WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 10

GOV4 copy

ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 10

          คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ ดังนี้

          1. รับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 10 

          2. มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาเพื่อเตรียมการเจรจาในส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยให้คำนึงถึงประโยชน์และผลกระทบต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนยึดท่าทีตามกรอบการเจรจาความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา ของประเทศไทย และให้ พณ. รับความเห็นของกระทรวงวัฒนธรรมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

          สาระสำคัญของเรื่อง

          พณ. รายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้มอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสินิตย์ เลิศไกร) เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-แคนาดา ครั้งที่ 10 เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเนการาบรูไนดารุสซาลามในฐานะประธานอาเซียนปี 2564 เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผ่านระบบการประชุมทางไกล สรุปได้ ดังนี้

          1. การหารือเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) และการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยให้ความสำคัญกับการเปิดตลาดการค้าและการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมความร่วมมือด้านการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานการค้าดิจิทัล การพัฒนาที่ยั่งยืน และความร่วมมือในระดับโลกเพื่อควบคุมการระบาด รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพอย่างเท่าเทียม ทั้งนี้ ไทยได้เน้นย้ำความสำคัญของระบบการค้าที่เปิดกว้าง เป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ และสนับสนุนบทบาทขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) เพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับวัคซีนและยาที่จำเป็น รวมถึงส่งเสริมความโปร่งใสและกติกาทางการค้าที่เป็นธรรมสำหรับกลุ่มประเทศ นอกจากนี้ ที่ประชุมได้กล่าวขอบคุณแคนาดาที่บริจาคอุปกรณ์ทางการแพทย์และเงินให้แก่กองทุนของอาเซียนเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19

 

EXIM One 720x90 C J

 

          2. การหารือกับสภาธุรกิจแคนาดา-อาเซียน ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอแนะเชิงนโยบายของสภาธุรกิจแคนาดา-อาเซียน ที่ให้ความสำคัญกับการเปิดเสรีทางการค้า โดยเฉพาะการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา การเปิดพรมแดนให้นักธุรกิจสามารถเดินทางระหว่างกัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืน การส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าดิจิทัลและการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ไทยได้แสดงความยินดีที่สภาธุรกิจแคนาดา-อาเซียนให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของไทยที่อยู่บนพื้นฐานของเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy)

          3. การหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-แคนาดา ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการดำเนินงานภายใต้แผนงานความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียน-แคนาดา โดยเฉพาะการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์อาเซียนในการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Small and Medium Enterprises: SMEs) นอกจากนี้ แคนาดามีความพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค โดยเฉพาะการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับประเด็นการค้าใหม่ๆ เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ เศรษฐกิจดิจิทัล การค้าบริการ การมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการจัดทำความตกลงการค้าเสรีของแคนาดา ทั้งนี้ แคนาดามีแผนที่จะจัดการหารือด้านนโยบาย ครั้งที่ 5 ในช่วงสิ้นปี 2564* เพื่อเตรียมความพร้อมในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา

          4. การจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา

                 ที่ประชุมเห็นชอบการเปิดเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา และมอบหมายให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจเร่งจัดทำแผนงานและเริ่มการเจรจาโดยเร็ว โดยเบื้องต้นกำหนดให้สรุปผลการเจรจาภายใน 2 ปี รวมทั้งเห็นชอบ Reference Paper [ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (9 พฤศจิกายน 2564) เห็นชอบ] เพื่อใช้เป็นแนวทางในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีร่วมกัน โดยไม่ได้เป็นการผูกมัดผลการเจรจาที่จะตกลงร่วมกันต่อไป

 

GC 720x100

 

          5. พณ. คาดว่าอาเซียนและแคนาดาจะสามารถสรุปแผนงานเจรจาและเริ่มการเจรจารอบแรกได้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ทั้งนี้ ได้จัดทำขอบเขตสาระเบื้องต้นที่จะเจรจาในการจัดทำความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา พร้อมรายชื่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ ดังนี้

 

ประเด็น

 

สาระสำคัญ

 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

ภาพรวมการเจรจา

 

- อำนวยความสะดวกและขยายการค้าการลงทุน ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม ลดอุปสรรคทางการค้า รวมทั้งเปิดเสรีทางการค้าอย่างครอบคลุม และเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

- ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (Micro, Small and Medium Enterprises: MSME)

- ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีและความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มผลิตภาพและนวัตกรรม รวมถึงส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทาน

 

พณ.

การค้าสินค้า

 

- ลดอัตราภาษีสำหรับสินค้าต้นทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยคำนึงถึงความอ่อนไหวและระดับการพัฒนาที่แตกต่างกันระหว่างอาเซียนและแคนาดา ตลอดจนสมาชิกอาเซียน

- มีกลไกที่มุ่งป้องกันและแก้ไขผลกระทบจากข้อจำกัดการค้าที่ไม่ใช่ภาษี มาตรการและการปรับเปลี่ยนตารางการลดภาษีเป็นรูปแบบใหม่ของระบบพิกัดอัตราภาษี (HS Code)

 

- พณ.

