนี้เป็นเวทีที่สำคัญของประเทศสมาชิกเอสแคปในการแลกเปลี่ยนมุมมองเชิงนโยบาย แนวปฏิบัติที่ดี และการดำเนินการที่เกี่ยวข้องเพื่อนำไปสู่ความร่วมมือด้านการขนส่งและการสร้างความเชื่อมโยงระดับภูมิภาคตามบริบทของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
_______________________________
คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและเปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific: ESCAP) เป็น 1 ใน 5 คณะกรรมการส่วนภูมิภาคของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2605