ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 11
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 23 February 2022 10:41
- Hits: 7305
ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 11
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ ผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคี (Joint Commission on Bilateral Cooperation:JC) ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 11 และให้กระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย
สาระสำคัญ
กต. รายงานว่า การประชุม JC ไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 11 ได้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 - 18 ธันวาคม 2564 ณ กรุงพนมเปญ ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) โดยมีรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) และรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งกัมพูชา (นายปรัก สุคน) เป็นประธานร่วมกัน โดยการประชุมครั้งนี้จัดภายใต้แนวคิด “ฟื้นฟูไปด้วยกันสู่สันติภาพและความเจริญรุ่งเรือง” และจัดขึ้นในบริบทของการฉลองโอกาสครบรอบ 70 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับกัมพูชาเมื่อปี 2563 สรุปได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมฯ มีการส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1. การฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมโดยเร็วจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 |
1.1 การอำนวยความสะดวกในการเดินทางข้ามแดนระหว่างกัน เช่น การใช้ระบบดิจิทัลในการตรวจสอบเอกสารรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน การจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อหารือความเป็นไปได้ในการเปิดให้มีการท่องเที่ยวระหว่างกันโดยมีมาตรการควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะในพื้นที่ชายแดนของทั้งสองประเทศ และการเพิ่มเที่ยวบินระหว่างกัน 1.2 การนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อตอบสนองความต้องการแรงงานของไทยและเพิ่มโอกาสการมีงานทำให้แก่แรงงานกัมพูชา และการให้แรงงานกัมพูชาที่ต้องการหางานทำในไทยดำเนินการผ่านช่องทางที่ถูกต้อง 1.3 การกำหนดกรอบเวลาและการทำงานร่วมกันเพื่อบรรลุเป้าหมายการค้า 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2568 1.4 การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนในแต่ละประเทศ รวมถึงเสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้ออำนวยยิ่งขึ้นต่อการลงทุน โดยไทยหยิบยกข้อเสนอแนะของนักลงทุนไทยในกัมพูชา เช่น การปรับกฎหมายภาษีให้ชัดเจนและปฏิบัติตามได้ง่ายขึ้น และการใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากความตกลงยกเว้นภาษีซ้อน 1.5 การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจสีเขียวโดยเฉพาะการปรับใช้ตัวแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่อย่างเต็มที่ในการส่งเสริมการเติบโตในอนาคตและการบรรลุการพัฒนาสีเขียวและการพัฒนาที่ยั่งยืน 1.6 การส่งเสริมความเชื่อมโยงระหว่างทั้งสองประเทศ โดยหารือกันเพื่อเตรียมการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชาที่เชื่อมโยงจังหวัดสระแก้วกับจังหวัดบันเตียนเมียนเจย ซึ่งมีกำหนดเปิดทำการในปี 2566 และการเปิดบริการการเดินรถไฟข้ามแดนระหว่างสองจังหวัดเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย รวมทั้งการสนับสนุนโครงการพัฒนาถนนเส้นทางต่างๆ 1.7 การกระชับความร่วมมือด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และความพร้อมในการรับมือกับโรคอุบัติใหม่ในอนาคต โดยไทยได้ส่งมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์มูลค่ารวมประมาณ 150,000 ดอลลาร์สหรัฐ ให้แก่กัมพูชา |
|
2. การรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณชายแดน และการส่งเสริมมิตรภาพอันใกล้ชิดระหว่างประชาชนไทยและกัมพูชา |
