รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนธันวาคม ทั้งปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 February 2022 17:52
- Hits: 8147
รายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนธันวาคม ทั้งปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนธันวาคม ทั้งปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
1. สรุปสถานการณ์การส่งออกของไทย เดือนธันวาคม 2564
การส่งออกของไทยในเดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 24,930.3 ล้านเหรียญสหรัฐ (810,712 ล้านบาท) ขยายตัวร้อยละ 24.2 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 23.0 การส่งออกของไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 โดยได้รับอานิสงส์จากการเร่งนำเข้าในหลายประเทศเพื่อสต็อกสินค้าให้ทันช่วงเทศกาลปีใหม่ สถานการณ์อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ปรับตัวดีขึ้น และการดำเนินการตามแผนส่งเสริมการส่งออกเชิงรุกของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ การส่งออกทั้งปี 2564 มีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 271,173.5 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 17.1 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตสูงที่สุดในรอบ 11 ปี เมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 19.8
มูลค่าการค้ารวม
มูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ เดือนธันวาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 24,930.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 24.2 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 25,284.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 33.4 ดุลการค้าขาดดุล 354.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวมทั้งปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 271,173.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 17.1 การนำเข้า มีมูลค่า 267,600.3 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 29.8 ดุลการค้า ปี 2564 เกินดุล 3,573.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนธันวาคม 2564 การส่งออก มีมูลค่า 810,711.8 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 34.5 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 833,237.4 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 44.4 ดุลการค้าขาดดุล 22,525.6 ล้านบาท ภาพรวมทั้งปี 2564 การส่งออก มีมูลค่า 8,542,102.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 18.9 การนำเข้า มีมูลค่า 8,549,082.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 32.0 ดุลการค้าปี 2564 ขาดดุล 6,979.6 ล้านบาท
การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 22.4 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 13 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 22.7 (ขยายตัวในตลาดจีน มาเลเซีย สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ขยายตัวร้อยละ 48.1 (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น ไต้หวัน อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และเวียดนาม) ข้าว ขยายตัวร้อยละ 24.9 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง อังโกลา เซเนกัล และโกตดิวัวร์) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 23.7 (ขยายตัวในตลาดจีน สหรัฐฯ มาเลเซีย เมียนมา และฟิลิปปินส์) น้ำตาลทราย ขยายตัวร้อยละ 123.9 (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย กัมพูชา เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน) ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 17.6 (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร จีน เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และสิงค์โปร์) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 35.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น มาเลเซีย ออสเตรเลีย และอินเดีย) ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 18.5 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 25.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน เนเธอร์แลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 169.6 (ขยายตัวในตลาดมาเลเซีย อินเดีย เมียนมา เวียดนาม และจีน) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ เครื่องดื่ม หดตัวร้อยละ 1.4 (หดตัวในตลาดกัมพูชา เมียนมา ลาว และจีน) สุกรสด แช่เย็น แช่แข็ง หดตัวร้อยละ 79.3 (หดตัวในตลาดฮ่องกง ลาว และกัมพูชา) ทั้งปี 2564 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 15.7
การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 24.0 (YoY) ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน สินค้าที่ขยายตัวดี ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 45.0 (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ จีน สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์) สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ขยายตัวร้อยละ 34.0 (ขยายตัวในตลาดจีน เวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และอินเดีย) เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 28.6 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง จีน เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น) แผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 11.5 (ขยายตัวในตลาดสิงคโปร์ จีน ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย) เหล็ก เหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 28.4 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย อินเดีย และไต้หวัน) อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัวร้อยละ 29.3 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ฮ่องกง อินเดีย เยอรมนี และสหราชอาณาจักร) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัวร้อยละ 25.8 (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย อินโดนีเซีย ไต้หวัน สิงคโปร์) สินค้าที่หดตัว ได้แก่ ถุงมือยาง หดตัวร้อยละ 46.7 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และเบลเยียม) เครื่องซักผ้า เครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ หดตัวร้อยละ 8.5 (หดตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน) ปูนซีเมนต์ หดตัวร้อยละ 15.4 (หดตัวในตลาดเมียนมา และกัมพูชา) ทั้งปี 2564 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 16.0
ตลาดส่งออกสำคัญ
การส่งออกขยายตัวในทุกตลาดสำคัญ สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก ภาพรวมการส่งออกไปยังกลุ่มตลาดต่างๆ สรุป ดังนี้ 1) ตลาดหลัก ขยายตัวร้อยละ 20.8 โดยขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ร้อยละ 36.5 จีน ร้อยละ 14.0 ญี่ปุ่น ขยายตัวร้อยละ 1.0 อาเซียน (5) ร้อยละ 35.0 CLMV ร้อยละ 11.4 และ สหภาพยุโรป (27) ร้อยละ 19.3 2) ตลาดรอง ขยายตัวร้อยละ 32.5 ขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ ร้อยละ 22.9 ทวีปออสเตรเลีย ร้อยละ 54.4 ตะวันออกกลาง ร้อยละ 29.5 ทวีปแอฟริกา ร้อยละ 34.1 ลาตินอเมริกา ร้อยละ 36.5 และรัสเซียและกลุ่มประเทศ CIS ร้อยละ 45.8 และ 3) ตลาดอื่นๆ ขยายตัวร้อยละ 32.1
2. แนวโน้มและแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2565
การส่งออกปี 2565 คาดการณ์ว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.0 – 4.0 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก (1) การขยายตัวของเศรษฐกิจและการนำเข้าของประเทศคู่ค้า (2) เงินบาทช่วงครึ่งปีแรก มีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่อง จากแนวโน้มการใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ลดลง (3) ราคาสินค้าอาหาร และวัตถุดิบที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวตามอุปสงค์ที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง (4) จำนวน ตู้คอนเทนเนอร์ และเรือขนส่งจะเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปี 2565 (5) ความรุนแรงของไวรัสโควิด-19 ลดน้อยลง และจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) (6) ความตกลง RCEP ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 65 และ (7) การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดสินค้าไปยังต่างประเทศได้ง่ายและกว้างขวางขึ้น
สำหรับแผนส่งเสริมการส่งออกในปี 2565 กระทรวงพาณิชย์จะดำเนินกิจกรรมส่งเสริมการส่งออกอย่างต่อเนื่องจากปีก่อน ได้แก่ (1) เร่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการส่งออก และส่งเสริมแนวทางการส่งออกสินค้าผ่านรูปแบบผสมผสานระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ (2) การจัดเจรจาการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ (OBM) และร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ส่งเสริมการขายสินค้าไทย (3) ประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์ประเทศไทย (Trust Thailand) รวมถึงแบรนด์สินค้าไทย ผ่านตรา Thailand Trust Mark (T Mark) (4) เจาะตลาดเมืองรอง โดยมีเป้าหมายขยายมูลค่าการค้าการลงทุน และเข้าถึงผู้บริโภคในพื้นที่เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดสินค้าไทย และ (5) เร่งรัดการเจรจา FTA ที่คงค้าง อาทิ ไทย-ปากีสถาน ไทย-ตุรกี ไทย-ศรีลังกา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2423