ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 February 2022 21:25
- Hits: 9920
ร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากร ทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของกระทรวงกลาโหม และกระทรวงพลังงานไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้ ทส. รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
ทั้งนี้ ร่างประกาศที่ ทส. เสนอ เป็นการกำหนดเขตพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต เพื่อเป็นการสงวน คุ้มครอง อนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน อันเพื่อประโยชน์หรือสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ เช่น บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่แผ่นดินทั้งหมดและชายหาด ห้ามเททิ้งขยะ ห้ามทำการก่อสร้าง บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่แนวปะการังธรรมชาติ ห้ามเททิ้งขยะ ทิ้งสมอเรือ ห้ามจอดเรือ บริเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ทะเลถัดจากบริเวณแนวปะการังธรรมชาติ ห้ามเททิ้งขยะ ห้ามจอดเรือ เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติได้เห็นชอบด้วยแล้ว และ ทส. ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างประกาศฉบับนี้ในส่วนของพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับกฎหมายอื่นและ การใช้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว
สาระสำคัญของร่างประกาศ
เป็นการกำหนดเขตพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่เกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ตเป็นเขตพื้นที่ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อเป็นการสงวน คุ้มครอง อนุรักษ์ และจัดระบบการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืน รวมทั้งการสร้างความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ ทางทะเลและชายฝั่ง ดังนี้
1. กำหนดนิยามคำว่า “แนวชายฝั่งทะเล” “ชายหาด” “บริเวณแนวปะการัง” “กิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ” “ผู้ประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ” และ “อธิบดี”
2. กำหนดให้บริเวณหมู่เกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และพื้นที่ทะเลรอบเกาะดังกล่าวภายในแนวเขตตามแผนที่แนบท้ายประกาศหมายเลข 1/3 หมายเลข 2/3 และหมายเลข 3/3 เป็นพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
3. กำหนดให้บริเวณหมู่เกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และพื้นที่ทะเลรอบเกาะดังกล่าวให้จำแนกพื้นที่ออกเป็น 3 บริเวณ ดังต่อไปนี้
(1) บริเวณที่ 1 ได้แก่ พื้นที่บนแผ่นดินนับจากแนวชายฝั่งทะเลเข้าไปในแผ่นดินทั้งหมด รวมถึงชายหาดของเกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย
(2) บริเวณที่ 2 ได้แก่ พื้นที่ตั้งแต่แนวชายฝั่งทะเลลงมาจนถึงแนวปะการังธรรมชาติและบริเวณต่อเนื่อง
(3) บริวเวณที่ 3 ได้แก่ พื้นที่ทะเลถัดจากบริเวณที่ 2 ออกไปภายในบริเวณเส้นตรง ที่เชื่อมต่อจุดพิกัดดังนี้
(ก) จุดที่ 1 ละติจูด 7º 38’ 38.1012” เหนือลองจิจูด 98º 16’ 28.834” ตะวันออก
(ข) จุดที่ 2 ละติจูด 7º 38’ 38.8464” เหนือลองจิจูด 98º 24’ 38.408” ตะวันออก
(ค) จุดที่ 3 ละติจูด 7º 25’ 04.0476” เหนือลองจิจูด 98º 16’ 38.187” ตะวันออก
(ง) จุดที่ 4 ละติจูด 7º 25’ 04.7712” เหนือลองจิจูด 98º 24’ 39.506” ตะวันออก
4. กำหนดให้ภายในพื้นที่บริเวณหมู่เกาะราชาใหญ่ และเกาะราชาน้อย ตำบลราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และพื้นที่ทะเลรอบเกาะดังกล่าวห้ามกระทำการดังต่อไปนี้
4.1 ภายในบริเวณที่ 1 ถึง บริเวณที่ 3 ห้ามทิ้งขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย มลสาร หรือวัตถุอันตรายอื่นใด ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมของชายหาด แนวปะการัง ซากปะการัง กัลปังหา หรือสัตว์น้ำในแนวปะการัง