2.1 การป้องกันและปราบปรามปัญหาการลักลอบข้ามแดนผิดกฏหมายการค้ามนุษย์ และการช่วยเหลือและส่งกลับคนไทยที่ถูกชักชวนไปทำงานหลอกลวงทางโทรศัพท์หรือกรณี call center การค้ายาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติประเภทอื่นๆ และการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา 2.2 การเปิดศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดและฝึกอาชีพแห่งชาติในจังหวัดพระสีหนุ โดยไทยได้สนับสนุนทางการเงินในการก่อสร้างศูนย์ดังกล่าว จำนวน 38 ล้านบาท (1.15 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) 2.3 การส่งเสริมความเข้าใจอันดีและมิตรภาพในระดับประชาชน ซึ่งรวมถึงความร่วมมือในด้านกีฬาและการแลกเปลี่ยนระหว่างเยาวชน |
|
3. ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดในประเด็นอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงและอาเซียน |
3.1 ไทยแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของกัมพูชาในการเป็นประธานการประชุมผู้นำเอเชีย-ยุโรป (Asia-Europe Meeting: ASEM) ครั้งที่ 13 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 3.2 การส่งเสริมความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงผ่านกลไกความร่วมมือต่างๆ โดยเฉพาะยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) และคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) 3.3 ไทยสนับสนุนการเป็นประธานอาเซียนของกัมพูชาในปี 2565 และแสดงความเป็นแกนกลางของอาเซียน โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดเพื่อสนับสนุนอาเซียนในการรับมือกับความท้าทายต่างๆ ในภูมิภาค ซึ่งรวมถึงประเด็นเมียนมาบนพื้นฐานของความเป็นสมาชิกครอบครัวอาเซียนด้วยกัน |
นอกจากนี้ ในการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส มีการหยิบยกประเด็นที่สำคัญ เช่น ผู้แทนกระทรวงพลังงานของกัมพูชากล่าวว่า การเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันจะต้องทำควบคู่กันไปทั้งเรื่องการเจรจาเขตแดนและการพัฒนาร่วมด้านพลังงาน และไทยได้ขอให้กัมพูชาอำนวยความสะดวกแก่ปฏิบัติการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาที่ยังเหลืออยู่ประมาณ 40 ตารางกิโลเมตร
2. ที่ประชุมฯ ได้เห็นชอบร่างบันทึกการประชุมฯ โดยสาระสำคัญของเอกสารไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้แล้ว โดยมีการเพิ่มประเด็นเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างหน่วยงานตำรวจ ความร่วมมือด้านศุลกากร ความร่วมมือด้านตลาดทุนและความร่วมมือภายใต้กรอบคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง
3. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประชุมฯ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่างๆ เช่น
ประเด็น |
การดำเนินการที่สำคัญ เช่น |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
||
1. ด้านการเมืองและความมั่นคง |
- จัดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมของทั้งสองประเทศ - หารือเพื่อยกระดับ/เปิดจุดผ่านแดนเพิ่มเติม ก่อสร้างอาคารสำนักงานศุลกากร ถนน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา - ส่งเสริมการใช้บัตรผ่านแดน - ยกระดับการลาดตระเวนชายแดนเพื่อป้องกันและปราบปรามการลักลอบข้ามแดนผิดกฎหมาย - หารือการส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของทั้งสองประเทศ - จัดการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนและการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาในปี 2565 - ร่วมมือในการอำนวยความสะดวกสำหรับปฏิบัติการการเก็บกู้ทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรมในพื้นที่ชายแดน - จัดการประชุมทางวิชาการว่าด้วยการจัดการพื้นที่คุ้มครองข้ามพรมแดนภายใต้บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการพื้นที่คุ้มครองและพื้นที่อนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพข้ามพรมแดนระหว่างกรมการบริหารการอนุรักษ์และการปกป้องธรรมชาติ - ช่วยเหลือและสนับสนุนในการพัฒนาขีดความสามารถในการเตือนภัยหมอกควันข้ามแดน - สานต่อความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในการป้องกันและปราบปรามการผลิต การค้า และการใช้ยาเสพติดในภูมิภาค |
กต. กระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการคลัง (กค.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) กระทรวงคมนาคม (คค.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด |
||
2. ด้านเศรษฐกิจ |
