ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 03 February 2022 21:45
- Hits: 3373
ผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอผลการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะว่าด้วยปรอท สมัยที่ 4 ในรูปแบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 1 - 5 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งสาธารณรัฐอินโดนีเซีย (อินโดนีเซีย) เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม โดยมีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยและผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม [คณะรัฐมนตรีมีมติ (25 ตุลาคม 2564) รับทราบองค์ประกอบคณะผู้แทนไทย และเห็นชอบกรอบการเจรจาและท่าทีของไทยสำหรับการประชุมฯ ตามที่ ทส. เสนอ] สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สาระสำคัญที่ผ่านการรับรองในมติข้อตัดสินใจของการประชุมฯ รูปแบบออนไลน์
1.1 กำหนดประชุมรัฐภาคีอนุสัญญามินามาตะฯ สมัยที่ 4 ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง ระหว่างวันที่ 21 - 25 มีนาคม 2565 ณ เมืองบาหลี อินโดนีเซีย โดยอินโดนีเซียเสนอว่า เนื่องจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อาจมีความจำเป็นต้องจำกัดจำนวนของคณะผู้แทนเพียง 4 คน รวมถึงจำกัดจำนวนผู้สังเกตการณ์ด้วย ซึ่งที่ประชุมเสนอให้จัดการประชุมในรูปแบบผสม คือ รูปแบบออนไลน์และรูปแบบการประชุมด้วยตัวเอง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ และอำนวยความสะดวกให้ผู้แทนภาคีสมาชิกที่ไม่สามารถเข้าร่วมการประชุมฯ ได้ด้วยตนเอง ซึ่งอินโดนีเซียจะพิจารณาเตรียมการประชุมในรูปแบบผสมและยินดีต้อนรับขนาดของคณะผู้แทนเพิ่มขึ้นหากเป็นไปได้
1.2 เห็นชอบเผนงานและงบประมาณของสำนักเลขาธิการอนุสัญญามินามาตะฯ เฉพาะปี ค.ศ. 2022 โดยไทยต้องจ่ายค่าภาคีประจำปี พ.ศ. 2565 เข้าสู่กองทุน General trust fund จำนวน 8,862 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการจ่ายค่าภาคีในรูปแบบ General growth และมีกำหนดระยะเวลาชำระค่าภาคีระหว่างวันที่ 1 มกราคม - 31 ธันวาคม 2565 ทั้งนี้ ในส่วนของแผนงานและงบประมาณของสำนักเลขาธิการฯ ปี ค.ศ. 2023 ยังไม่ได้ข้อสรุปและจะนำไปหารือในการประชุมฯ ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเองต่อไป
2. สาระสำคัญที่มีความก้าวหน้าในมติข้อตัดสินใจของการประชุมฯ ในรูปแบบออนไลน์และ จะนำไปหารือต่อในการประชุมฯ ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเองต่อไป
2.1 กรอบการดำเนินงานสำหรับการประเมินความมีประสิทธิผลครั้งแรกของอนุสัญญามินามาตะฯ ที่เสนอโดยราชอาณาจักรนอร์เวย์และแคนาดา หลายภาคีสมาชิกให้ความเห็นว่ากรอบการดำเนินงานฯ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการปรึกษาหารืออย่างไม่เป็นทางการต่อเนื่องล่วงหน้าก่อนการประชุมฯ ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง ทั้งยังมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องบรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับกรอบการดำเนินงานสำหรับการประเมินความมีประสิทธิผลตามบทบัญญัติของอนุสัญญามินามาตะฯ ที่กำหนดให้เริ่มดำเนินการภายในเดือนสิงหาคม 2566
2.2 ร่างคำแนะนำสำหรับการกรอกรายงานระดับชาติของสำนักเลขาธิการอนุสัญญามินามาตะฯ ที่จะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีสมาชิกในการจัดทำและส่งรายงานระดับชาติฉบับสมบูรณ์ ซึ่งมีกำหนดให้จัดส่งภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2564 ผ่านระบบออนไลน์
2.3 การสนับสนุนงบประมาณของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ในรอบที่ 8 ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 - 30 มิถุนายน 2569 สามารถปรับให้เหมาะสมกับประเด็นการสนับสนุนใหม่ที่ได้รับจากที่ประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศด้านสารเคมี และมีข้อสังเกตว่างบประมาณที่จัดสรรให้กับการแก้ปัญหามลพิษด้านสารเคมีเพียงร้อยละ 15 ของเงินสนับสนุนภายใต้กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกยังไม่เพียงพอ
3. อินโดนีเซียจะนำเสนอปฏิญญาบาหลีว่าด้วยการต่อต้านการค้าปรอทอย่างผิดกฎหมายทั่วโลก (Bali declaration on combating global illegal trade of mercury) ในการประชุมฯ ในรูปแบบการประชุมด้วยตนเอง โดยมีสาระสำคัญคือการต่อต้านการค้าปรอทอย่างผิดกฎหมายทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกนำไปใช้ในการทำเหมืองแร่ทองคำพื้นบ้านและขนาดเล็กแม้มีข้อห้ามอย่างเป็นทางการในหลายประเทศ เพื่อให้เกิดความตระหนักและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศให้เกิดการต่อต้านการค้าปรอทที่ไม่ถูกต้องดังกล่าว
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 กุมภาพันธ์ 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A2044