การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ ภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 08 February 2022 22:59
- Hits: 8731
การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการ ภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลตามองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงการต่างประเทศเป็นเลขานุการร่วม รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงยุติธรรมเป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานสำหรับการเข้าร่วมประชุม Council on General Affairs and Policy (CGAP) และการประชุมของ Hague Conference on Private International Law (HCCH) อื่นๆ ของคณะผู้แทนไทย รวมถึงการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง
สาระสำคัญของเรื่อง สรุปดังนี้
1. กระทรวงยุติธรรมได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้องกรณีประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล (Hague Conference on Private International Law: HCCH) ภายหลังจากที่รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) ได้อนุญาตให้เลขาธิการ HCCH (Dr. Christophe Bernasconi) เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการ ณ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2563เห็นชอบต่อการเข้าเป็นสมาชิก HCCH เนื่องจากจะทำให้ประเทศไทยมีสิทธิในการเข้าร่วมกระบวนการเจรจาร่างอนุสัญญาต่างๆ ของ HCCH และมีโอกาสในการผลักดันวัตถุประสงค์หรือความต้องการของไทยบนเวทีระหว่างประเทศได้ และยังเป็นประโยชน์ต่อการติดตามพัฒนาการของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลที่เกี่ยวกับการคุ้มครองดูแลสิทธิประโยชน์ของประชาชน ในการดำเนินกิจกรรมข้ามรัฐ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงกฎหมายภายในของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลอีกด้วย ด้วยเหตุที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก HCCH โดยสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2564 จึงมีความจำเป็นในการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติเพื่อเป็นกลไกประสานงานระหว่างหน่วยงานไทยทั้งทางด้านสารัตถะและพิธีการ ในการเตรียมการเข้าร่วมการประชุมของ HCCH ต่อไป
2. กระทรวงยุติธรรมได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อส่งเสริมพลวัตภายหลังการเข้าเป็นสมาชิก HCCH โดยกิจกรรมที่สำคัญ ได้แก่ (1) โครงการเสวนาทางวิชาการ เรื่อง “แนวทางพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคลเนื่องในโอกาสที่ประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิก Hague Conference on Private International Law (HCCH)” เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 (2) การประชุมระดมความคิดเห็นเพื่อพิจารณากรอบการดำเนินงาน ภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 และ (3) การประชุมเพื่อพิจารณาการดำเนินงานภายหลังประเทศไทยเข้าเป็นสมาชิกที่ประชุมกรุงเฮกว่าด้วยกฎหมายระหว่างประเทศ แผนกคดีบุคคล เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 โดยที่ประชุมได้เห็นชอบกรอบการดำเนินการภายหลังการเข้าเป็นสมาชิกฯ จำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ (1) การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฉบับใหม่และการทบทวนการปฏิบัติตามอนุสัญญาฉบับที่เป็นภาคีในปัจจุบัน (2) การพัฒนากฎหมายเอกซน และกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคลของไทยให้สอดคล้องกับ HCCH รวมถึงการปรับปรุงกฎหมายภายใน (3) การพัฒนาองค์ความรู้เชิงวิชาการของไทยและการพิจารณาประเด็นที่เกี่ยวข้อง และ (4) การส่งเสริมท่าทีและเป้าประสงค์ของไทยในเวทีการประชุมของ HCCH
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมท่าทีและเป้าประสงค์ของไทยในเวทีการประชุมของ HCCH หน่วยงานของไทยได้เห็นชอบให้กระทรวงยุติธรรมเสนอจัดตั้งกลไกรูปแบบคณะกรรมการ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานและการผลักดันทบบาทของไทยในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ HCCH ให้มีประสิทธิภาพและมีลักษณะที่ยั่งยืนต่อไป
สำหรับการประชุม CGAP เป็นการประชุมหลักของ HCCH มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 28กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม 2565 ผ่านระบบการประชุมทางไกล
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 8 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2223