- อำนวยความสะดวกการค้าข้ามแดน ณ ด่านศุลกากรต่างๆ รวมทั้งการต่อต้านการลักลอบขนสินค้าผิดกฎหมาย และการอำนวยความสะดวกการขนส่งสินค้าผ่านแดน - จัดการประชุมทวิภาคีหรือการประชุมผ่านระบบทางไกล เพื่อเร่งดำเนินการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการขนส่งสินค้าผ่านแดนระหว่างกัน - ส่งเสริมความร่วมมือเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาและความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายเพื่อส่งเสริมตลาดทุนในทั้งสองประเทศ - ส่งเสริมการค้าทวิภาคีและการลงทุน และคงเป้าหมายการค้าทวิภาคี - จัดการประชุมคณะกรรมการร่วมการค้าชายแดนกัมพูชา-ไทย - ส่งเสริมการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจของสองประเทศ - ส่งเสริมการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน - นำเข้าแรงงานกัมพูชามาทำงานในภาคเกษตร - เร่งรัดการเจรจาความตกลงเกี่ยวกับการจัดการการบำรุงรักษา และการใช้งานสะพานมิตรภาพไทย-กัมพูชา - จัดการประชุมคณะทำงานร่วมสามฝ่ายว่าด้วยการเดินเรือตามแนวชายฝั่ง ระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม ครั้งที่ 5 - ติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและการพัฒนาลานกองตู้คอนเทนเนอร์เพื่อเตรียมการสำหรับการเปิดให้บริการรถไฟข้ามแดน - อำนวยความสะดวกให้มีเที่ยวบินตรงระหว่างทั้งสองประเทศมากขึ้น - ส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตราดของไทยกับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดเกาะกงและบันเตียนเมียนเจย - พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและผลิตภัณฑ์ด้านการท่องเที่ยวสำหรับการฟื้นฟูและการเสริมสร้างความยืดหยุ่นให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว - เร่งรัดการใช้การชำระเงินระหว่างประเทศ (Interoperable QR code) อย่างเต็มรูปแบบ - หารือเกี่ยวกับพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกัน - เร่งรัดให้มีการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้าขนาด 230/500 kV จากสถานีไฟฟ้าแรงสูงวัฒนานครในประเทศไทยไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงพระตะบองในประเทศกัมพูชา ระยะทางประมาณ 160 กิโลเมตร - ร่วมกันในการแบ่งปันความรู้และการพัฒนาขีดความสามารถในการปรับใช้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ในสาขาต่างๆ เช่น พลังงานสะอาด การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืน |
กค. กต. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) กษ. คค. กระทรวงพลังงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) |
||
3. ด้านสังคม วัฒนธรรม และอื่นๆ |
- สานต่อการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการแก่ฝ่ายกัมพูชาในสาขาการศึกษา - เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือในการต่อต้านการลักลอบขนโบราณวัตถุ - ส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นในด้านกีฬา - เสริมสร้างความร่วมมือทวิภาคีในด้านสารสนเทศ - ส่งเสริมความร่วมมือที่ใกล้ชิดในการบังคับใช้กฎหมายอาญา - จัดทำแผนความร่วมมือในสาขาสาธารณสุขระยะที่สอง (พ.ศ. 2565 - 2567) - เสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ความร่วมมือในการต่อต้านการค้ามนุษย์ และจัดทำแผนปฏิบัติการระยะที่ 2 - ส่งเสริมความร่วมมือในกรอบคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในลุ่มแม่น้ำโขง - สนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของอาเซียนในสถานการณ์ในเมียนมาโดยผ่านการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อ* |
กต. กก. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อว. กระทรวงยุติธรรม กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงศึกษาธิการ สธ. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ สำนักงานอัยการสูงสุด ตช. และกรมประชาสัมพันธ์ |
_________________________
* ฉันทามติ 5 ข้อ ได้แก่ (1) ทุกฝ่ายหยุดความรุนแรง (2) ทุกฝ่ายเจรจาอย่างสันติ (3) ให้มีทูตพิเศษเพื่อให้เกิดกระบวนการเจรจา (4) อาเซียนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม และ (5) ทูตพิเศษเข้าไปในเมียนมาเพื่อพูดคุยกับทุกฝ่าย
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 22 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2602