ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 03 February 2022 23:21
- Hits: 9507
ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ ดศ. เสนอว่า
1. นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 117/2564 ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยแต่งตั้งรัฐมนตรีว่าการกะทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานกรรมการ เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบาย มาตรการ และแนวทางปฏิบัติเพื่อบูรณาการป้องกันปราบปราม และแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและยกร่างกฎหมาย ระเบียบ ข้อกำหนดและประกาศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมาตรการทางปกครอง มาตรการทางภาษี และมาตรการทางสังคม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม และลดความเสียหายจากผลกระทบที่เกิดขึ้นได้รวดเร็ว
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการรวม 3 คณะ ได้แก่
2.1 คณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.2 คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางและหลักเกณฑ์การดูแลการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
2.3 คณะอนุกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการใช้สื่อสังคมออนไลน์
3. เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ สื่อสังคมออนไลน์ และเครือข่ายอินเทอร์เน็ตใน การสร้างและเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างและเผยแพร่ข่าวปลอม (Fake news) ที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ข่าวที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง เช่น โรคระบาด ภัยพิบัติ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ข่าวที่สร้างความแตกแยกในสังคม การยั่วยุ ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม ตลอดจนข่าวที่ทำลายภาพลักษณ์ต่อประเทศ ทำให้มีผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เด็กและเยาวชน ตลอดจนกระทบต่อเศรษฐกิจ วัฒนธรรมอันดี และสถาบันหลักของชาติ ซึ่งสถานการณ์ที่มีการเผยแพร่ข่าวปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้น
4. ดศ. โดยคณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางและหลักเกณฑ์การดูแลการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) (คณะอนุกรรมการ คณะที่ 2) จึงได้ดำเนินการจัดให้มีการประชุมเพื่อพิจารณาวางแนวทางและหลักเกณฑ์การดูแลการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) เพื่อให้การป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในสื่อสังคมออนไลน์หรือในระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นข้อมูลเท็จหรือข้อมูลปลอมดังกล่าวเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยคุ้มครองประชาชนให้ได้รับความปลอดภัยและได้รับข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ อีกทั้งเป็นการอำนวยความสะดวก สนับสนุนการดำเนินการร่วมกันของหน่วยงานของรัฐให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและมีแนวทางและหลักเกณฑ์ในการดำเนินการที่ชัดเจน และได้มีการรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน รวมทั้งได้จัดทำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ พ.ศ. ….
5. ในการประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ครั้งที่ 5/2564 เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบร่างระเบียบดังกล่าวด้วยแล้ว
สาระสำคัญของร่างระเบียบ
1. กำหนดบทนิยามที่สำคัญ เช่น
1.1 “สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)” หมายความว่า สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ตามประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์การเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ พ.ศ. 2564
1.2 “ข่าวปลอม” หมายความว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ในสื่อสังคมออนไลน์ หรือในระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นข้อมูลเท็จหรือข้อมูลปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
2. ให้มีการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ ศูนย์ประสานงานกลาง ศูนย์ประสานงานประจำกระทรวง และศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด โดยมีรายละเอียดดังนี้
2.1 ให้สำนักงานปลัด ดศ. จัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์กลาง เพื่อเป็นศูนย์กลางในการดำเนินการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ และให้มีอำนาจและหน้าที่ในการประสานงานกับศูนย์ประสานประจำกระทรวงและศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด รับรองข่าวปลอมสำหรับข้อมูลในความรับผิดชอบของ ดศ. ดำเนินการตามกฎหมายกับข่าวปลอมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ ข้อมูล และข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอม สร้างเครือข่ายอาสาสมัครเพื่อสอดส่องดูแลข้อมูลข่าวสารปลอมบนสื่อสังคมออนไลน์ รวมทั้งติดตามผลการดำเนินคดีเกี่ยวกับข่าวปลอมของกระทรวงและจังหวัดในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ เร่งด่วน มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และติดตามผลการดำเนินการของศูนย์ประสานงานประจำกระทรวงและประจำจังหวัด ทั้งนี้ ให้สำนักงานปลัด ดศ. กำหนดและแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบงานของศูนย์ประสานงานกลางเพื่อปฏิบัติงานตามอำนาจและหน้าที่ดังกล่าว
