ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 February 2022 23:30
- Hits: 8578
ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเสนอ ความก้าวหน้าของยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ ณ เดือนธันวาคม 2564 สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
1. ความก้าวหน้ายุทธศาสตร์ชาติและการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
1.1 การจัดทำรายงานสรุปผลการดำเนินการประจำปีตามยุทธศาสตร์ชาติ และตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2564 อยู่ระหว่างจัดทำรายงานประจำปีตามหมวด 3 ของพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 และพระราชบัญญัติแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ พ.ศ. 2560 โดยมีข้อมูลความก้าวหน้าผลการดำเนินการ ปัญหาอุปสรรค ข้อเสนอแนะต่อเป้าหมายและตัวชี้วัด และแนวทางการพัฒนาตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ สศช. ได้รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลจากการดำเนินการขับเคลื่อนแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ในปี 2564 โดยมีสถานะการบรรลุเป้าหมายของแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 140 เป้าหมาย ดังนี้ (1) เป้าหมายที่บรรลุค่าเป้าหมาย จำนวน 39 เป้าหมาย (ร้อยละ 28) ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา (2) เป้าหมายที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมาย จำนวน 43 เป้าหมาย (ร้อยละ 31) ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา (3) เป้าหมายที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายระดับเสี่ยง จำนวน 35 เป้าหมาย (ร้อยละ 25) ปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมา (4) เป้าหมายที่ต่ำกว่าค่าเป้าหมายขั้นวิกฤต จำนวน 23 เป้าหมาย (ร้อยละ 16) มีจำนวนคงที่จากปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ สศช. จะเสนอผลการดำเนินงานดังกล่าวต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะรัฐมนตรี และรัฐสภาต่อไป
1.2 ความก้าวหน้าการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจน และการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ในเดือนธันวาคม 2564 สศช. ได้ลงพื้นที่เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร และจังหวัดสงขลา เพื่อติดตามการดำเนินการของ ศจพ. ทุกระดับ และมีการทดลองเก็บข้อมูลในพื้นที่ด้วยแบบสอบถามฉบับปรับปรุง และในเดือนมกราคม 2565 มีกำหนดลงพื้นที่เขตบางกอกน้อย และเขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เป็นครั้งที่ 2 เพื่อเป็นข้อมูลตัวชี้วัดที่สะท้อนบริบทของเขตเมืองและทุกอำเภอในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อนำคำถามที่ปรับปรุงไปใช้และทดลองเก็บข้อมูลในพื้นที่เพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของประชากรทั้งจังหวัดและมีจำนวนเพียงพอในการคำนวณหาหลักเกณฑ์กลางของดัชนีความยากจนหลายมิติ ทั้งนี้ สศช. จะเสนอข้อมูลความก้าวหน้าการดำเนินการเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนและการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนต่อคณะกรรมการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติต่อไป
2. ความก้าวหน้าแผนการปฏิรูปประเทศ
2.1 การรายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศตามมาตรา 270 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ครั้งที่ 13 (เดือนกรกฎาคม-กันยายน 2564) สศช. ได้จัดทำรายงานความคืบหน้าฯ ประกอบด้วยสาระสำคัญ 3 ส่วน ได้แก่
2.1.1 ส่วนที่ 1 รายงานความคืบหน้าของกิจกรรมปฏิรูปประเทศที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ (Big Rock) จำนวนทั้งสิ้น 62 กิจกรรม มีสถานะความคืบหน้า ดังนี้ (1) การดำเนินการเป็นไปตามแผน จำนวน 53 กิจกรรม และ (2) การดำเนินการล่าช้ากว่าแผน จำนวน 9 กิจกรรม เช่น การสร้างความสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ การเพิ่มและพัฒนาพื้นที่ป่าไม้ให้ได้ตามเป้าหมายและการพัฒนามาตรการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายในการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ ทั้งนี้ สศช. จะประสานและบูรณาการร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ หน่วยงานรับผิดชอบหลักและหน่วยงานร่วมดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมที่มีความล่าช้ากว่าแผนให้เป็นไปตามเป้าหมายและระยะเวลาที่กำหนดไว้
