การขอขยายระยะเวลาบังคับใช้แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560 - 2564)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 January 2022 11:41
- Hits: 7548
การขอขยายระยะเวลาบังคับใช้แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560 - 2564)
คณะรัฐมนตรีมีมติ เห็นชอบดังนี้
1. เห็นชอบการขอขยายระยะเวลาบังคับใช้แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560 – 2564) (แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 6) ออกไปอีก 1 ปี โดยให้ยังคงใช้ได้ต่อจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 ตามที่คณะกรรมการนโยบายการกีฬาแห่งชาติ (คกช.) เสนอ
2. ให้ คกช. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป รวมทั้งให้ คกช. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณานำแนวทางของสมาคมกีฬามวลชนนานาชาติ มาเป็นส่วนหนึ่งในแผนการดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 6 ด้วย เพื่อให้การพัฒนากีฬามวลชนในประเทศเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ลดความซ้ำซ้อนของงบประมาณในการดำเนินงาน รวมถึงสามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้และความร่วมมือจากเครือข่ายของสมาชิกสมาคมกีฬามวลชนนานาชาติมาปรับใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 6 ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
สาระสำคัญของเรื่อง
คกช. รายงานว่า
1. คกช. ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับแผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ดังนี้
1.1 เห็นชอบ การขยายระยะเวลาบังคับใช้แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 6 ออกไปอีก 1 ปี โดยยังบังคับใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
1.2 เห็นชอบหลักการ (ร่าง) แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2566 - 2570) [(ร่าง) แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7] โดยให้เสนอสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเพื่อพิจารณาให้ความเห็น และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
2. แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 6 มีสาระสำคัญ ดังนี้
แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2560 – 2564)
วิสัยทัศน์
การกีฬาเป็นส่วนสำคัญของวิถีชีวิตประชาชนทุกภาคส่วน และเป็นกลไกสำคัญในการสร้างคุณค่าทางสังคมและส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ
เป้าประสงค์
(1) ประชากรทุกภาคส่วนมีความสนใจในการออกกำลังกายและเล่นกีฬา
(2) นักกีฬาผู้แทนของไทยประสบความสำเร็จในการแข่งกีฬาทั้งในระดับภูมิภาค ระดับทวีป และระดับโลก เพื่อสร้างความสมัครสมานสามัคคีและนำมาซึ่งความภูมิใจแก่คนในชาติ
(3) อุตสาหกรรมกีฬาของไทยสามารถช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของประเทศ และมีการเติบโตต่อเนื่องอย่างยั่งยืน
ตัวชี้วัด
(1) ประชากรทุกภาคส่วนออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างสม่ำเสมอ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของประชากรทั้งประเทศ
(2) อันดับการแข่งขันการกีฬาในมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ไม่ต่ำกว่า
2.1) นักกีฬาไทย
- อันดับที่ 7 ของเอเชียในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์
- อันดับที่ 6 กีฬาเอเชียนเกมส์
- อันดับที่ 1 กีฬาซีเกมส์
2.2) นักกีฬาคนพิการไทย
- อันดับที่ 6 ของเอเชียในการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์
- อันดับที่ 6 กีฬาเอเชียนพาราเกมส์
- อันดับที่ 1 กีฬาอาเซียนพาราเกมส์
(3) มูลค่าอุตสาหกรรมการกีฬามีอัตราการเติบโตเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ต่อปี
ยุทธศาสตร์การพัฒนา
ยุทธศาสตร์ที่ 1 การส่งเสริมให้เกิดความรู้และความตระหนักด้านการออกกำลังกายและการกีฬาขั้นพื้นฐาน
(1) การเร่งสร้างและพัฒนาพลศึกษาและสุขศึกษาในสถานศึกษาทั่วประเทศ
(2) การส่งเสริมการพัฒนาการออกกำลังกายและการกีฬาขั้นพื้นฐานในชุมชนท้องถิ่นนอกสถานศึกษา
(3) การจัดวางระบบโครงข่ายและสร้างความเชื่อมโยงระหว่างสถานศึกษาและชุมชน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมให้มีมวลชนออกกำลังกายและมีส่วนร่วมในกิจกรรมการกีฬา
(1) การจัดหาและพัฒนาสถานที่และอุปกรณ์ที่เพียงพอและเหมาะสมเพื่อการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาของมวลชน
(2) การเสริมสร้างความเสมอภาคในการเข้าถึงการออกกำลังกายและการเล่นกีฬาสำหรับประชากรทุกกลุ่ม
(3) การส่งเสริมการพัฒนาอาสาสมัครและบุคลากรการกีฬาเพื่อมวลชนอย่างเป็นระบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 การพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศและต่อยอดเพื่อความสำเร็จในระดับอาชีพ
(1) การเลือกสรรและพัฒนานักกีฬาที่มีความสามารถทางการกีฬาเพื่อความเป็นเลิศ
(2) การพัฒนาบุคลากรการกีฬาอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐานสากล เพื่อการพัฒนากีฬาเพื่อความเป็นเลิศและการอาชีพอย่างยั่งยืน
