รายงานผลการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ของกระทรวงกลาโหม
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 February 2022 23:18
- Hits: 8714
รายงานผลการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล บริเวณมาบตาพุด จังหวัดระยอง ของกระทรวงกลาโหม
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานผลการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล บริเวณ มาบตาพุด จังหวัดระยอง ของกระทรวงกลาโหม ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ ดังนี้
สรุปผลการปฏิบัติการขจัดคราบน้ำมันดิบรั่วไหลในทะเล บริเวณมาบตะพุด จังหวัดระยอง ของกระทรวงกลาโหม
1. สถานการณ์
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 กรมเจ้าท่า ได้รับแจ้งเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเลของทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเล (SPM) ของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SPRC เป็นเหตุให้น้ำมันดิบรั่วไหลลงสู่ทะเลในระดับ 2 กรมเจ้าท่าในฐานะศูนย์ประสานงานป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ได้ประสานกองทัพเรือขอให้จัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการขจัดคราบน้ำมัน ระดับ 2 เพื่อดำเนินการขจัดคราบน้ำมันในบริเวณพื้นที่ดังกล่าว ตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน พ.ศ. 2547 ต่อมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2565 คราบน้ำมันได้เคลื่อนตัวถึงบริเวณชายหาดแม่รำพึง จังหวัดระยอง กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดระยอง ได้ประกาศให้พื้นที่ หมู่ 1 ตำบลบ้านเพ หมู่ 5 และหมู่ 10 ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง เป็นเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย รายละเอียดตามหนังสือ กรมเจ้าท่า ที่ คค 0310.6/472 ลงวันที่ 26 มกราคม 2565 และประกาศกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดระยอง ลงวันที่ 29 มกราคม 2565 เรื่อง เขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย ภัยอื่นๆ (ภัยจากน้ำมันดิบรั่วไหล) ในพื้นที่อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง โดยศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดระยอง ได้แบ่งพื้นที่ปฏิบัติการ ออกเป็น 5 โซน ได้แก่ โซน A สำรวจตั้งแต่บริเวณกองพันทหารราบที่ 7 กรมทหารราบที่ 3 กองพลนาวิกโยธิน ถึง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ระยะทาง 2 กิโลเมตร โซน B สำรวจตั้งแต่บริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยฝั่งตะวันออก ถึง หาดแม่รำพึง ระยะทาง 2 กิโลเมตร โซน C สำรวจตั้งแต่บริเวณหาดแม่รำพึง ถึง ลานหินขาว ระยะทาง 2 กิโลเมตร โซน D สำรวจตั้งแต่บริเวณลานหินขาว ถึง เขาแหลมหญ้า ระยะทาง 2 กิโลเมตร และโซน E สำรวจตั้งแต่บริเวณเขาแหลมหญ้า ถึง เกาะเสม็ด
2. การปฏิบัติที่ผ่านมา
2.1 กองทัพเรือได้สั่งการให้ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ จัดตั้ง ศูนย์อำนวยการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน กองทัพเรือ มีหน้าที่ในการอำนวยการ กำกับดูแล ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันได้สั่งการให้ทัพเรือภาคที่ 1 จัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 โดยมีผู้บัญชาการทัพเรือภาคที่ 1 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ เพื่อทำหน้าที่กำหนดแผน และยุทธวิธีในการขจัดคราบน้ำมัน ปฏิบัติการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันที่เกิดขึ้นในพื้น ที่รับผิดชอบ รวมทั้งอำนวยการประสานกับส่วนราชการ และหน่วยงานภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด ตลอดจนสั่งการหน่วยสนับสนุน ต่างๆ ทั้งนี้ ได้เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 26 มกราคม 2565 รวมทั้งจัดกำลังพล และยุทโธปกรณ์ สนับสนุนหน่วยต่างๆ ในการขจัดคราบน้ำมันใน 2 ลักษณะ ดังนี้
2.1.1 การขจัดคราบน้ำมันในทะเล ซึ่งเป็นการขจัดกลุ่มคราบน้ำมันขนาดใหญ่ ดำเนินการด้วยวิธีการใช้ทุ่นกักน้ำมัน เครื่องดูดน้ำมันหรือ Skimmer ดูดคราบน้ำมันจากทะเลสู่ถังเก็บ แล้วนำส่งเพื่อทำลายต่อไป สำหรับในส่วนของการขจัดกลุ่มคราบน้ำมันที่มีทิศทางการเคลื่อนที่ที่เป็นอันตรายต่อชายฝั่งและพื้นที่เปราะบาง ได้ดำเนินการด้วยการใช้ทุ่นล้อมเพื่อเบี่ยงเบนทิศทางการเคลื่อนที่ของกลุ่มคราบน้ำมันให้มีทิศทางไปสู่ทะเลเปิด แล้วทำการล้อมดักและดูดไปทำลายตามกระบวนการต่อไป
