การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 03 February 2022 23:04
- Hits: 4303
การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการมอบอำนาจให้สภานโยบายฯ ทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองเรื่องการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา1 และมีคำสั่งให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาแทนคณะรัฐมนตรี โดยให้ถือว่าการอนุมัติและความเห็นชอบดังกล่าวเป็นมติของคณะรัฐมนตรี และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ ตามนัยมาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ตามที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สภานโยบายฯ) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
สภานโยบายฯ รายงานว่า
1. ด้วยบริบทโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การอุบัติขึ้นของวิกฤตการณ์ใหม่ และการพัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่ต่างมีนัยสำคัญและมีผลกระทบต่อแนวทางการจัดการศึกษาของสถาบันอุดมศึกษา เช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ รูปแบบวิถีชีวิตแบบหลายช่วง2 (Multistage life) และการเตรียมรองรับวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น ดังนั้น เพื่อให้ประเทศไทยมีกำลังคน ทั้งปริมาณและคุณภาพที่เพียงพอและสามารถตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในมิติต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับสำนักงานปลัดกระทรวง การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้จัดทำข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) ขึ้น โดยสภานโยบายฯ ในการประชุม ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2564 ได้พิจารณาข้อเสนอดังกล่าวและมีมติดังนี้
1.1 เห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐาน การอุดมศึกษา ซึ่งสามารถสรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
รายละเอียด |
หลักเกณฑ์ |
1) กลุ่มเป้าหมายที่จะจัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าว ได้แก่ สถาบันอุดมศึกษาหรือสถาบันการศึกษาอื่นทั้งของรัฐและเอกชน ซึ่งรวมถึงสถาบันที่อยู่ภายใต้สังกัดของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนอกสังกัด อว. ที่จัดการเรียนการสอนระดับอุดมศึกษาที่ต้องดำเนินการภายใต้มาตรฐานการอุดมศึกษา 2) เป็นการจัดการเรียนการสอนเพื่อนำไปสู่การให้ปริญญา ทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัญฑิตศึกษา รวมถึงการจัดการศึกษาแบบปริญญาที่มาจากการเทียบโอนการศึกษาและการเรียนรูที่ไม่มุ่งปริญญา3 (Non - degree) 3) ผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์นโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 4) การดำเนินการอาจทำได้ 2 ลักษณะ คือ อว. โดยความเห็นชอบของสภานโยบายฯ มีนโยบายให้สถาบันการอุดมศึกษาแห่งใดแห่งหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งดำเนินการ หรือสถาบันอุดมศึกษาที่มีความประสงค์เสนอเรื่องเข้ามาเพื่อขอดำเนินการ |
เงื่อนไข |
1) เป็นการผลิตบัณฑิตที่ไม่สามารถทำได้ด้วยข้อกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันได้หรือมีเหตุผลหรือความจำเป็นอย่างยิ่งที่สมควรยกเว้นมาตรฐานการอุดมศึกษาเพื่อให้เกิดนวัตกรรมการศึกษาขึ้น 2) ต้องให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์เชิงสมรรถนะที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง 3) สถาบันอุดมศึกษาต้องมีความพร้อมด้านการเงินและทรัพยากรในการจัดการศึกษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์การผลิตบัญฑิตตามที่คาดหวัง 4) ต้องมีการติดตามประเมินผลระหว่างการดำเนินงานเพื่อนำไปสู่การถอดบทเรียนการดำเนินงานเมื่อสิ้นสุดการดำเนินงาน 5) ต้องประกาศให้สาธารณชนและผู้เรียนรับทราบว่าเป็นหลักสูตรการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา |
วิธีการ |
สถาบันอุดมศึกษาจัดทำข้อเสนอการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา และเสนอเรื่องเข้ามาเพื่อดำเนินการ โดยระบุรายละเอียดในข้อเสนอ ดังนี้ 1) สภาพปัญหาและเหตุผลความจำเป็น พร้อมระบุข้อกำหนดมาตรฐานการอุดมศึกษาที่ต้องการ ขอยกเว้น 2) วัตถุประสงค์ 3) ผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นแก่ผู้เรียน ได้แก่ ความรู้และทักษะเชิงเทคนิค (Technical knowledge and skills) ความสามารถทางด้านสังคม (Soft skills) และลักษณะบุคคล (Character) 4) สถาบันอุดมศึกษาและคณะผู้รับผิดชอบ 5) รายละเอียดหลักสูตร 6) หน่วยงานร่วมดำเนินการ (สถาบันอุดมศึกษาอื่น ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม หน่วยงานในต่างประเทศ) และบทบาทความรับผิดชอบ 7) หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่คาดว่าจะเป็นผู้ใช้บัณฑิตจากการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา 8) ระยะเวลาการดำเนินการ 9) งบประมาณและแหล่งงบประมาณ 10) ความพร้อมด้านทรัพยากรในการจัดการศึกษา 11) การสำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต 12) กลไกและมาตรการในการกำกับ และการประกันคุณภาพการศึกษา 13) การดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเมื่อครบระยะเวลาแล้ว 14) ผลที่คาดว่าจะเกิดกับสถานอุดมศึกษา สถานประกอบการ หรือองค์กรที่ร่วมจัดการศึกษา |
งบประมาณดำเนินงาน |
งบประมาณประจำปีของสถาบันอุดมศึกษา หรือการขอรับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ แหล่งบริหารจัดการทุน หรือกองทุนหมุนเวียนต่างๆ เช่น โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย (Reinventing University) (อว.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม กองทุนหมุนเวียนภาครัฐที่มีพันธกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนระดับสูง รวมถึงงบประมาณสนับสนุนจากสถานประกอบการที่ร่วมจัดการศึกษา |
ผลที่คาดว่าจะได้รับ |
1) เกิดการผลิตบัณฑิตที่มีสมรรถนะตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรม และทันเวลากับการใช้งานของภาคอุตสาหกรรมที่มีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว 2) เกิดนวัตกรรมการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ตอบโจทย์รูปแบบวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้ประชาชนทุกช่วงวัยและทุกกลุ่มฐานะเศรษฐกิจสามารถเข้าถึงการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ 3) เกิดรูปแบบการจัดการศึกษาที่ยืดหยุ่น สามารถจัดการศึกษาให้แก่ผู้เรียนได้ แม้ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยหรือเกิดวิกฤติการณ์ทางสังคมและเศรษฐกิจ 4) เกิดการพลิกโฉมการผลิตกำลังคนของระบบอุดมศึกษาของประเทศ |
(สภานโยบายฯ ได้ประกาศข้อกำหนดสภานโยบายฯ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 ประกาศ ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564)
1.2 แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง ด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา เพื่อปฏิบัติหน้าที่แทนสภานโยบายฯ โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานกรรมการ ประธานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นเลขานุการ เป็นต้น โดยมีอำนาจหน้าที่ เช่น 1) กำหนดแนวทาง กลไก มาตรการเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการอุดมศึกษา 2) เสนอต่อรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องหรือคณะรัฐมนตรีให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือให้มีการกำหนดมาตรการและแรงจูงใจทางการเงิน การคลัง และสิทธิประโยชน์ เพื่อส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา และ 3) ให้ข้อเสนอแนะต่อสถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานของรัฐ และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักดันนวัตกรรมการอุดมศึกษา เป็นต้น