- กระทรวงการคลัง (กค.)

- กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) 

- กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)

มาตรการปกป้องและเยียวยาทางการค้า

 

ยืนยันสิทธิและภาระผูกพันของประเทศที่เข้าร่วมภายใต้มาตรา 5 ของแกตต์ 1994 (มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุน) และความตกลงว่าด้วยการปกป้องของ WTO

 

พณ.

พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า

 

- คำนึงถึงมาตรฐานและแนวทางปฏิบัติขององค์การศุลกากรโลกและองค์การระหว่างประเทศอื่นที่เกี่ยวข้องในการเพิ่มประสิทธิภาพและการบริหารกระบวนการทางศุลกากรอย่างคุ้มค่า

- กำหนดมาตรฐานของขั้นตอนทางศุลกากรที่เกี่ยวกับการค้าเพื่อให้มีความสอดคล้อง คาดการณ์ได้ และมีความโปร่งใสในการดำเนินการ และการบริหารกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงกระบวนการทางศุลกากร

 

- กค.

- พณ.

อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า

 

- ตระหนักถึงกลไกต่างๆ ที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนจัดการกฎระเบียบที่มากขึ้นและขจัดอุปสรรคที่ไม่จำเป็นต่อการค้า

- เพิ่มความโปร่งใส เสริมสร้างความเข้มแข็ง ความร่วมมือ รวมถึงการทำงานร่วมกันเพื่อสร้างขีดความสามารถ และการหารือทางเทคนิคผ่านกลไกที่เหมาะสมและอำนวยความสะดวกทางการค้า

 

- อก

- สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

- กษ

- กระทรวงสาธารณสุข

การลงทุน

 

มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมด้านการลงทุนที่เสรี เอื้ออำนวยและแข่งขันได้อย่างยั่งยืนระหว่างประเทศที่เข้าร่วม รวมถึงกฎระเบียบเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน โดยไม่จำกัดสิทธิของรัฐในการกำกับดูแลการลงทุนและนักลงทุน ทั้งนี้ การเจรจาจะครอบคลุม 4 องค์ประกอบ ได้แก่ การส่งเสริม การคุ้มครอง การอำนวยความสะดวก และการเปิดเสรี

 

- พณ

- กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) 

- สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) 

- สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.)

แรงงาน

 

การค้าและการลงทุนจะไม่เป็นการลดทอนสิทธิในการคุ้มครองแรงงาน ซึ่งการส่งเสริมสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐานเป็นการสนับสนุนการเติบโตอย่างเท่าเทียมและมั่นคง

 

- กระทรวงแรงงาน

สิ่งแวดล้อม

 

ส่งเสริมธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อมและการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมโลก

 

- กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

- กษ.

พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์

 

อำนวยความสะดวกด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และเป็นช่องทางการค้าและขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุม โดยเฉพาะสำหรับ MSME

 

- พณ

- กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

- กค.

นโยบายการแข่งขันทางการค้า

 

มุ่งส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส การคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงการเคารพในสิทธิของอธิปไตยของประเทศที่เข้าร่วมเจรจาในการพัฒนา บริหารจัดการและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายการแข่งขันทางการค้า

 

- สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า

- สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค

MSME

 

ความสนใจ ความต้องการ และความท้าทายที่ MSME เผชิญในการทำธุรกิจในตลาดต่างประเทศ รวมถึงความจำเป็นในการลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ และเพื่ออำนวยความสะดวกในการกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้งหลังจากการปิดกิจการอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดใหญ่

 

- สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐ

 

มีกฎเกณฑ์และขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส ในการระงับข้อพิพาทในรูปแบบต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญกาและข้อกังวลเกี่ยวกับการตีความและการดำเนินการตามความตกลงการค้าเสรี

 

- กต

- สคก.

- สำนักงานอัยการสูงสุด

- พณ.

ประเด็นอื่นๆ

 

- อาจให้มีบทบัญญัติที่จะช่วยให้มั่นใจว่าภาคส่วนต่างๆ ในสังคมจะสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดา

- การพิจารณาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับประเด็นด้านวัฒนธรรมในความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-แคนาดาเพิ่มเติมต่อไป

 

- พณ

- กต

- กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

- กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.)

___________________________

* จากการประสานข้อมูลเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2565 พบว่า แคนาดายังไม่มีการจัดการหารือด้านนโยบาย ครั้งที่ 5 โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2565

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 1 กุมภาพันธ์ 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A2041

 Click Donate Support Web

TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100NHA720x100

เจนเนอราลี่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!