2.1.2 การขจัดคราบน้ำมันบริเวณชายฝั่ง แบ่งเป็น 2 พื้นที่ ได้แก่ 1) พื้นที่ชายฝั่งในทะเล ได้ประสานกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง ในการใช้ทุ่นล้อมกันคราบน้ำมันขึ้นฝั่ง และ 2) พื้นที่ชายฝั่งบนบก โดยบริเวณที่เป็นหินใช้การฉีดน้ำให้คราบน้ำมันรวมตัวกันแล้วตักเก็บเพื่อนำไปทำลาย ส่วนบริเวณที่เป็นหาดทรายจะใช้รถขุดตักในการตักคราบน้ำมันที่ปะปนกับทรายแล้วนำไปทำลาย ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานได้สวมชุดป้องกันและจำกัดเวลาในการปฏิบัติงานเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน เพื่อป้องกันสารพิษที่อาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย
นอกจากนี้ กองทัพเรือได้ส่ง หน่วยเฉพาะกิจกองเรือยุทธการ 642 นักประดาน้ำชุดปฏิบัติการ พิเศษและเรือยาง ดำน้ำสำรวจสภาพระบบนิเวศใต้ทะเลร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
2.2 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพไทย และศูนย์บรรเทาสาธารณภัยเหล่าทัพ ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รวมทั้งนำศักยภาพและขีดความสามารถของหน่วยมาให้การสนับสนุนส่วนราชการในการเข้าควบคุมเหตุภัยพิบัติดังกล่าวอย่างเต็มศักยภาพทันที เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากสาธารณภัยที่เกิดขึ้นต่อสภาวะแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับมอบหมาย ดังนี้
2.2.1 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพไทย โดยหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 14 สำนักงานพัฒนาภาค 1 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา ได้จัดชุดบรรเทาสาธารณภัยเคลื่อนที่เร็ว ร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง เฝ้าระวังเหตุการณ์ และสนับสนุนการกั้นแนวทุ่นกักคราบน้ำมัน(Absorbent Boom) ณ หาดแม่รำพึง ตำบลตะพง อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง
2.2.2 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก โดยศูนย์บรรเทาสาธารณภัยมณฑลทหารบกที่ 14 จัดชุดประสานงานและประเมินสถานการณ์การแก้ไขปัญหาคราบน้ำมันดิบรั่วไหลร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดกำลังพล จำนวน 40 นาย รถยนต์บรรทุกขนาดเล็ก จำนวน 1 คัน และรถยนต์โดยสารขนาดใหญ่ จำนวน 2 คัน เตรียมการสนับสนุนการกั้นแนวทุ่นกักคราบน้ำมัน (Absorbent Boom) เพื่อจำกัดพื้นที่การรั่วไหล พร้อมปฏิบัติเมื่อได้รับการประสาน
2.2.3 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองบัญชาการกองทัพเรือ โดยหน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง และกรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ได้จัดกำลังพลหมุนเวียนปฏิบัติหน้าที่วันละกว่า 300 นาย ปฏิบัติภารกิจจัดเก็บ และซับคราบน้ำมันบริเวณชายหาด ทำการพิสูจน์ทราบสารพิษที่เป็นอันตรายจากน้ำมัน และชำระล้างสารพิษให้กับกำลังพลหรืออื่นๆ รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านวิชาการ และเก็บตัวอย่างด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ
2.3 สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ได้บูรณาการร่วมกับ กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม ในภารกิจส่งอากาศยานไร้คนขับสำรวจน้ำมันดิบรั่วไหลจากท่อใต้ทะเล ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีในการป้องกันประเทศมาใช้ในการช่วยเหลือประชาชน เพื่อสร้างความต่อเนื่องและขยายผลด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ในการนี้ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ได้ส่งนักวิจัย และเจ้าหน้าที่ของโครงการวิจัยและพัฒนาองค์ประกอบพื้นฐานระบบยานไร้คนขับ จำนวน 13 นาย ร่วมสนับสนุนภารกิจ ด้วยการนำระบบอากาศยานไร้คนขับจำนวน 2 ระบบ ที่มีขีดความสามารถและรัศมีทำการบินระยะไกล และมีเวลาปฏิบัติการในอากาศได้นาน รวมทั้งสามารถส่งข้อมูลภาพที่มีความคมชัดสูง (High Definition) โดยระบบที่ 1 เป็นระบบอากาศยานไร้คนขับแบบปีกตรึงขึ้นลงทางดิ่ง (VTOL) รุ่น DP22 (Half Moon) และระบบที่ 2 เป็นอากาศยานไร้คนขับขึ้นลงทางดิ่งขนาดเล็ก (Multi-Rotor UAS/DP21) (Coral) ร่วมปฏิบัติภารกิจการบินสำรวจคราบน้ำมันดิบ ตามบริเวณแนวชายฝั่งหาดแม่รำพึง ตำบลบ้านเพ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง และส่งภาพด้วยเทคโนโลยี Streaming ให้กับ ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 โดยปฏิบัติการบิน จำนวน 8 เที่ยวบิน ระยะทางรวม 80 กิโลเมตร
3. ผลการปฏิบัติ
ปัจจุบันสถานการณ์ในทะเลตรวจไม่พบคราบน้ำมัน และไม่มีการรั่วไหลเพิ่มเติม ในส่วนของการดำเนินการกำจัดคราบน้ำมันบริเวณชายฝั่งได้ดำเนินการกำจัดเรียบร้อยแล้ว ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการในการป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมัน ทัพเรือภาคที่ 1 ได้ยุติการปฏิบัติหน้าที่เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2565 เวลา 18.00 นาฬิกา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2227