รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 February 2022 23:20
- Hits: 8667
รายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2564 และแนวโน้มปี 2565
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2564 และรายงานภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2564 และแนวโน้มปี 2565 ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ ดังนี้
สาระสำคัญ
ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการซื้อในประเทศและต่างประเทศที่เริ่มขยายตัวในหลายสินค้า หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัวอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลให้ MPI เดือนพฤศจิกายน 2564 ขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน คือ
1. การกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวร้อยละ 11.88 จากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว หลังประชาชนส่วนใหญ่ได้รับวัดซีนแล้ว ทำให้มีการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นปกติได้มากกว่าปีก่อน
2. ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 21.16 เพิ่มขึ้นตามความต้องการในตลาดโลกที่ขยายตัวต่อเนื่องหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563
3. เม็ดพลาสติก ขยายตัวร้อยละ 20.0 จากการหยุดซ่อมบำรุงต่อเนื่องหลายวันของผู้ผลิตบางรายในปีก่อน
4. น้ำมันปาล์ม ขยายตัวร้อยละ 55.92 จากผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีมากกว่าปีก่อนเนื่องจากต้นปาล์มมีความสมบูรณ์เต็มที่ และจากปริมาณส่งออกน้ำมันปาล์มดิบที่เพิ่มขึ้น หลังอินโดนีเซียและมาเลเซีย ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้ปริมาณสินค้าในตลาดโลกลดลง
5. เภสัชภัณฑ์ ขยายตัวร้อยละ 24.88 ตามความต้องการใช้ในโรงพยาบาลจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาดอยู่เป็นระลอก ส่งผลให้อุตสาหกรรมยายังคงเติบโตต่อเนื่องรวมถึงต้องปฏิบัติตามนโยบายจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่กำหนดให้ผู้ผลิตต้องมีสินค้าเพียงพอกับความต้องการ
สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2564 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.2 ในขณะที่ปี 2563 MPI หดตัวร้อยละ 9.3 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ขยายตัวในปี 2564 อาทิ รถยนต์ โดยเพิ่มขึ้นในตลาดส่งออก เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าขยายตัว จากการคลี่คลายของสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในส่วนของตลาดในประเทศยังคงชะลอตัว ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นผลจากความต้องการของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์โลกที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับความต้องการใช้ Cloud Computing และ Data Center รวมถึง ความต้องการใช้อุปกรณ์ที่จำเป็นในการทำงานและการศึกษาทางไกล ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกในตลาดหลักที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน เหล็กและเหล็กกล้า เพิ่มขึ้นทั้งผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวและเหล็กทรงแบน โดยผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นจากโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ สำหรับผลิตภัณฑ์ในกลุ่มเหล็กทรงแบนเพิ่มขึ้นจากการผลิตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เป็นผลจากฐานต่ำในปีก่อน จากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระลอกแรกที่ส่งผลกระทบทั่วโลก และส่งผลให้ผู้ผลิตขาดแคลนชิ้นส่วนสำหรับการผลิตสินค้าจากการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ เฟอร์นิเจอร์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มดีขึ้นและปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศเริ่มคลี่คลาย ส่งผลให้มียอดคำสั่งซื้อเข้ามามากขึ้น โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่จากตลาดสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น รวมถึงตลาดในประเทศก็ได้รับคำสั่งซื้อในส่วนของเครื่องเรือนทำด้วยโลหะเพิ่มขึ้น
แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2565 ประมาณการอัตราการขยายตัวของดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 4.0-5.0 โดยมีแรงสนับสนุนจาก (1) ตลาดส่งออกขยายตัวต่อเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า (2) ตลาดในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ และ (3) ในส่วนของสถานประกอบการ มีการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดีขึ้น รวมถึงการกระจายวัคซีนทำได้ครอบคลุมและทั่วถึง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดยังคงมีความไม่แน่นอน ยังคงต้องติดตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อย่างใกล้ชิดต่อไป
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2228