4.2 ภายในบริเวณที่ 1 ห้ามการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่บนชายหาด เช่น การก่อสร้าง การใช้ประโยชน์ เว้นแต่การดำเนินการของหน่วยงานราชการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ทั้งนี้ ต้องแจ้งให้อธิบดีทราบล่วงหน้าก่อนเริ่มดำเนินการไม่น้อยกว่า 30 วัน และห้ามการก่อให้เกิดตะกอนลงสู่แนวปะการังอันส่ง ผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อปะการัง
4.3 ภายในบริเวณที่ 2 ห้ามทิ้งสมอ การท่องเที่ยวดำน้ำด้วยการเดิน หรือลอยตัวอยู่ใต้ทะเลโดยใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่บนผิวน้ำ หรือใช้เครื่องยนต์ช่วยในการเคลื่อนที่ใต้น้ำ (สกู๊ตเตอร์ใต้น้ำ) เจ็ทสกี เรือลากร่ม เรือลากกล้วยที่มีผลกระทบกับบริเวณแนวปะการัง เว้นแต่ในบริเวณที่อธิบดีประกาศกำหนด ห้ามการจับ เก็บ ขัง ล่อปลา ให้อาหารปลา หรือครอบครองสัตว์น้ำเพื่อให้นักท่องเที่ยวดู ห้ามทำประมงทุกชนิด เว้นแต่การทำประมงที่อธิบดีประกาศกำหนด ห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างใดๆ เว้นแต่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
5. กำหนดให้การนำเรือเข้าออกและการจอดเรือในบริเวณที่ 2 และบริเวณที่ 3 จะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และวิธีการดังนี้ (1) การจอดเรือเทียบทุ่น หรือสะพานท่าเทียบเรือ หรือบริเวณโป๊ะจอดเรือจะต้องจอด เพื่อรับส่งผู้โดยสารห้ามจอดถาวร จอดในจุดหรือบริเวณที่กำหนด และต้องไม่ทำให้เกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดความชำรุด แก่ ทุ่น ท่าเทียบเรือ หรือโป๊ะจอดเรือ (2) การนำเรือเข้าออกต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเป็นอันตรายต่อแนวปะการัง ซากปะการัง กัลปังหา และสัตว์น้ำในแนวปะการัง และเป็นไปตามเส้นทางการนำเรือเข้าออกที่อธิบดีประกาศกำหนด ตลอดจนเรือท่องเที่ยวที่จะเข้าไปในบริเวณดังกล่าวต้องจดแจ้งการขอเข้าไปในพื้นที่กับเจ้าหน้าที่หน่วยงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งหรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากอธิบดี และผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมเรือ นายท้ายเรือ หรือกัปตันเรือท่องเที่ยวจะต้องมีใบรับรองผ่านการฝึกอบรมการควบคุมเรือท่องเที่ยวของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง
6. กำหนดให้การประกอบกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำในบริเวณแนวปะการังต้องปฏิบัติตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรณีมีความจำเป็นต้องกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวหรือจำนวนเรือท่องเที่ยวที่เข้าไปใช้จุดดำน้ำแต่ละแห่งสามารถดำเนินการได้โดยเป็นอำนาจของอธิบดี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวดำน้ำหรือกิจกรรมเรือนำเที่ยวที่ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขและดำเนินการอยู่ก่อนประกาศนี้มีผลบังคับใช้จะต้องขออนุญาตหรือจดแจ้งกับหน่วยงานของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้
7. กำหนดให้เพื่อการศึกษาและวิจัยทางวิชาการ เพื่อการดำเนินการหรือกิจกรรมใดเพื่อประโยชน์ทางวิชาการซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชาโดยแจ้งให้อธิบดีทราบล่วงหน้าก่อนเริ่มดำเนินการไม่น้อยกว่า 30 วันพร้อมยื่นแบบแผนดำเนินการหรือโครงการศึกษาและวิจัยทางวิชาการประกอบด้วย
8. กำหนดให้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งดำเนินการ (1) กำหนดพื้นที่บริเวณที่ 2 ให้จัดทำเครื่องหมายแสดงขอบเขตพื้นที่ให้ชัดเจนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ (2) กำหนดพื้นที่ดำเนินกิจกรรมท่องเที่ยวดำน้ำ กำหนดพื้นที่จอดเรือ กำหนดพื้นที่เข้าออกของเรือ หรือพื้นที่อื่นใด กำหนดรูปแบบทุ่นจอดเรือ ทุ่นแสดงแนวเขตให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ และ (3) จัดทำแผนการบริหารจัดการ กำกับ ติดตามผลการดำเนินงานตามมาตรการจัดทำรายงานและข้อเสนอแนะในการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่เสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจังหวัดภูเก็ต และคณะกรรมการนโยบายและแผนบริหารจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งแห่งชาติปีละ 1 ครั้ง
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2430