WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนธันวาคม 2564

GOV

สรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนธันวาคม 2564

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบสรุปภาพรวมสถานการณ์ราคาสินค้าและบริการประจำเดือนธันวาคม 2564 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

          สาระสำคัญ และข้อเท็จจริง 

          1. สถานการณ์ราคาสินค้าและบริการเดือนธันวาคม 2564 ดังนี้ 

          ดัชนีราคาผู้บริโภค หรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2564 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.17 (YoY) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้นร้อยละ 2.71 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่สูงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐ ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ ราคาผักสดยังอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื้อสุกรและไข่ไก่ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรปรับเพิ่มตามค่าบริหารจัดการ โรคระบาดในสุกร นอกจากนี้ ปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากผู้ประกอบการรายย่อยลดปริมาณการเลี้ยงสุกร รวมทั้ง น้ำมันพืช กับข้าวสำเร็จรูปและข้าวราดแกง ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนและวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียมการศึกษายังคงปรับลดลง ส่วนสินค้าอื่นๆ อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปริมาณผลผลิต

          เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนนี้ สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญหลายตัว ด้านอุปสงค์ ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งการจัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้ารวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดีและต่อเนื่อง ด้านอุปทาน ได้แก่ อัตราการใช้กำลังการผลิตและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 มาอยู่ที่ระดับ 47.0 จากระดับ 45.2 ในเดือนก่อนหน้า รวมทั้งดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างและดัชนีราคาผู้ผลิต ที่สูงขึ้นร้อยละ 8.9 และ 7.7 ตามลำดับ

          เงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ในเดือนนี้ทรงตัวที่ร้อยละ 0.29 (YoY) เท่ากับเดือนก่อน เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 ลดลงร้อยละ 0.38 (MoM) ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 2.42 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าสูงขึ้นร้อยละ 1.80 (QQ) และเฉลี่ยทั้งปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 1.23 (AOA)

 

sme 720x100

BANPU 720x100

 

          2. สรุปสถานการณ์เงินเฟ้อปี 2564

          เงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2564 สูงขึ้นร้อยละ 1.23 ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วงร้อยละ 0.8-1.2 และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้นร้อยละ 0.23 ซึ่งขยายตัวเท่ากับปีก่อน ปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในปีนี้ ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิงจากอุปทานที่ไม่สมดุลกับอุปสงค์ของโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันสูงขึ้น ประกอบกับราคาผักสดเพิ่มสูงขึ้น จากปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และผลผลิตที่ต่ำกว่าปีก่อน ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผลไม้สด จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวลง รวมถึงผลผลิตมีปริมาณมากเมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่งผลให้ค่าสาธารณูปโภค ค่าเล่าเรียนและค่าธรรมเนียม การศึกษาลดลง ส่วนหมวดอื่นๆ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ เงินเฟ้อดังกล่าวชี้ว่า สถานการณ์ด้านราคาสินค้าและบริการของประเทศตลอดทั้งปี 2564 ยังอยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ สอดคล้องกับปัจจัยด้านอุปทานและด้านอุปสงค์

          3. แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป ปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศจะได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การผลิต และอุปสงค์ด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ส่งผลดีต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชน สำหรับอุปทานที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต การขนส่ง เงินบาทที่อ่อนค่าลง และการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลต่อภาคการผลิตและสินค้าในหมวดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด-19 ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 กุมภาพันธ์ 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A2048

 Click Donate Support Web

EXIM One 720x90 C JGC 720x100TU720x100QIC 720x100

ais 720x100NHA720x100

เจนเนอราลี่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!