การขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection Centre : TDCC) ของทางการเมียนมา และการได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 February 2022 23:09
- Hits: 8333
การขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection Centre : TDCC) ของทางการเมียนมา และการได้มาซึ่งเอกสารประจำตัวของคนต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้
1. การขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาชั่วคราว (The Temporary Data Collection Centre : TDCC) (ศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ) ของทางการเมียนมา ณ จังหวัดสมุทรสาคร ออกไปอีก 1 ปี
2. การดำเนินการให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา)
3. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
3.1 กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) รง. โดยกรมการจัดหางาน จังหวัดสมุทรสาคร โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด และสำนักงานจัดหางานจังหวัดสมุทรสาคร เป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับทางการเมียนมาให้ดำเนินการตามมติที่ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเรื่องรัฐบาลเมียนมาขอขยายเวลาการดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ที่จังหวัดสมุทรสาคร
3.2 จังหวัดสมุทรสาคร โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสมุทรสาครเป็นหน่วยงานที่พิจารณากำหนดวัน เวลา ในการเริ่มเปิดดำเนินการ รวมทั้งพิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ให้สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) กรณีที่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีการบังคับใช้ อาทิ มาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตพื้นที่จังหวัดให้แรงงานเมียนมาที่ทำงานนอกเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครที่มีความประสงค์จะไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูล ณ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา โดยที่ยังคงให้การมาขอรับบริการของแรงงานสามารถดำเนินการได้
3.3 กต. พิจารณามอบอำนาจในการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (NON - Immigrant - LA) หรือการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (กรณีการมอบอำนาจเดิมไม่ครอบคลุม) ให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่จะปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ หรือในพื้นที่อื่นตามที่ทางการเมียนมาประสงค์ขอจัดตั้งศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคลเพิ่มเติม
3.4 จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เป็นหน่วยงานที่พิจารณาแนวทางการปฏิบัติงานของศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคลให้สอดคล้องกับแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 กรณีที่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีการบังคับใช้ อาทิ มาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้แรงงานเมียนมาที่มีความประสงค์จะไปดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล ณ ศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา โดยที่ยังคงให้การมาขอรับบริการของแรงงานสามารถดำเนินการได้
สาระสำคัญของเรื่อง
รง. รายงานว่า
1. การจัดตั้งศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา มีจุดประสงค์เพื่อจัดเก็บข้อมูลแรงงานเมียนมาที่ประสงค์ขอมีหนังสือเดินทางได้ในเบื้องต้น ก่อนที่หน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงจะพิจารณาออกหนังสือเดินทางให้กับแรงงานต่อไป โดยที่แรงงานเหล่านี้ยังไม่ต้องเดินทางกลับไปยังประเทศต้นทาง โดยเมื่อผ่านการพิจารณาแล้ว แรงงานเมียนมาสามารถไปขอรับหนังสือเดินทางได้ที่สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยหรือศูนย์ออกหนังสือเดินทางบริเวณชายแดน โดยผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีแรงงานเมียนมาได้ยื่นขอหนังสือเดินทาง ทั้งสิ้น จำนวน 113,176 คน และได้รับหนังสือเดินทางแล้วทั้งสิ้น จำนวน 64,355 คน โดยมีแรงงานเมียนมาที่อยู่ระหว่างตรวจสอบประวัติอาชญากรรมและรอรับหนังสือเดินทาง จำนวน 48,821 คน ต่อมาฝ่ายเมียนมายืนยันความจำเป็นที่ต้องมีการจ่ายเล่มหนังสือเดินทางที่ศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่แรงงานเมียนมา จึงจำเป็นต้องมีการยกระดับศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมาให้เป็นสถานที่ทำการทางกงสุล ซึ่งทั้งฝ่ายเมียนมาและฝ่ายไทยได้มีการหารือในรายละเอียดมาอย่างต่อเนื่อง ต่อมาเมื่อวันที่ 7 เมษายน 2564 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยได้มีหนังสือถึง กต. แจ้งการปรับเปลี่ยนแนวทางโดยขอยกระดับศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ขึ้นเป็นสำนักงานส่วนแยก (Extension Office) ของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย ซึ่ง กต. มีข้อคิดเห็นว่า ตามข้อ 12 ของอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล ค.ศ. 1963 การยกระดับศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา เป็นสำนักงานส่วนแยกของสถานเอกอัครราชทูตฯ ต้องได้รับความยินยอมจากรัฐบาลไทยและเป็นไปตามการดำเนินการของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 ซึ่งขณะนี้การยกระดับศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา เป็นสำนักงานส่วนแยกของสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
2. ปัจจุบันศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมาได้ยุติการดำเนินการแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทยจึงได้มีหนังสือถึง กต. ลงวันที่ 18 สิงหาคม 2564 แจ้งความประสงค์ขอให้ฝ่ายไทยพิจารณาขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ออกไปอีก 1 ปี เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นายจ้างและแรงงานเมียนมาให้สามารถมีเอกสารประจำตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ รวมทั้งเป็นประโยชน์ในการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาพรวมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการดำเนินการของศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ยังคงเป็นไปตามแนวทางที่คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563 โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