2.1.2 ส่วนที่ 2 ความคืบหน้ากฎหมายภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) จำนวนทั้งสิ้น 45 ฉบับ ดังนี้ (1) ดำเนินการแล้วเสร็จ จำนวน 2 ฉบับ และ (2) อยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 43 ฉบับ ซึ่ง สศช. จะประสานหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อเร่งรัดการดำเนินการและเสนอตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
2.1.3 ส่วนที่ 3 ความคืบหน้าของประเด็นที่รัฐสภาให้ความสนใจเป็นพิเศษ ได้เสนอรายงานสรุปความคืบหน้าของประเด็นที่รัฐสภาให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อรัฐสภาตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (18 มกราคม 2565) รับทราบแล้ว
2.2 การติดตาม การตรวจสอบ และการประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้พัฒนาระบบติดตามและประเมินผลแห่งชาติ (eMENSCR) เพื่อรองรับการดำเนินงาน ดังนี้ (1) การติดตามและนำเข้าข้อเสนอโครงการพัฒนาที่สำคัญภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) โดยปัจจุบันมีการนำเข้าข้อมูลโครงการในระบบ eMENSCR แล้วทั้งสิ้น 32 โครงการ ซึ่งเป็นโครงการที่ได้รับอนุมัติข้อมูลแล้วเพียง 2 โครงการ (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2565) (2) การติดตามเกี่ยวกับการประเมินผลการใช้จ่ายงบประมาณและผลสัมฤทธิ์จากการใช้จ่ายงบประมาณ โดยทุกหน่วยงานของรัฐจะต้องนำเข้าข้อมูล เช่น โครงการ/การดำเนินการข้อมูลแผนระดับที่ 3 รายงานผลสัมฤทธิ์ของโครงการ/การดำเนินงาน แผนปฏิบัติราชการรายปีและแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี ซึ่งจะช่วยให้สามารถวิเคราะห์และประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐได้อย่างตรงจุด รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ และ (3) การติดตามและประเมินผลโครงการ/การดำเนินงานที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainable Development Goals: SDGs) จำนวน 17 เป้าหมาย และ 169 เป้าหมายย่อย เพื่อให้ระบบ eMENSCR เป็นเครื่องมือหลักในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการจัดทำ/พัฒนาโครงการตามลำดับความสำคัญ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายรวมทั้งสามารถติดตามและประเมินผลการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ทั้งนี้ อยู่ระหว่างพัฒนาระบบ eMENSCR เพื่อให้รองรับการดำเนินการดังกล่าว
3. ผลการดำเนินการอื่นๆ
3.1 การสร้างการตระหนักรู้ ความเข้าใจ และการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ ต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ สศช. ได้เผยแพร่วีดิทัศน์เพื่อให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2566-2570) และเพื่อให้ภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นและให้ข้อเสนอแนะได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งนี้ จะนำความเห็นดังกล่าวไปจัดทำ (ร่าง) แผนฯ เพื่อให้มีความชัดเจนครอบคลุม มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ประชาชนอย่างแท้จริง
3.2 ประเด็นที่ควรเร่งรัดเพื่อการบรรลุเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ สศช. ได้กำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำเข้าข้อมูลการจัดทำแผนปฏิบัติราชการประจำปีและรายงานผลสัมฤทธิ์แผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณในระบบ eMENSCR เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติ และเพื่อให้การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศมีข้อมูลที่สมบูรณ์และเป็นปัจจุบัน โดยข้อมูล ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2564 มีหน่วยงานของรัฐนำเข้าข้อมูลดังกล่าว จำนวนทั้งสิ้น 93 หน่วยงาน หรือคิดเป็นร้อยละ 29.71 ของหน่วยงานทั้งหมด ดังนั้น เพื่อให้การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ สศช. จะเร่งรัดให้หน่วยงานนำเข้าข้อมูลแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในระบบ eMENSCR ตามขั้นตอนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และจะเร่งรัดให้เป็นไปตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดอย่างเคร่งครัดในปีงบประมาณต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2230