ผลการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับ นางเอลิซาเบท ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 February 2022 17:02
- Hits: 7062
ผลการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกับ นางเอลิซาเบท ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักรในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการหารือระหว่างรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอน ปรมัตถ์วินัย) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร (นางเอลิซาเบท ทรัสส์) และมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องติดตามและเร่งรัดดำเนินการตามผลการหารือฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไปตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหราชอาณาจักร (นางเอลิซาเบทฯ) ได้เยือนประเทศไทยในฐานะแขกของ กต. เมื่อวันที่ 8 – 10 พฤศจิกายน 2564 เพื่อกระชับความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น โดยในระหว่างการเยือนประเทศไทย นางเอลิซาเบทฯ ได้เข้าเยี่ยมคารวะและพบหารือกับบุคคลสำคัญต่างๆ ได้แก่ นายกรัฐมนตรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งรวมถึงรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (นายดอนฯ) ด้วย โดยทั้งสองฝ่ายได้หารือกันเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 มีผลการหารือฯ สรุปได้ ดังนี้
ผลการหารือฯ
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
1) ความร่วมมือทวิภาคี |
1.1 ด้านการแลกเปลี่ยนการเยือน ให้มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงระหว่างกัน โดยสหราชอาณาจักรได้เชิญไทยเข้าร่วมการหารือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 4 (Strategic Dialogue: SD4) ณ สหราชอาณาจักรในช่วงครึ่ง ปีแรกของปี 2565 1.2 ด้านการเมืองและความมั่นคง ให้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศในโอกาสแรก และเห็นควรกระชับความร่วมมือ ด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ 1.3 ด้านเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน สหราชอาณาจักรพร้อมเข้าร่วม การประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (Joint Economic and Trade Committee: JETCO) ไทย-สหราชอาณาจักร ครั้งที่ 1 ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นอกจากนี้ ไทยได้เชิญชวน สหราชอาณาจักรขยายการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) 1.4 ด้านการอำนวยความสะดวกในการเดินทางระหว่างกัน สหราชอาณาจักรได้ปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศและให้การรับรองวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ทุกชนิดที่องค์การอนามัยโลกให้การรับรอง ซึ่งรวมถึงวัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์ม โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายน 2564 และไทยได้ย้ำกับ สหราชอาณาจักรเรื่องการจัดทำความตกลงยกเว้นการตรวจลงตราสำหรับผู้ถือหนังสือเดินทางทูตระหว่างกัน |
2) ประเด็นพหุภาคี |
2.1 การเข้าร่วมเป็นภาคีความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership: CPTPP) โดยสหราชอาณาจักรได้สอบถามถึงโอกาสที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP ภายในปี 2564 ซึ่งไทยแจ้งว่า อยู่ระหว่างการพิจารณาศึกษาในรายละเอียด 2.2 กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review: UPR) ภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council: HRC) ไทยได้เสนอรายงาน UPR รอบที่ 3 ซึ่งได้แสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน ทั้งนี้สหราชอาณาจักรได้ แจ้งว่า รัฐบาล สหราชอาณาจักรได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเช่นกัน 2.3 สถานการณ์ในเมียนมา สหราชอาณาจักรประสงค์ให้เมียนมายึดมั่นตามกฎกติกาสากล หลักมนุษยธรรม และให้ความร่วมมือกับนานาชาติ และขอให้อาเซียนหารือกับเมียนมาเพื่อหาทางออกที่สันติ 2.4 บทบาทของจีน สหราชอาณาจักรได้แสดงความกังวลต่อท่าทีจีนในประเด็นไต้หวัน โดยเกรงว่าจะเกิดการคาดการณ์สถานการณ์ที่ผิดพลาด ซึ่งไทยเห็นว่า ส่วนใหญ่เป็นการโต้ตอบกันทางวาทกรรมและทั้งสองฝ่ายทราบดีว่าจะไม่เกิดประโยชน์ ใดๆ หากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดใช้กำลังก่อน 2.5 บทบาทของอินเดีย ยินเดียเป็นแหล่งผลิตที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานเช่นเดียวกับจีน แต่ได้รับผลกระทบจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนและเสียดุลการค้ากับจีนมาก ดังนั้น อินเดียควรมีบทบาทที่แข็งขันเพิ่มขึ้นในภูมิภาค 2.6 การจัดตั้งหุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคงระหว่างออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร์ และสหรัฐอเมริกา (AUKUS) สหราชอาณาจักรเน้นย้ำว่าแก่นของความร่วมมือ AUKUS คือ การส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีระหว่างมิตรประเทศ และมองว่า AUKUS เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายความตกลงด้านความมั่นคงที่สหราชอาณาจักรมีกับมิตรประเทศทั่วโลก โดยสหราชอาณาจักรประสงค์ขยายความร่วมมือด้านความมั่นคงกับไทยและอาเซียน โดยเฉพาะด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ การส่งสริมเสรีภาพในการเดินเรือ และความมั่นคงทางทะเล ซึ่งไทยได้เชิญชวนให้สหราชอาณาจักรร่วมมีบทบาทที่สร้างสรรค์ในกรอบการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา |
3) กิจกรรมอื่นๆ |
นางเอลิซาเบทฯ ได้เข้าร่วมสัมมนา Roundtable: Clean and Green Initiative-Financing Infrastructure for Recovery and Growth in Thailand กับผู้แทน EEC ธนาคารชั้นนำ และผู้บริหารภาคเอกชน รวมทั้งได้เป็นประธานในพิธีเปิดสถานเอกอัครราชทูตสหราชอาณาจักรประจำประเทศไทยแห่งใหม่เยี่ยมชมโรงงาน Triumph Motorcycles (Thailand) ที่นิคมอุตสาหกรรมอมตะนคร จังหวัดชลบุรี และมอบรางวัลให้แก่นางสาวบุษยาภา ศรีสมพงษ์ สตรีไทยคนแรกที่ได้รับรางวัล Women of the Future Awards Southeast Asia ในสาขา Professions |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2416