สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 8/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 February 2022 23:25
- Hits: 8478
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 8/2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอ สรุปผลการประชุม กตน. ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกลและให้ส่วนราชการรับประเด็นและมติของที่ประชุม กตน. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ในการประชุม กตน. ครั้งที่ 8/2564 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2564 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ความเห็น/ข้อสังเกต/มติที่ประชุม กตน. |
|
1) การส่งเสริมการค้าชุมชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน 1.1) การพัฒนาคุณค่าผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชนที่มีอัตลักษณ์และมีมาตรฐานการผลิตตามหลักสากล 1) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) สร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในพื้นที่จังหวัดพัทลุง พังงา และชุมพร เช่น สนับสนุนปัจจัยการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวและพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์แปรรูปข้าว (2) ส่งเสริมและสนับสนุนสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรทำการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า (Good Agricultural Practices: GAP) ในพื้นที่ 22 จังหวัด 50 สถาบัน จำนวน 1,202 ราย คิดเป็นมูลค่า 21.69 ล้านบาท และ (3) พัฒนาเกษตรให้เข้าสู่มาตรฐาน GAP เช่น ตรวจสอบรับรองแปลง ฟาร์ม โรงงาน และสินค้า เฝ้าระวัง และควบคุมคุณภาพสินค้าเกษตรให้เป็นไปตามมาตรฐาน จำนวน 559,731 แห่ง และอบรมเจ้าหน้าที่และองค์กรเกี่ยวกับการรับรองมาตรฐาน จำนวน 1,294 ราย 2) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าที่บ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) และ (2) สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่ชุมชนเรื่องการส่งเสริมคุ้มครองสินค้าชุมชนให้ได้รับการขึ้นทะเบียน GI จำนวน 42 สินค้า 17 จังหวัด 1.2) การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลต่อยอดการพัฒนาควบคู่กับการส่งเสริมการเรียนรู้ของชุมชน 1) กษ. ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) ส่งเสริมพัฒนาระบบตลาดภายในสำหรับสินค้าเกษตร โดยให้สหกรณ์เข้าร่วมจำหน่ายสินค้าบนแฟลตฟอร์ม Thaitrade, Phenixbox และ Shopee และส่งเสริมสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรทำแผนพัฒนาองค์กรแผนธุรกิจ แผนบริหารจัดการสินค้าเกษตรผ่านระบบสหกรณ์ (One Plan Province: OPP) รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงตลาดและกระจายผลผลิตเกษตรผ่านเครือข่ายสหกรณ์และ (2) บริหารจัดการการผลิตสินค้าเกษตรตามแผนที่เกษตร เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) เช่น จัดทำฐานข้อมูลเพื่อรองรับเขตเกษตรเศรษฐกิจ พัฒนาที่ดิน เพื่อสนับสนุนการปรับเปลี่ยนการผลิตในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมตาม Agri-Map และส่งเสริมเกษตรเชิงรุกด้านการประมง 2) พณ. ได้ดำเนินการ เช่น (1) ต่อยอดการสร้างมูลค่าเพิ่มการตลาดออนไลน์ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 (2) จัดกิจกรรม “ปรับตัวสู้วิกฤตด้วย e-Commerce ชุมชนอัจฉริยะออนไลน์” ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และ (3) พัฒนาการใช้เทคโนโลยีสู่ช่องทางออนไลน์ 3) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ดำเนินการส่งเสริมสินค้าออนไลน์ และส่งเสริมอุตสาหกรรมครัวเรือน วิสาหกิจชุมชน เช่น ยกระดับศักยภาพเกษตรรุ่นใหม่และผู้ประกอบการ/วิสาหกิจชุมชนในการผลิตสินค้าชุมชน พัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าชุมชน และส่งเสริมนักการตลาดรุ่นใหม่ 76 จังหวัด 1.3) การส่งเสริมการเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจหลักกับเศรษฐกิจชุมชนในทุกภาคการผลิต โดย พณ. ได้ดำเนินการสร้างโอกาส สร้างอาชีพ สร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชนและการมีส่วนร่วมของชุมชนบนพื้นฐานการใช้เทคโนโลยีตามแนวทางต้นแบบหมู่บ้านเถาเป่า จำนวน 34 ชุมชน 1.4) การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 1) กษ. ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) โครงการระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ มีผลการดำเนินการ ตั้งแต่ปี 2562-2564 รวม 4,243 แปลง 187,827 ราย (2) โครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ด้านปศุสัตว์ โดยในปี 2564 จัดตั้งศูนย์ให้บริการยืมเครื่องจักรกลอาหารสัตว์ 24 จังหวัด จำนวน 4,297 ราย และ (3) โครงการส่งเสริมการใช้เครื่องจักรกลทางการเกษตร เช่น ฝึกอบรมช่างเกษตรท้องถิ่น จัดทำแปลงสาธิตเกษตรอัจฉริยะ จำนวน 3 จุด และถ่ายทอดความรู้เครื่องจักรกลการเกษตรเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต จำนวน 200 ไร่ 2) มท. ได้ดำเนินการสนับสนุนด้านการเกษตรภายใต้กลไกการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐปีงบประมาณ พ.ศ. 2564-2565เช่น สร้างความเข้มแข็งและเพิ่มขีดความสามารถให้กับบริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัด และส่งเสริมช่องทางการตลาดเครือข่ายเกษตรอินทรีย์และเครือข่ายเกษตรปลอดภัย 1.5 ข้อเสนอแนะ เช่น กษ. เสนอว่า ควรมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อขยายผลในการสร้างมูลค่าเพิ่มและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว และ พณ. เสนอว่า ควรมีการติดตามผลการดำเนินงาน เพื่อนำผลที่ได้มาปรับรูปแบบการดำเนินกิจกรรมให้สอดคล้องและเหมาะสมกับผู้ประกอบการ และควรมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ให้สามารถรองรับการค้าในยุคดิจิทัล |
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : 1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาประเด็นที่มีผลต่อการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ด้านการเกษตรโดยให้พิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบาย/โครงการที่มีผลต่อการเติบโตของ GDP ด้านการเกษตร สร้างกำลังซื้อให้แก่เกษตรกร และช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนและผลักดันเศรษฐกิจให้มีการหมุนเวียนและเติบโตอย่างต่อเนื่อง 2) การส่งเสริมโครงการ/นโยบายต่างๆ ควรขับเคลื่อนลงไปในระดับชุมชน หมู่บ้านและพื้นที่เชิงยุทธศาสตร์ โดยยกระดับเศรษฐกิจชุมชนและสร้างความเข้มแข็งจากฐานราก เพื่อต่อยอดไปในระดับเศรษฐกิจมหภาค 3) ควรเน้นส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์การเกษตร เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นนัยสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของ GDP ด้านการเกษตร ช่วยส่งเสริมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ และหาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด 4) ควรมีการเชื่อมโยงตลาดข้าวในต่างประเทศ โดยให้มีการแยกตลาดข้าวให้ชัดเจนตามคุณภาพและประเภทของข้าว เช่น ข้าวหอมมะลิ ข้าวอินทรีย์ เพื่อให้เป็นตลาดเฉพาะ และสามารถแข่งขันด้านราคาได้ มติที่ประชุม : 1) รับทราบ 2) ให้ กษ. พณ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ ไปพิจารณา |
|
2) แผนงาน/โครงการการขับเคลื่อนสู่รัฐบาลดิจิทัล (Digital Government) 2.1) การขับเคลื่อนรัฐบาลด้วยข้อมูล (Data Driven Government) : สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ได้ดำเนินการ เช่น (1) ขับเคลื่อนธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (Data Governance) และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ เช่น จัดทำมาตรฐานธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ และหลักเกณฑ์และมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเปิดภาครัฐในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลต่อสาธารณะ และให้คำปรึกษาหน่วยงานต้นแบบในการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ (2) จัดทำแผนการปฏิบัติงานการพัฒนากรอบธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ และ (3) จัดทำเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จของการจัดทำธรรมาภิบาลข้อมูลภาครัฐ 2.2 ) การบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐรวมจุดเดียว 1) สพร. ดำเนินการจัดทำและให้บริการ “ศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลาง (Government Data Exchange หรือ GDX)” เช่น ข้อมูลบุคคลและนิติบุคคล/ภาษีมูลค่าเพิ่ม สหกรณ์/ทะเบียนพาณิชย์จาก Linkage Center และหน่วยงานอื่นๆ จำนวน 299 รายการ และข้อมูลเพื่อรองรับการยกเลิกสำเนาเอกสารทางราชการและบริการอื่นๆ 2) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.)ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลของรัฐมีหน่วยงานภาครัฐใช้บริการแล้ว จำนวน 735 หน่วยงานและ (2) จัดฝึกอบรมบุคลากรภาครัฐให้มีความรู้ด้าน Cloud Computing 3 หลักสูตร จำนวน 2,065 คน 2.3) การเร่งยกระดับทักษะดิจิทัลบุคลากรภาครัฐ 1) สพร. ได้พัฒนาบุคลากรภาครัฐด้านดิจิทัลและพัฒนาทักษะดิจิทัลสำหรับบุคลากรภาครัฐในด้านต่างๆ เช่น จัดทำมาตรฐานหลักสูตรเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลและพัฒนาระบบสนับสนุนการพัฒนาทักษะดิจิทัลภาครัฐ 2) ดศ. ได้ดำเนินการ ดังนี้ (1) สร้างครูผ่านโครงการยกระดับครูดิจิทัล โครงการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 เพื่อคุณครู และโครงการที่มุ่งเน้นการยกระดับทักษะด้านการเขียนโปรแกรมให้เป็นรหัสหรือสัญลักษณ์ (Coding) ให้กับนักเรียนทั่วประเทศ (2) พัฒนาทักษะดิจิทัลให้กับแรงงานและ (3) พัฒนาบุคลากรภาครัฐ 2.4) ข้อเสนอแนะ โดย สพร. เสนอว่า ควรจัดทำแนวทางการทำกระบวนการปลี่ยนแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล (Data Digitization Process) ที่ไม่ซับซ้อนและมีเครื่องมือสนับสนุนที่หน่วยงานสามารถนำไปใช้งานได้ และควรมีการจัดทำมาตรฐานการเชื่อมต่อระบบบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ (e-Sevice) เข้าสู่ระบบ GDX ที่ชัดเจนเข้าใจง่ายและประกาศให้หน่วยงานนำไปใช้ |
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : 1) หน่วยงานภาครัฐยังขาดความรู้ความเข้าใจในทักษะด้านดิจิทัล จึงขอให้ สพร. เผยแผ่องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในรูปแบบวิดีโอผ่านเว็บวิดีโอ Youtube หรือเว็บไซต์ อื่นๆ พร้อมกับเผยแผ่ข้อมูลที่จำเป็นให้หน่วยงานภาครัฐและประชาชนสามารถเข้าถึงได้สะดวก 2) ในปัจจุบันระบบเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับการรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประกอบการกำหนดนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ และการเผยแผ่ให้ประชาชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการประกอบธุรกิจและการวางแผนดำรงชีวิต มติที่ประชุม : 1) รับทราบ 2) ให้ สพร. ดศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของที่ประชุมฯ ไปพิจารณา |
|
3) ข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี 3.1) ข้อเสนอแนวทางการดำเนินงาน เช่น การเสนอประเด็นติดตามการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีโดยใช้หลักเกณฑ์ความบ่อยครั้งในการสั่งการ และความสำคัญของประเด็นข้อสั่งการ และการขับเคลื่อนและบูรณาการดำเนินงานตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี โดยบูรณาการข้อมูลให้เป็นหน่วยเดียว 3.2) ประโยชน์ที่จะได้รับ เช่น ทำให้มีการบูรณาการการขับเคลื่อนการดำเนินงานของหน่วยงานในประเด็นข้อสั่งการและสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในด้านการประชาสัมพันธ์ |
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : เห็นควรให้คณะอนุกรรมการฯ รวบรวมข้อมูลผลการดำเนินงานในประเด็นติดตามฯ ของหน่วยงานต่างๆ อย่างเป็นระบบ รวมทั้งนำมาใช้ในด้านการประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน เพื่อให้ได้ประโยชน์มากยิ่งขึ้น มติที่ประชุม : เห็นชอบข้อเสนอแนวทางการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการฯ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2229