(สภานโยบายฯ ได้มีคำสั่งสภานโยบายฯ ที่ 3/2564 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมนวัตกรรมการอุดมศึกษา สั่ง ณ วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2564)
1.3 มอบหมาย สอวช. นำเรื่องตามข้อ 1.1 เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบในหลักการและมอบหมายให้สภานโยบายฯ พิจารณาให้สถาบันอุดมศึกษาหรือส่วนงานในสถาบันอุดมศึกษาจัดการศึกษาที่แตกต่างไปจากมาตรฐานการอุดมศึกษาและรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ทั้งนี้ ภายใต้หลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการ และกลไกที่สภานโยบายฯ กำหนด
2. จากข้อ 1 ประเทศไทยจึงต้องการระบบและมาตรฐานการอุดมศึกษาในกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องขยายหรือปรับปรุงข้อจำกัดของกฎ ระเบียบ และขั้นตอนการปฏิบัติในการพัฒนาหลักสูตร และการจัดการเรียนการสอนแบบเดิม เพื่อให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถจัดการศึกษาและพัฒนากำลังคนที่สอดคล้องกับบริบทการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและหลากหลาย โดยมีข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
2.1 การจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษาไทยจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนให้ทันกับบริบทที่เปลี่ยนไป และควรมีการทดลองใช้นวัตกรรมการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่อาจยังไม่มีมาตรฐานการอุดมศึกษาในปัจจุบันมารองรับ เพื่อทำให้เกิดการสร้างมาตรฐานอุดมศึกษาในกระบวนทัศน์แบบใหม่ และนำไปสู่การพัฒนากำลังคนที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมยุคใหม่ได้มากขึ้น
2.2 มาตรฐานการอุดมศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบันมีกฎระเบียบบางประการที่เป็นข้อจำกัดต่อการจัดการศึกษารูปแบบใหม่ เช่น การจำกัดจำนวนหน่วยกิตในการเทียบโอนจากการศึกษานอกระบบ เข้าสู่การศึกษาในระบบซึ่งขัดต่อการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและระบบคลังหน่วยกิต4 การกำหนดคุณสมบัติของผู้สอนและผู้รับผิดชอบหลักสูตรและการจำกัดจำนวนชั่วโมงสอนของอาจารย์พิเศษ ซึ่งจะไม่เอื้อต่อการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้การผลิตกำลังคนให้ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบัน อว. กำลังดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานการอุดมศึกษา โดยเป็นการปรับปรุงกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ กฎกระทรวงว่าด้วยด้านมาตรฐานการจัดการระดับอุดมศึกษา กฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานหลักสูตรระดับอุดมศึกษา กฎกระทรวงว่าด้วยด้านมาตรฐานเกณฑ์ในการขอตำแหน่งทางวิชาการ และกฎกระทรวงว่าด้วยมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษาเพื่อให้เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมการผลิตบัณฑิตมากขึ้นและจะมีผลกับสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งต่อไป ซึ่งในระหว่างที่จัดทำกฎกระทรวงใหม่ดังกล่าว หากสถาบันอุดมศึกษาต้องการพัฒนานวัตกรรมการอุดมศึกษาโดยการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาก็จะสามารถดำเนินการได้ภายใต้มาตรา 69 แห่งพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นการยกเว้นมาตรฐานการอุดมศึกษาสำหรับสถาบันอุดมศึกษาที่ได้รับอนุมัติจัดการศึกษาในลักษณะดังกล่าวเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานการอุดมศึกษาใหม่
