ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดให้กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การกำหนดให้กิจการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับยกเว้นภ
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 January 2022 12:11
- Hits: 9892
ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดให้กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (การกำหนดให้กิจการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้)
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการกำหนดให้กิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ กค. เสนอว่า
1. ปัจจุบันผู้ประกอบการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 585) พ.ศ. 2558 แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 239) พ.ศ. 2534 และไม่มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายกำหนดเรื่องการขอจดภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ ในขณะที่ผู้ประกอบการขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของกระดาษ ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามบทบัญญัติในมาตรา 81/3 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
2. ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในการเสียภาษีระหว่างผู้ประกอบการขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของกระดาษ และผู้ประกอบการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต กค. พิจารณาแล้วเห็นสมควรกำหนดเพิ่มเติมให้กิจการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้ เพื่อให้เหมือนกับกิจการขายหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของกระดาษ
3. กค. ได้พิจารณาการสูญเสียรายได้และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับตามมาตรา 27 และมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยเห็นว่าไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐ เนื่องจากเป็นการกำหนดให้ผู้ให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มมีสิทธิขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ไม่ใช่การลดอัตราภาษีหรือยกเว้นภาษี จึงไม่ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้ของรัฐแต่อย่างใด แต่อาจจะทำให้รายได้ภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ไม่สามารถประมาณการรายได้ที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากการขอจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มขึ้นกับความสมัครใจของผู้ประกอบการ
สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา
กำหนดให้กิจการให้บริการหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หรือตำราเรียนที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มีสิทธิแจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากร เพื่อขอจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1618