ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 03 February 2022 23:08
- Hits: 9295
ข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติ ดังนี้
1. รับทราบข้อสังเกตของคณะกรรมมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของสภาผู้แทนราษฎร และข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของวุฒิสภา ตามที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอ
2. ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.... ของสภาผู้แทนราษฎรไปพิจารณา หากเห็นควรปรับแก้ไขเหตุผลประกอบร่างพระราชบัญญัติฯ ให้ส่งสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติฯ ที่ปรับแก้ไขตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ เป็นเหตุผลของร่างพระราชบัญญัติในเรื่องนี้ในการประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
3. ให้กระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานหลักรับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาดังกล่าว ไปพิจารณาร่วมกับสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญ
1. ร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 เกี่ยวกับอายุการคุ้มครองลิขสิทธิ์ในงานภาพถ่าย โดยให้การคุ้มครองงานภาพถ่ายตลอดอายุผู้สร้างสรรค์และต่อไปอีก 50 ปี นับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย เพื่อให้สอดคล้องกับสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองมาตรการทางเทคโนโลยีข้อจำกัดความรับผิดของผู้ให้บริการ เพื่อสร้างกลไกความร่วมมือระหว่างผู้ให้บริการและเจ้าของลิขสิทธิ์ในการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรมบนสื่ออินเทอร์เน็ต และเพิ่มการกำหนดโทษสำหรับความผิดในการให้บริการ ผลิต ขาย หรือแจกจ่าย ซึ่งบริการ ผลิตภัณฑ์หรืออุปกรณ์ที่ทำให้มาตรการทางเทคโนโลยีไม่เกิดผล เพื่อให้การป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและอยู่ระหว่างดำเนินการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายต่อไป
2. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เห็นว่าเหตุผลตามบันทึกประกอบร่างพระราชบัญญัติฯ นี้ ยังมีขอบเขตแคบเกินไป โดยยังไม่ครอบคลุมถึงเรื่องการกำกับดูแลงานอันมีลิขสิทธิ์ จึงเห็นควรแก้ไขเพิ่มเติมเหตุผลตามบันทึกประกอบร่างพระราชบัญญัติฯ เพื่อให้การคุ้มครองงานอันมีลิขสิทธิ์มีประสิทธิภาพและทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคและสภาพสังคมในปัจจุบัน รวมทั้งมีข้อสังเกตเกี่ยวกับการพัฒนาระบบฐานข้อมูลลิขสิทธิ์ โดยควรสนับสนุนให้เกิดการนำทรัพย์สินทางปัญญาอื่นที่จะหมดอายุการคุ้มครองมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศไทย การกำหนดแนวทางหรือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการดำเนินคดีการละเมิดลิขสิทธิ์ การพิจารณาแก้ไขอัตราโทษขั้นต่ำในบทกำหนดโทษเรื่องอื่นๆ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้กฎหมายมีความสอดคล้องกันทั้งฉบับต่อไปในอนาคต การแก้ไขปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิของนักแสดงให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน การส่งเสริมให้เจ้าของลิขสิทธิ์เลือกใช้มาตรการทางเทคโนโลยีที่ไม่เป็นการปิดกั้นการใช้เทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการในการเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ และการสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัตินี้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2059