2.3 สภานโยบายฯ ได้ออกข้อกำหนด เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา พ.ศ. 2564 (ตามข้อ 1.1) เพื่อเป็นหลักเกณฑ์และแนวทางให้สถาบันที่จัดการอุดมศึกษา ระดับปริญญาและระดับต่ำกว่าปริญญาทั้งที่เป็นของรัฐและเอกชน ทั้งในสังกัดและนอกสังกัด อว. หรือส่วนงานภายในของสถาบันอุดมศึกษาใช้ในการเสนอขอจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาได้ โดยจะต้องเป็นการจัดการศึกษาเพื่อนำไปสู่การให้ปริญญาทั้งระดับอนุปริญญา ปริญญาตรี และบัณฑิตศึกษา รวมถึงการจัดการศึกษาแบบปริญญาที่มาจากการเทียบโอนการศึกษาและการเรียนรู้ที่ไม่มุ่งปริญญา และมีเป้าหมายเพื่อผลิตบัณฑิตที่ตอบโจทย์นโยบายหรือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ และต้องให้ความสำคัญกับผลสัมฤทธิ์เชิงสมรรถนะและทักษะที่เกิดขึ้นแก่ผู้เรียนอย่างแท้จริง
2.4 การดำเนินการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาจะมีกลไกและมาตรการในการกำกับติดตามและประเมินผล และพัฒนาแนวทางการประกันคุณภาพการศึกษาที่สอดคล้องกับการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา และมีการติดตามตรวจสอบและประเมินผลโดยคณะ ผู้ประเมินผลอิสระ
2.5 เมื่อการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษาดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว อว. มีหน้าที่จัดทำรายงานผลการจัดการศึกษา ข้อเสนอแนะการปรับปรุงแก้ไขมาตรฐานการอุดมศึกษา และข้อเสนอเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมการอุดมศึกษา เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงมาตรฐานการอุดมศึกษาต่อไป
_________________________
1 มาตรฐานการอุดมศึกษาเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการส่งเสริม กำกับดูแล ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผล และประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งมาตรฐานการอุดมศึกษาจะครอบคลุมด้านผลลัพธ์ผู้เรียน การวิจัยและนวัตกรรม การบริการวิชาการแก่สังคม ศิลปวัฒนธรรมและความเป็นไทย และการบริหารจัดการ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายสำคัญ คือ การจัดการศึกษาเพื่อให้ผู้สำเร็จการศึกษาระดับอุดมศึกษามีคุณลักษณะของคนไทย ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
2 แต่เดิมช่วงวิถีชีวิตของคนแบ่งได้เป็น 3 ช่วง (Three - stage life) คือ เริ่มจากการเรียน ทำงาน และเกษียณ แต่ปัจจุบันความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี วิวัฒนาการทางการแพทย์ รวมถึงสภาพแวดล้อมของสังคมและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไปส่งผลให้ผู้คนมีอายุเฉลี่ยที่ยาวขึ้น มีช่วงเวลาการทำงานยาวขึ้น ช่วงชีวิตของคนแต่ละช่วงอาจมีทั้งการเรียน การทำงาน และพักผ่อนผสมผสานกัน รวมทั้งต้องเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองและสร้างทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ ส่งผลให้วิถีชีวิตของคนเปลี่ยนแปลงมาสู่รูปแบบวิถีชีวิตแบบหลายช่วง (Multistage Life)
3 การเรียนรู้ที่ไม่มุ่งปริญญา (Non - degree) คือ หลักสูตรระยะสั้นที่จัดการเรียนการสอนโดยไม่ได้มุ่งไปที่การรับปริญญา ซึ่งอาจจัดการเรียนการสอนในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น หลักสูตรแบบชุดวิชา หลักสูตรแบบชุดการเรียนรู้ หลักสูตรการฝึกอบรม เป็นต้น เพื่อรองรับการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong learning) และส่งเสริมให้การเรียนรู้ให้สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเน้นการเพิ่มทักษะหรือการเปลี่ยนทักษะ (Upskill/Reskill) เพื่อพัฒนาให้คนมีทักษะและความรู้ที่หลากหลาย ยืดหยุ่น และสามารถปรับตัวรองรับความต้องการของตลาดแรงงานที่ถูกกระทบด้วยภาวะวิกฤตต่างๆ ได้
4 ระบบคลังหน่วยกิต คือ ระบบและกลไกในการเทียบโอนความรู้ความสามารถและหรือสมรรถนะที่ได้จากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และจากประสบการณ์บุคคล มาเก็บสะสมไว้ในคลังหน่วยกิตของสถาบันอุดมศึกษา
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2057