รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 09 February 2022 11:11
- Hits: 7904
รายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอรายงานภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2564 (เดือนตุลาคม – ธันวาคม 2564) ของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) [เป็นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี] (5 พฤษภาคม 2563) ที่ให้ กนง. ประเมินภาวะเศรษฐกิจและแนวโน้มของประเทศและรายงานต่อคณะรัฐมนตรีเป็นรายไตรมาส] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2564
กนง. มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน และ 22 ธันวาคม 2564 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาสที่ 3 ปี 2564 และมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ควรติดตามการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายพันธุ์โอไมครอนอย่างใกล้ชิด เนื่องจากเป็นความเสี่ยงที่สำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไป ทั้งนี้ กนง. เห็นว่าควรคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้เนื่องจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ และได้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่เพิ่มขึ้นชั่วคราวจากปัจจัยด้านอุปทานจะคลี่คลายภายในปี 2565 โดยโอกาสที่แรงกดดันเงินเฟ้อของไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมีไม่มากเนื่องจากข้อจำกัดด้านการส่งผ่านต้นทุนของผู้ประกอบการและตลาดแรงงานที่ยังเปราะบาง แต่ยังต้องติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้ออย่างใกล้ชิด
2. การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจการเงินเพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงิน
2.1 เศรษฐกิจโลก โดยเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ามีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องแต่ชะลอลงตามลำดับ โดยปี 2564 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า ในไตรมาสที่ 3 และปัญหาข้อจำกัดด้านอุปทานที่ยืดเยื้อ ส่วนปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงตามการระบาดในช่วงต้นปี รวมถึงการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน และในปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวตามการคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดและปัญหาห่วงโซ่อุปทาน นอกจากนี้ ธนาคารกลางหลายแห่งเริ่มดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย โดยธนาคารกลางกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลักมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ธนาคารกลางส่วนใหญ่ในเอเชียมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัว และธนาคารกลางในกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หลายแห่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
2.2 ภาวะการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยภาวะการเงินไทยโดยรวมยังผ่อนคลาย ภาคธุรกิจสามารถระดมทุนได้อย่างต่อเนื่องแต่ความเสี่ยงด้านเครดิตยังเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium-sized Enterprises: SMEs) ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐและดัชนีค่าเงินบาทอ่อนค่าลงจากไตรมาสก่อน โดยเงินบาทอ่อนค่าเร็วในช่วงเดือนธันวาคม 2564 จาก 2 ปัจจัย คือ (1) การแพร่ระบาดของโควิด – 19 สายพันธุ์โอไมครอน และ (2) การลดการผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักเร็วกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งส่งผลให้ความเชื่อมั่นปรับตัวลดลงและมีการเคลื่อนย้ายเงินทุนออกจากสินทรัพย์เสี่ยง อย่างไรก็ตาม ยังคงมีเงินทุนเคลื่อนย้ายเข้าในตราสารหนี้ของไทย นอกจากนี้ เสถียรภาพระบบการเงินยังเปราะบาง โดยเฉพาะฐานะทางการเงินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดหลายระลอกซึ่งอาจชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป จึงต้องติดตามและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงระยะปานกลางที่อาจเกิดขึ้นภายใต้ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังยืดเยื้อและอาจรุนแรงขึ้น
2.3 แนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของไทย
2.3.1 เศรษฐกิจไทยปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.9*เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการเดิม ส่วนปี 2565 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.4 โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ การส่งออกสินค้า และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ และปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวขึ้นที่ร้อยละ 4.7 จากการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก
2.3.2 มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 18* สูงกว่าที่คาดการณ์ โดยเป็นผลจากปริมาณขยายตัวดีและราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกและต้นทุนการขนส่งสินค้า ส่วนปี 2565 มีแนวโน้มขยายตัวที่ร้อยละ 3.5 ต่ำกว่าประมาณการเดิมเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนและปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอตัวลงจากปี 2565 สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลก
2.3.3 ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2564 กลับมาฟื้นตัวจากที่คาดการณ์ไว้เดิม 1.5 แสนคน เป็น 2.8 แสนคน เนื่องจากนโยบายการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว ส่วนปี 2565 คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะขยายตัวต่ำกว่าประมาณการเดิมจาก 6 ล้านคน เป็น 5.6 ล้านคน เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอน และปี 2566 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 20 ล้านคน
2.3.4 การบริโภคภาคเอกชนปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.4* โดยในไตรมาสที่ 4 มีการฟื้นตัวต่อเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เริ่มคลี่คลาย การกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมาย และมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ส่วนปี 2565 และ 2566 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.6 และ 3.8 ตามลำดับ ด้านการลงทุนภาคเอกชนปี 2564 และ 2565 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4 และ 5.4 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้เนื่องจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่มีแนวโน้มล่าช้า ประกอบกับอุปสงค์ในประเทศและความเชื่อมั่นภาคธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิด-19 สายพันธุ์โอไมครอนและปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5 ตามการขยายตัวของอุปสงค์ในประเทศและการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
2.3.5 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเป้าหมายตลอดช่วงประมาณการ โดยปี 2564 และ 2565 ปรับเพิ่มขึ้นที่ร้อยละ 1.2 และ 1.7 ตามลำดับเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานมีแนวโน้มสูงขึ้นชั่วคราวตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและปี 2566 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ที่ร้อยละ 1.4
__________________________
*จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 กค. แจ้งว่า ยังไม่มีสถานะข้อมูลล่าสุดของไตรมาส 4 ปี 2564 เนื่องจากต้องรอการแถลงรายงานภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสดังกล่าวของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติก่อน
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2231