รายละเอียด |
|
วัตถุประสงค์ |
เพื่อเก็บข้อมูลของแรงงานเมียนมาที่ประสงค์ขอมีหนังสือเดินทาง (Passport) (โดยไม่มีการจัดทำและจ่ายเล่มหนังสือเดินทาง) |
|
กลุ่มเป้าหมาย |
กลุ่มแรงงานเมียนมา (ไม่รวมคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาที่อยู่ในประเทศไทยด้วยวัตถุประสงค์อื่น) |
|
ระยะเวลา |
ดำเนินการชั่วคราว เป็นระยะเวลา 1 ปี |
|
สถานที่ตั้ง |
ตลาดทะเลไทย ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร |
|
เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน |
เจ้าหน้าที่จากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการเข้าเมือง และประชากร สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา จำนวน 13 คน (โดยไม่มีการขอเอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูตให้กับเจ้าหน้าที่ ทั้งในส่วนที่ปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา หรือ ณ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย) |
|
เอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณา |
1. แบบคำขอ 2. บัตรประจำตัวประชาชนเมียนมา 3. สำเนาทะเบียนบ้านเมียนมา |
|
ค่าใช้จ่าย ในการดำเนินการ |
ไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ (ยกเว้นเมื่อไปรับหนังสือเดินทาง ณ จุดที่กำหนด ต้องเสียค่าใช้จ่าย จำนวน 1,050 บาท) |
|
สถานที่สำหรับ รับหนังสือเดินทาง |
1. สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย 2. ศูนย์ออกหนังสือเดินทางบริเวณชายแดน 3 แห่ง ได้แก่ - ฝั่งท่าขี้เหล็ก (ตรงข้ามอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย) - ฝั่งเมียวดี (ตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) - ฝั่งเกาะสอง (ตรงข้ามอำเภอเมือง จังหวัดระนอง) |
3. การดำเนินการให้ได้มาซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว และเมียนมา) ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานที่ออกตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 โดยในกรณีที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุ ให้คนต่างด้าวดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารดังกล่าวภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ดังนั้น เพื่อให้การได้มาซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างด้าวสัญชาติเมียนมาเป็นไปด้วยความเรียบร้อยภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงควรกำหนดแนวทางการดำเนินการเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ดังนี้
3.1 กต.พิจารณามอบอำนาจในการตรวจลงตราประเภทคนอยู่ชั่วคราว (Non - Immigrant - LA) หรือการตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไป (กรณีการมอบอำนาจเดิมไม่ครอบคลุม) ให้กับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองที่จะปฏิบัติหน้าที่ ณ ศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนองจังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่
3.2 กรณีที่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีการบังคับใช้ อาทิ มาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้แรงงานเมียนมาที่มีความประสงค์จะไปดำเนินการจัดทำเอกสารรับรองบุคคล ณ ศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดระนอง จังหวัดชลบุรี และจังหวัดเชียงใหม่ ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา โดยที่ยังคงให้การมาขอรับบริการของแรงงานสามารถดำเนินการได้
3.3 กรณีที่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยังมีการบังคับใช้ อาทิ มาตรการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตพื้นที่จังหวัด ให้แรงงานเมียนมาที่ทำงานนอกเขตพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ที่มีความประสงค์จะไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูล ณ ศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ต้องดำเนินการตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดพิจารณา โดยที่ยังคงให้การมาขอรับบริการของแรงงานสามารถดำเนินการได้
4. คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวในการประชุมครั้งที่ 6/2564 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 ผ่านระบบวีดิทัศน์ทางไกล (Video Conference) โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุม ได้มีมติเห็นชอบให้ขยายระยะเวลาการดำเนินการของศูนย์จัดเก็บ ข้อมูลฯ ของทางการเมียนมา ออกไปอีก 1 ปีเพื่อให้แรงงานเมียนมามีเอกสารประจำตัว โดยที่ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศ และทำให้การบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทยเกิดความต่อเนื่อง เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยขั้นตอนการดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2563
5. การขอขยายระยะเวลาการดำเนินการศูนย์จัดเก็บข้อมูลฯ ของทางการเมียนมาและการดำเนินการให้ได้ซึ่งหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางของคนต่างด้าว 3 สัญชาติ (ตามข้อ 2 และข้อ 3) เป็นการช่วยเหลือสนับสนุนให้กับนายจ้างและสถานประกอบการที่มีความประสงค์จะจ้างแรงงานเหล่านั้นต่อไป ส่งผลให้การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ แรงงานต่างด้าวได้รับอนุญาตทำงานโดยถูกต้องตามกฎหมายและยังคงอยู่ในการกำกับของหน่วยงานภาครัฐ ได้รับการคุ้มครองและมีสิทธิประโยชน์สวัสดิการการคุ้มครองตามสิทธิที่พึงได้รับ รวมถึงสามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้อย่างชัดเจนหลังจากที่วาระการจ้างงานสิ้นสุดลงหรือแรงงานไม่ประสงค์จะทำงานอีกต่อไป ตลอดจนลดความสุ่มเสี่ยงที่แรงงานบางส่วนจะเปลี่ยนเป็นแรงงานที่ไม่ถูกต้องหากเอกสารประจำตัวสิ้นอายุลง ช่วยลดภาระในการติดตามตรวจสอบของเจ้าหน้าที่และการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินการดังกล่าว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2225