ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ….
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 January 2022 12:09
- Hits: 9719
ร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. ….
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติมาตรการป้องกันการฟ้องคดีปิดปากในความผิดฐานทุจริต ต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นกระทรวงยุติธรรม สำนักงาน ก.พ. สำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานศาลปกครอง และสำนักงานอัยการสูงสุดไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอรัฐสภาต่อไป และให้แจ้งประธานรัฐสภาทราบด้วยว่าร่างพระราชบัญญัตินี้ เป็นร่างพระราชบัญญัติที่จะตราขึ้นเพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามความในร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติฯ ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ เป็นการกำหนดกลไกการคุ้มครองประชาชนที่ถูกฟ้องคดีปิดปากอันเนื่องจากการแสดงความคิดเห็น การให้ถ้อยคำ การแจ้งเบาะแสหรือข้อมูล หรือการจัดทำคำร้องหรือคำกล่าวหา เกี่ยวกับการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐหรือบุคคลใดอันเป็นการสอบสวน การตรวจสอบ หรือการไต่สวนในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ เพื่อให้เกิดการบังคับใช้อย่างบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรม หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงหน่วยงานที่มีหน้าที่และอำนาจเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) กิจกรรมปฏิรูปที่ 2 “การพัฒนาการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและพัฒนาระบบคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ” ซึ่งมีเป้าหมายของกิจกรรมปฏิรูปคือการมีกฎหมายป้องกันการฟ้องปิดปาก อันจะทำให้การป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ทั้งแก่ประเทศ สังคม และประชาชน
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดบทนิยาม “การฟ้องคดีปิดปาก” หมายความว่า การนำกระบวนการยุติธรรมด้วยวิธีการเสนอข้อหาต่อศาล ไม่ว่าจะเป็นทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางปกครอง รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับคดีเดิมที่ได้มีการเสนอข้อหาต่อศาลไว้ก่อนแล้ว ซึ่งกระทำในลักษณะของการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบบุคคลใด หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ มาใช้เป็นเครื่องมือ โดยมีวัตถุประสงค์หรือความมุ่งหมายเพื่อข่มขู่ ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น หรือเอาผิดกับบุคคลใดอันเนื่องมาจากบุคคลนั้นได้แสดงความคิดเห็น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล การจัดทำคำร้องหรือคำกล่าวหาเกี่ยวกับการทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติมิชอบ หรือเพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกป้องประโยชน์สาธารณะโดยสุจริต และให้หมายความรวมถึงการเริ่มต้นคดีโดยการร้องทุกข์ หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนตามกฎหมาย และการกล่าวหาต่อผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการทางวินัยหรือดำเนินคดีปกครองกับผู้ ถูกฟ้องดคีด้วย
2. กำหนดให้การดำเนินคดีหรือการฟ้องคดี ในลักษณะดังต่อไปนี้เป็นการฟ้องคดีปิดปาก
2.1 การดำเนินคดีหรือการฟ้องคดีซึ่งมีสาเหตุอันเนื่องมาจากกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้แสดงความคิดเห็น ให้ถ้อยคำ แจ้งเบาะแสหรือข้อมูล จัดทำคำร้องหรือคำกล่าวหาเกี่ยวกับการกระทำที่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติมิชอบ หรือเพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการปกป้องประโยชน์สาธารณะโดยสุจริต และ
2.2 การดำเนินคดีหรือการฟ้องคดีอันมีลักษณะของการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้ง หรือเอาเปรียบผู้ถูกดำเนินคดี หรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโชน์ที่พึงได้โดยชอบ หรือเพื่อใช้ในการข่มขู่ ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น การต่อรองหรือยุติการดำเนินคดี
3. กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินคดีอาญาในการฟ้องคดีปิดปาก โดยกำหนดให้ในกรณีที่ความปรากฏต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการ หรือผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าการดำเนินคดีหรือการฟ้องคดี อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะของการฟ้องคดีปิดปากตามพระราชบัญญัตินี้ ให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมีอำนาจตรวจสอบ สอบสวน หรือทำความเห็นในคดี
4. กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการทางวินัย ทางปกครอง หรือทางแพ่ง เกี่ยวกับการฟ้อง คดีปิดปาก ดังนี้