(3) การสร้างและพัฒนาศูนย์บริการการกีฬาและศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติที่เป็นมาตรฐาน
(4) การส่งเสริมและจัดเตรียมการดูแลสวัสดิการและสวัสดิภาพของนักกีฬาและบุคลากรการกีฬา
(5) การส่งเสริมและพัฒนากีฬาเพื่อการอาชีพอย่างเป็นระบบ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ
(1) การส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการกีฬา
(2) การพัฒนาการกีฬาเพื่อการท่องเที่ยวและนันทนาการ (Sport Tourism)
ยุทธศาสตร์ที่ 5 การพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการกีฬา
(1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาทั้งในระดับส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น
(2) การพัฒนาและการสร้างเครือข่ายองค์ความรู้และนวัตกรรมทางการกีฬา
(3) การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการกีฬา เพื่อนำไปพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬาและสุขภาพของประชาชน
ยุทธศาสตร์ที่ 6 การยกระดับการบริหารจัดการด้านการกีฬาให้มีประสิทธิภาพ
(1) การสร้างความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับกีฬา
(2) การพัฒนาฐานข้อมูลด้านการออกกำลังกายและการกีฬาตั้งแต่ระดับชาติ ภูมิภาค และท้องถิ่น เพื่อการติดตามและประเมินผล
(3) การยกระดับการบริหารจัดการกีฬาบนพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาล
3. ยุทธศาสตร์การพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 6 มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนงานภายใต้แผนระดับที่ 1 และแผนระดับที่ 2 อันได้แก่ (1) ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) (2) แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ (3) แผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ อันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด 19 พ.ศ. 2564 - 2565 (4) แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) และ (5) แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2565 ในหลายมิติ โดยยกตัวอย่างได้ ดังนี้
แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 6 |
ความสอดคล้องกับแผนระดับที่ 1 และแผนระดับที่ 2 |
|
ยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาอุตสาหกรรมการกีฬาเพื่อเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยมีแนวทางการพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ 1) การส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรมการกีฬา 2) การพัฒนาการกีฬาเพื่อการท่องเที่ยวและนันทนาการ (Sport Tourism) |
ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) ด้านการพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ ประเด็นที่ 4.7 การเสริมสร้างศักยภาพการกีฬาในการสร้างคุณค่าทางสังคมและการพัฒนาประเทศ • การส่งเสริมการกีฬาเพื่อพัฒนาสู่ระดับอาชีพ • การพัฒนาบุคลากรด้านการกีฬาและนันทนาการเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมกีฬา
|
|
แผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านวัฒนธรรม กีฬา แรงงาน และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กิจกรรมปฏิรูปที่ 3 การส่งเสริมประชาชนเป็นศูนย์กลางในการสร้างวิถีชีวิตทางการเมืองและการออกกำลังกายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม และการสร้างโอกาสทางการกีฬาและการพัฒนานักกีฬาอาชีพ อาทิ • ส่งเสริมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาในชุมชนเมืองและท้องถิ่นในพื้นที่นำร่องในเมืองและ 37 จังหวัดนำร่องที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกเมืองกีฬา (Sports City) |
ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาบังคับใช้แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 6 เพื่อให้การดำเนินงานของแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 6 ในปี 2565 เกิดความต่อเนื่องและสอดคล้องกับแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทเฉพาะกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นผลมาจากสถานการณ์โควิด 19 พ.ศ. 2564 - 2565 ประกอบกับพระราชบัญญัติสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 28 ได้บัญญัติให้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 - 2564) ยังคงใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 อันจะทำให้เกิดความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการพัฒนาแผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 6 สู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้ง (ร่าง) แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 7 อยู่ระหว่างการเสนอตามขั้นตอนที่เกี่ยวข้องและจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในปี 2566 ดังนั้น จึงให้ขยายระยะเวลาบังคับใช้แผนพัฒนาการกีฬาฯ ฉบับที่ 6 ออกไปอีก 1 ปี โดยให้ยังคงใช้ได้ต่อจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1612