2.2 ให้ทุกกระทรวงจัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ประจำกระทรวง โดยให้ศูนย์ประสานงานประจำกระทรวงมีอำนาจและหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่สงสัยว่าอาจเป็นข่าวปลอมเพื่อตรวจสอบและพิจารณาเนื้อหา รับรองข่าวปลอมสำหรับข้อมูลในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง เผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอมในความรับผิดชอบของแต่ละกระทรวง ดำเนินการตามกฎหมายกับข่าวปลอมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยให้ปลัดกระทรวงแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรับรองข่าวปลอม เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวปลอม และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและหน้าที่ดังกล่าว
2.3 ให้กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ประจำจังหวัด โดยมีรองผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้รับมอบหมายทำหน้าที่หัวหน้าศูนย์ประสานงานประจำจังหวัด โดยศูนย์ประสานงานประจำจังหวัดมีอำนาจและหน้าที่รับแจ้งข้อมูลที่สงสัยว่าอาจเป็นข่าวปลอม เพื่อตรวจสอบและพิจารณาเนื้อหา รับรองข่าวปลอมสำหรับข้อมูลในความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัด เผยแพร่ข้อมูล ประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้ข้อมูล ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับข่าวปลอมในความรับผิดชอบของแต่ละจังหวัด และดำเนินการตามกฎหมายกับข่าวปลอมและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยประสานกับศูนย์ประสานงานการป้องกันปราบปรามและแก้ไขปัญหาการเผยแพร่ข้อมูลเท็จทางสื่อสังคมออนไลน์ประจำกระทรวง โดยให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดแต่งตั้งหรือมอบอำนาจให้ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐทำหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรับรองข่าวปลอม เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวปลอม และเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจและหน้าที่ดังกล่าว
3. เมื่อปรากฏว่ามีการเผยแพร่ข้อมูลเท็จหรือมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม หรือมีการเผยแพร่ข่าวปลอมในสื่อสังคมออนไลน์หรือในระบบคอมพิวเตอร์ที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน กระทบต่อความสงบเรียบร้อย หรือก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือก่อให้เกิดความเสียหายที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงหรือจังหวัดใด ให้เป็นหน้าที่ของศูนย์ประสานงานประจำกระทรวงหรือศูนย์ประสานงานประจำจังหวัดนั้น ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบและรับรองข่าวปลอมทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองข่าวปลอมและแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบโดยเร็ว ให้เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ข่าวปลอมดำเนินการแถลงข่าวทันทีที่พบว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอมและแจ้งกรมประชาสัมพันธ์ภายใน 1 ชั่วโมง และให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบและต้องจัดให้มีการร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนโดยเร็ว ทั้งนี้ หากเจ้าหน้าที่ดังกล่าวไม่ได้ดำเนินการตามที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ถือว่ากระทำผิดวินัย
4. กรณีข่าวปลอมใดที่เข้าข่ายหรือสมควรดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ให้เป็นหน้าที่ของข้าราชการ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้รับการแต่งตั้งให้ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบตามระเบียบนี้ แจ้งให้ ดศ. ดำเนินการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 และประกาศกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เรื่อง หลักเกณฑ์ ระยะเวลาและวิธีการปฏิบัติสำหรับการระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือผู้ให้บริการ พ.ศ. 2560
5. กำหนดให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบนี้ต้องกำหนดตัวชี้วัดและค่าเป้าหมายผลสัมฤทธิ์ของงานเพื่อการประเมินผลการดำเนินงานตามระเบียบนี้ โดยให้ ดศ. ทำหน้าที่ประเมินผลการดำเนินงานดังกล่าว
6. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นต้นสังกัดของสถานศึกษาทุกระดับการศึกษาและทุกประเภทการศึกษามีหน้าที่ดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารทางสื่อสังคมออนไลน์ให้กับเด็กและเยาวชน สร้างความตระหนักและความรู้เท่าทันข้อมูลข่าวปลอมทางสื่อสังคมออนไลน์ โดยการเพิ่มเนื้อหาในรายวิชาที่ทำให้ผู้เรียนรู้เท่าทันและตระหนักถึงอันตรายของข่าวปลอมและสื่อสังคมออนไลน์ที่มีผลกระทบต่อสังคม รวมทั้งจัดให้มีการวัดผลการเรียนดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
7. ค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการตามระเบียบนี้ ให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายของสำนักงานปลัด ดศ. โดยให้สำนักงบประมาณสนับสุนงบประมาณในการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานปลัด ดศ.
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2063