ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2565
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 January 2022 11:17
- Hits: 4305
ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2565
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้เสนอผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 (พระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564) ในคราวประชุมครั้งที่ 3/2565 เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ที่ได้มีมติที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของข้อเสนอแผนงานหรือโครงการเพื่อขอใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดังนี้
1. อนุมัติโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กรอบวงเงิน 8,070.7242 ล้านบาท และโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 กรอบวงเงิน 1,351.9812 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 2 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยเป็นการสนับสนุนเงินช่วยเหลือแก่กลุ่มเป้าหมาย จำนวนไม่เกิน 200 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน (กุมภาพันธ์ - เมษายน 2565) รวมจำนวนไม่เกิน 600 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อช่วยเหลือ เยียวยาและลดภาระค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษในช่วงที่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ตามปกติมีรายได้ลดลง และไม่สามารถหารายได้จากแหล่งอื่นมาทดแทนได้เพียงพอ ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้นและสามารถดำรงชีพอยู่ได้ในภาวะวิกฤต รวมทั้งส่งผลต่อเนื่องให้เกิดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ
2. อนุมัติโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง กรอบวงเงิน 34,800 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยรัฐสนับสนุนวงเงินค่าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าทั่วไปและบริการนวดสปา ทำผม ทำเล็บ และบริการขนส่งสาธารณะจากภาครัฐในอัตราร้อยละ 50 ทั้งนี้ ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน หรือไม่เกิน 1,200 บาทต่อคน ตลอดระยะเวลาโครงการ (1 กุมภาพันธ์ - 30 เมษายน 2565) เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจนถึงระดับฐานรากอย่างต่อเนื่อง โดยการเพิ่มอุปสงค์การบริโภคและกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายย่อยทุกระดับมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชนในสถานการณ์ที่ราคาสินค้าสูงขึ้น
3. มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง พิจารณาดำเนินการดังนี้
3.1 ดำเนินการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจและรับทราบถึงวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งถือเป็นมาตรการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในระยะสั้นเท่านั้น และในกรณีที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติแล้ว ภาครัฐก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินโครงการในลักษณะเช่นนี้อีก เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของภาครัฐเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3.2 พิจารณาปรับปรุงจำนวนกลุ่มเป้าหมายและวงเงินของโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือป็นพิเศษ ระยะที่ 2 ให้สอดคล้องกับจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้สิทธิภายหลังจากการเปิดลงทะเบียนไปสักระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพื่อให้สามารถนำกรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ที่เหลือไปใช้จ่ายในโครงการอื่นต่อไป
3.3 พิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการกำกับและติดตามการดำเนินโครงการ เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากการดำเนินโครงการโดยมิชอบได้ อาทิ ร้านค้าที่รับสแกนสิทธิแลกเปลี่ยนเป็นเงินสด
4. อนุมัติโครงการเราเที่ยวด้วยกันของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรอบวงเงิน 9,000 ล้านบาท (ปรับลดจากข้อเสนอจำนวน 13,200 ล้านบาท หรือ ลดลง 4,200 ล้านบาท) โดยให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ภายใต้แผนงาน/โครงการกลุ่มที่ 3 ตามบัญชีท้ายพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ระยะเวลา 6 เดือน (เดือนกุมภาพันธ์ - กรกฎาคม 2565) พร้อมทั้งเห็นควรมอบหมายให้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย พิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการกำกับและติดตามการดำเนินโครงการ เพื่อป้องกันการแสวงหาประโยชน์จากการดำเนินโครงการโดยมิชอบทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินโครงการฯ เป็นไปอย่างรอบคอบ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ต่อไป
5. มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการตามข้อ 1 และข้อ 2 และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นหน่วยงานรับผิดชอบโครงการตามข้อ 4 ดำเนินการจัดทำความต้องการใช้จ่ายเป็นรายสัปดาห์ เพื่อให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะสามารถจัดหาเงินกู้ พร้อมทั้งปฏิบัติตามข้อ 15 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 อย่างเคร่งครัดตามขั้นตอนต่อไป
6. มอบหมายให้หน่วยงานรับผิดชอบโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พระราชกำหนดฯ) และพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ดำเนินการประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติให้ใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ และพระราชกำหนดฯ เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 โดยเฉพาะในส่วนของผลลัพธ์และผลสัมฤทธิ์ เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีความเข้าใจและรับทราบถึงข้อมูลของโครงการอย่างชัดเจนและทั่วถึง ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการกำกับติดตามการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไว้
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1606