ร่างหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) สำหรับข้อริเริ่มความต้องการใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy Demand Initiative: CEDI) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและภาคเอกชนของประเทศสหรัฐอเมริกา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 16 February 2022 16:41
- Hits: 5619
ร่างหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) สำหรับข้อริเริ่มความต้องการใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy Demand Initiative: CEDI) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและภาคเอกชนของประเทศสหรัฐอเมริกา
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent: LOI) สำหรับข้อริเริ่มความต้องการใช้พลังงานสะอาด (Clean Energy Demand Initiative: CEDI) ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและภาคเอกชนของประเทศสหรัฐอเมริกา และอนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (หรือผู้แทนที่ได้รับ มอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน) เป็นผู้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ดังกล่าว ทั้งนี้หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงหนังสือแสดงเจตจำนงฯ ดังกล่าวในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญ หรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทยและไม่ขัดกับหลักการที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบไว้ ให้กระทรวงพลังงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบภายหลัง โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. การดำเนินความร่วมมือภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงนี้ เป็นการแสดงความมุ่งมั่นร่วมกันของประเทศไทยและประเทศสหรัฐฯ ในการส่งเสริมการลงทุนสำหรับธุรกิจที่สนใจและมีศักยภาพในการจัดหาและใช้พลังงานสะอาดโดยฝ่ายสหรัฐฯ จะชักชวนนักลงทุนมาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และฝ่ายไทยจะอำนวยความสะดวกสำหรับการดำเนินธุรกิจของสหรัฐฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ฝ่ายสหรัฐฯ โดย Bureau of Energy Resources (ENR) ได้เสนอให้มีการลงนามใน LOI ว่าด้วยข้อริเริ่ม CEDI ระหว่างรัฐบาลไทยและภาคเอกชนของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นข้อตกลงในลักษณะที่ไม่ผูกมัด (Non-Binding Agreement) โดยความร่วมมือภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการลงทุนจากภาคเอกชนสหรัฐฯ ที่ประกาศจะแสวงหาพลังงานสะอาดในประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานของธุรกิจ โดยประเทศไทยจะดำเนินการอำนวยความสะดวกสนับสนุนการจัดหาพลังานสะอาดให้กับธุรกิจดังกล่าวภายใต้เงื่อนไขและข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาทางเลือกอื่นๆ ที่มีความเหมาะสม เพื่อผลักดันให้เกิดการลงทุนจากนักลงทุนสหรัฐฯ ในประเทศไทยต่อไป
2. ขอบเขตของความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างประเทศไทยและสหรัฐฯ ภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงฯ เป็นการแสดงความประสงค์ของบริษัทเอกชนสหรัฐฯ ที่จะมาลงทุนดำเนินธุรกิจด้านต่างๆ รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและโครงการพลังงานสะอาดในไทย และภาครัฐของไทยจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกและสนับสนุนในการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับการดำเนินธุรกิจเหล่านั้น โดยเงินลงทุนที่บริษัทสหรัฐฯ แสดงความประสงค์จะนำมาลงทุนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 229.5 – 2,384 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ใน LOI มีการระบุหลักการเกี่ยวกับการจัดหาพลังงานสะอาด (Procurement Principle) ที่ฝ่ายไทยควรพิจารณาดำเนินการต่อไปในอนาคตเพื่ออำนวยความสะดวกให้เกิดการลงทุนจากสหรัฐฯ ในประเทศไทย ประกอบด้วย (1) การผลักดันให้เกิดตลาดพลังงานสะอาดที่มีศักยภาพและสามารถแข่งขันด้านราคาได้ (2) การกำหนดนโยบายด้านพลังงานสะอาดให้มีความเหมาะสม (3) การส่งเสริมระบบการรับรองสถานะด้านสิ่งแวดล้อมมาปรับใช้ในการซื้อขายพลังงานสะอาด (4) การสนับสนุนการพัฒนานโยบายและโครงสร้างพื้นฐานของด้านไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพและสามารถรองรับ การผลิตและการใช้พลังงานสะอาด ทั้งนี้การดำเนินการภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว จะเป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ และข้อบังคับของภาครัฐของไทยที่เกี่ยวข้อง เป็นประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทย
3. ภาคเอกชนของประเทศสหรัฐฯ ได้แจ้งความประสงค์เบื้องต้นที่จะร่วมลงนามใน LOI จำนวน 19 บริษัท ได้แก่ 1) HP Inc. 2) Apple 3) Akamai 4) Meta Platforms, Inc. 5) Johnson & Johnson 6) Nike 7) Dow Inc. 8) Iron Mountain 9) Inter IKEA Group 10) Lululemon 11) Spiber Inc. 12) Ralph Lauren Corporation 13) Unilever 14) TAL Apparel 15) Amer Sports 16) RIFE International 17) Amazon 18) WeWork 19) TCI CO., LTD ทั้งนี้ ในขั้นตอนต่อไป จะมีการประชุมหารือร่วมกับบริษัทภาคเอกชนที่ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงฯ เพื่อกำหนดแนวทาง แผนงาน โครงการและดำเนินความร่วมมือในการลงทุนในประเทศไทยที่มีความชัดเจนและเป็นรูปธรรมต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 15 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2413