การขอโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L10/43 และ L11/43
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 February 2022 15:01
- Hits: 7923
การขอโอนสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L10/43 และ L11/43
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอให้บริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด (บจก. สยามโมเอโกะ) โอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะซึ่งถืออยู่ทั้งหมดตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L10/43 และ L11/43 ให้แก่บริษัท ยูเอซี ยูทิลิตีส์ จำกัด (บจก. ยูเอซี ยูทิลิตีส์) โดยอาศัยความตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการปิโตรเลียมและต้องได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามมาตรา 22 (7) แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ พน. จะออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
การโอนสิทธิ ประโยชน์ และพันธะซึ่งถืออยู่ทั้งหมดตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 ของบริษัท สยามโมเอโกะ จำกัด (ผู้โอน) เป็นการดำเนินการเปลี่ยนแปลงผู้รับสัมปทานและผู้ดำเนินงานในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L10/43 หรือพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมอรุโณทัย และแปลงสำรวจบนบกหมายเลข L11/43 หรือพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมบูรพา (พื้นที่จังหวัดสุโขทัยและพิษณุโลก) ซึ่งเป็นแหล่งที่ค้นพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์และมีการดำเนินการผลิตปิโตรเลียมตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2556 (สิ้นสุดระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมในวันที่ 21 มกราคม 2576) เนื่องจากผู้โอนประกอบธุรกิจด้านน้ำมันดิบ ส่งผลให้ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติและของเหลวอื่นๆ ซึ่งเป็นสัดส่วนหลักของพื้นที่ผลิตปิโตรเลียมดังกล่าว ดังนั้น การผลิตปิโตรเลียมตามแนวทางและมาตรฐานของผู้โอนจึงใช้เงินลงทุนในการดำเนินการสูง เมื่อเปรียบเทียบกับรายได้ที่คาดว่าจะได้รับ ทั้งนี้ บริษัท ยูเอซี ยูทิลิตีส์ จำกัด (บจก. ยูเอซี ยูทิลิตีส์) (ผู้รับโอน) ได้แสดงความสนใจและตอบรับที่จะรับโอนสัมปทานปิโตรเลียม เพื่อแสวงหาโอกาสในการพัฒนาปริมาณสำรองปิโตรเลียมที่ค้นพบแล้วให้เป็นประโยชน์แก่ประเทศต่อไป โดยผู้รับโอนมีผู้ถือหุ้นจำนวน 2 บริษัท ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนจัดตั้งตามกฎหมายไทยและดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม ดังนี้
ผู้ถือหุ้น |
ธุรกิจที่เกี่ยวข้อง |
บริษัท ยูเอซี โกลบอล จำกัด (มหาชน) สัดส่วนการถือหุ้นใน บจก. ยูเอซี ยูทิลิตีส์ ร้อยละ 70 |
- ธุรกิจพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก - กิจการโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ได้แก่ โรงไฟฟ้าเสาเถียร - เอ และโรงไฟฟ้าประดู่เฒ่า - เอ - โรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม (PPP) ในเขตพื้นที่อำเภอกงไกรลาศ จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ได้จากการผลิตน้ำมันดิบแหล่งบูรพา (แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L10/43) รวมทั้งมีการติดตั้งท่อก๊าซธรรมชาติเพื่อรับก๊าซธรรมชาติที่ได้จากการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มเติมจากแหล่งปิโตรเลียมเสาเถียร - เอ (แปลงสำรวจบนบกหมายเลข S1) |
บริษัท พีทีอี พลัส จำกัด สัดส่วนการถือหุ้นใน บจก. ยูเอซี ยูทิลิตีส์ ร้อยละ 30 |
ธุรกิจด้านการสำรวจและให้บริการในอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ โดยมีเครื่องจักร เครื่องมือ อุปกรณ์ และผู้เชี่ยวชาญในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รวมทั้งมีประสบการณ์ เช่น บริการติดตั้งและซ่อมบำรุงเครื่องสูบหลุมน้ำมัน บริการหลุมเจาะติดตั้งและเปลี่ยนระบบการผลิตบริการหลุมผลิตแบบรถบรรทุกเคลื่อนที่ บริการแปลและวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินศักยภาพของแหล่งผลิต เป็นต้น |
ทั้งนี้ คณะกรรมการปิโตรเลียมและกระทรวงพลังงานได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้รับโอนมีคุณสมบัติในการเป็นผู้รับสัมปทานตามมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และมีความพร้อมทางด้านเทคนิค ทางด้านการเงินในการปฏิบัติตามข้อกำหนดและเงื่อนไขในสัมปทาน และหากได้รับทราบผลการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีแล้ว บจก. ยูเอซี ยูทิลิตีส์ จะเข้าดำเนินการพัฒนาแหล่งที่ค้นพบปิโตรเลียมและผลิตปิโตรเลียมได้ต่อไป ดังนั้นเรื่องนี้จึงเป็นการดำเนินการตามมาตรา 50 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่ง พน. จะดำเนินการออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2547/67 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2235