4.1 ในกรณีที่ความปรากฏต่อเจ้าหน้าที่หากมีการดำเนินการทางวินัย หรือทางปกครองเกี่ยวกับการฟ้องคดีปิดปาก หรือผู้ถูกฟ้องคดีเห็นว่าการดำเนินการทางวินัย หรือทางปกครอง อาจเข้าข่ายเป็นลักษณะของการฟ้องคดีปิดปาก ให้เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบมีอำนาจตรวจสอบ สอบสวน หรือไต่สวนข้อเท็จจริง เพื่อดำเนินการเสนอผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจจัดทำคำสั่งทางปกครองพิจารณาว่าการดำเนินการทางวินัยหรือทางปกครองนั้นเป็นหรือไม่เป็นการฟ้องคดีปิดปาก
ในการพิจารณาทำความเห็นที่เป็นเหตุของการฟ้องคดีปิดปาก ในคดีปกครอง ในชั้นจัดทำความเห็นของเจ้าหน้าที่ว่าเป็นหรือไม่เป็นการฟ้องคดีปิดปาก ให้ผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีมีสิทธิอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งหรือความเห็นของเจ้าหน้าที่นั้นไปยังผู้มีอำนาจ พิจารณาอุทธรณ์ตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นได้
4.2 ในกรณีที่มีการฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีในทางแพ่งต่อศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี เป็นคดีละเมิดหรือคดีอื่นที่เกี่ยวกับการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีอันเนื่องมาจากการฟ้องคดีปิดปาก เพื่อขอให้ชดใช้ค่าเสียหาย ค่าสินไหมทดแทน หรือขอให้ยุติการกระทำบางอย่างของผู้ถูกฟ้องคดี ให้ศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนั้น พิจารณาในเบื้องต้นก่อนว่าคดีดังกล่าวเป็นหรือไม่เป็นการฟ้องคดีปิดปาก และหากศาลเห็นว่าเป็นการฟ้องคดีปิดปาก ให้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำฟ้อง ยกฟ้อง หรือมีคำสั่งตามที่เห็นสมควร
5. กำหนดหลักเกณฑ์การคุ้มครองผู้ถูกฟ้องคดีและการพิจารณาคดีของศาลในการฟ้องคดีปิดปาก โดยกำหนดให้ศาลมีอำนาจเรียกคู่ความหรือเรียกให้หน่วยงานหรือบุคคลใดมาให้ถ้อยคำ หรือชี้แจงข้อเท็จจริง หรือให้ความเห็น หรือดำเนินการอื่นใด เพื่อประโยชน์แห่งการพิจารณคดี รวมทั้งมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ท. พนักงานสอบสวน หรือหน่วยงานหรือบุคคลใดที่เกี่ยวข้องตรวจสอบหรือรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติม โดยศาลมีอำนาจออกคำสั่งเพื่อให้ความคุ้มครองผู้ถูกฟ้องคดีได้ตามที่ศาลเห็นสมควร และในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้รับฟ้องไว้พิจารณาพิพากษา ศาลอาจใช้ดุลพินิจในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวผู้ถูกฟ้องคดีโดยไม่มีประกัน หรือหลักประกันก็ได้
6. กำหนดให้ในการดำเนินคดีหรือการฟ้องคดีปิดปาก ให้เจ้าหน้าที่นำความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ท. พนักงานสอบสวน และผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน แล้วแต่กรณี มาประกอบการพิจารณาตามหน้าที่และอำนาจของตน ไม่ว่าจะเป็นคุณหรือเป็นโทษกับคู่กรณี และให้ถือว่าความเห็นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
7. กำหนดให้บุคคลที่ถูกฟ้องคดีปิดปากอาจยื่นคำขอรับการช่วยเหลือต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ โดยในการขอรับความช่วยเหลือให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. กำหนด
8. กำหนดให้ในระหว่างการดำเนินการให้ความช่วยเหลือแก่บุคคลผู้ถูกฟ้องคดีปิดปาก หากบุคคลดังกล่าวฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือเงื่อนไขที่กำหนดไว้โดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือพฤติการณ์แห่งคดีเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีปิดปากไม่สมควรได้รับความคุ้มครองช่วยเหลืออีกต่อไป คณะกรรมการ ป.ป.ช. อาจพิจารณายุติหรือระงับการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือ หรือยกเลิกมาตรการในการให้ความคุ้มครองช่วยเหลือบุคคลดังกล่าวก็ได้
9. กำหนดบทกำหนดโทษ
9.1 กำหนดให้ในกรณีที่มีการฟ้องคดีปิดปากตามพระราชบัญญัตินี้ โดยที่ผู้ฟ้องคดีมีสถานะเป็นเจ้าพนักงานของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ตามกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคลสำหรับเจ้าพนักงานของรัฐนั้น
ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุว่าการฟ้องคดีมีลักษณะเป็นการฟ้องคดีปิดปาก และผู้ฟ้องคดีเป็นเจ้าพนักงานของรัฐ ให้ถือว่าการกระทำของเจ้าพนักงานของรัฐนั้นเป็นความผิดทางวินัยหรือเป็นเหตุแห่งการถอดถอนออกจากตำแหน่งด้วย
9.2 กำหนดให้ผู้ใดกระทำการโดยไม่สุจริตได้ยื่นฟ้องคดีปิดปากในลักษณะเพื่อกลั่นแกล้งบุคคลให้ต้องรับโทษทางอาญา หรือได้นำความอันเป็นเท็จยื่นฟ้องต่อศาลเป็นคดีอาญา หรือเข้าลักษณะเป็นการฟ้องคดีเพื่อต่อรองหรือข่มขู่โดยมุ่งหวังให้การสอบสวน การตรวจสอบ หรือการไต่สวนตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือตามกฎหมายอื่น ต้องยุติลง ให้ถือว่าการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐานขัดขวางกระบวนยุติธรรมตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเจ้าพนักงานของรัฐเป็นผู้กระทำการ ต้องระวางโทษเป็นสองเท่าของโทษที่กำหนดไว้
10. กำหนดให้บรรดาคดีที่เกี่ยวกับการฟ้องคดีปิดปากที่เกิดขึ้นก่อนวันที่พระราชบัญญัตินี้มีผลใช้บังคับ และอยู่ระหว่างดำเนินคดีหรือคดียังไม่แล้วเสร็จ ให้ดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1617