ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 January 2022 11:14
- Hits: 4524
ผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เสนอผลการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคมไปดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
กต. รายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 38 และ 39 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง รวม 10 รายการ เมื่อวันที่ 26 – 28 ตุลาคม 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล โดยสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งเนการาบรูไนดารุสลาม (บรูไน) ทรงเป็นองค์ประธานการประชุม โดยมีผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนและผู้นำของคู่เจรจา 8 ประเทศ [สาธารณรัฐประชาชนจีน (จีน) สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) เครือรัฐออสเตรเลีย (ออสเตรเลีย) สาธารณรัฐอินเดีย สหพันธรัฐรัสเซีย (รัสเซีย) และนิวซีแลนด์] ได้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีได้ร่วมรับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม จำนวน 25 ฉบับ และแสดงวิสัยทัศน์ของไทยโดยเน้นเรื่องการรับมือกับการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) การฟื้นฟูและสร้างอนาคตที่ยั่งยืน และการรักษาสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค มีผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
1. ผลการประชุมฯ
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
|
1. การสร้างประชาคมอาเซียน |
ผู้นำอาเซียนและคู่เจรจาสนับสนุนข้อริเริ่มของบรูไน เช่น ข้อริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และองค์รวมเพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติอาเชียน (ASEAN SHIELD) การรับรองขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 การส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจภาคทะเล และการส่งเสริมความร่วมมือด้านสุขภาพจิต |
|
2. การรับมือกับโรคโควิด-19 |
2.1 ประเทศสมาชิกอาเซียนเห็นพ้องที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านวัคซีนเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งรวมถึงการใช้เงินจากกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 เพื่อจัดซื้อวัคซีนผ่านโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีน โควิด-19 หรือโคแวกซ์ (Covid-19 Vaccines Global Access Facility: COVAX Facility) ให้กับประเทศสมาชิกอาเซียนในมูลค่าประเทศละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐและสำนักเลขาธิการอาเซียนในมูลค่า 500,000 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดส่งวัคซีนได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 2565 นอกจากนี้ ที่ประชุมยังสนับสนุนให้มีการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาวัคซีนโรคโควิด-19 ระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนกับคู่เจรจาเพื่อให้อาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความมั่นคงและพึ่งพาตนเองด้านวัคซีนได้ในอนาคต 2.2 คู่เจรจาหลายประเทศได้ประกาศข้อริเริ่มเพื่อสนับสนุนอาเซียนในด้านวัคซีน เช่น ออสเตรเลียประกาศมอบวัคซีนให้อาเซียนเพิ่มเติมอีก 10 ล้านโดส ภายในช่วงกลางปี 2565 เกาหลีใต้ได้ประกาศที่จะให้เงินสนับสนุนกองทุนอาเซียนเพื่อรับมือกับโรคโควิด-19 เพิ่มเติมอีก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สหรัฐฯ ได้ประกาศจะให้วัคซีนแก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมทั้งอาเซียน เพิ่มเติมอีก 500 ล้านโดสภายในปี 2565 และจีนได้ประกาศข้อเสนอจัดตั้งศูนย์ความร่วมมืออาเซียน-จีนด้านการวิจัยและพัฒนาความมั่นคงทางสาธารณสุข 2.3 อาเซียนยังไม่สามารถหาข้อสรุปเกี่ยวกับที่ตั้งของศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ASEAN Centre for Public Health Emergencies and Emerging Disseases: ACPHEED) โดยอินโดนีเซีย ไทย (ได้รับการสนับสนุนจาก 6 ประเทศ) และเวียดนาม (ได้รับการสนับสนุนจากลาว) ยืนยันความพร้อมที่จะเป็นที่ตั้งของศูนย์ฯ |
|
3. การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน |
3.1 ที่ประชุมย้ำถึงความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูหลังโรคโควิด-19 อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยเน้นการดำเนินการตามกรอบการฟื้นฟูที่ครอบคลุมของอาเซียน นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนยังเห็นพ้องถึงความจำเป็นในการเริ่มเปิดภูมิภาคและการเดินทางระหว่างกันอย่างปลอดภัย โดยใช้ประโยชน์จากกรอบการจัดทำระเบียงการเดินทางของอาเซียน (ASEAN Travel Corridor Arrangement Framework: ATCAF) เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางที่จำเป็น เช่น ราชการและธุรกิจ โดยไทยเสนอให้พิจารณาขยายให้ครอบคลุมการท่องเที่ยว รวมทั้งผลักดันให้อาเซียนจัดทำการรับรองวัคซีนและใบรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน 3.2 อาเซียนและคู่เจรจาเห็นพ้องกันถึงความจำเป็นในการเร่งรัดการบูรณาการความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) มีผลใช้บังคับตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2565 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและขยายโอกาสทางการค้าให้กับผู้ประกอบการในภูมิภาค ซึ่งไทยได้ยื่นสัตยาบันสารสำหรับ RCEP ต่อสำนักเลขาธิการอาเซียนแล้ว เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2564 3.3 ที่ประชุมฯ ได้มีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ความร่วมมือด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี ได้แก่ แผนยุทธศาสตร์อาเซียนในประเด็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 แถลงการณ์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยการยกระดับการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน และแถลงการณ์ผู้นำอาเซียน-สหรัฐฯ ว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลรวมทั้งจะมีการประกาศให้ ปี 2565 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาเซียน-รัสเซีย 3.4 ที่ประชุมฯ เห็นพ้องที่จะส่งสริม “วาระสีเขียวอาเซียน” เพื่อให้อาเซียนสามารถมีการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนโดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และคู่เจรจาของอาเซียนได้แสดงความพร้อมที่จะสนับสนุนอาเซียนในการเสริมสร้างความร่วมมือดังกล่าวให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม โดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน ครั้งที่ 24 ได้ประกาศให้ปี 2564 และ 2565 เป็นปีแห่งความร่วมมือด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนอาเซียน-จีน และออสเตรเลียได้ประกาศข้อริเริ่มโครงการออสเตรเลียสำหรับอนาคตของอาเซียน (Australia for ASEAN Futures Initiatives) มูลค่า 124 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ |
|
4. ความสัมพันธ์กับคู่เจรจาและภาคีภายนอก |
ผู้นำอาเซียนต่างยินดีที่อาเซียนรับสหราชอาณาจักรเป็นคู่เจรจาลำดับที่ 11 และเห็นชอบการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) ระหว่างอาเซียนกับจีนและออสเตรเลีย รวมทั้งเห็นพ้องให้มีการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียนกับประเทศต่างๆ เช่น การประชุมสุดยอดอาเซียน-จีน สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 30 ปี ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและจีน การประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี และความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและสหภาพยุโรป ในปี 2565 |
|
5. สถานการณ์ระหว่างประเทศและในภูมิภาค |
5.1 บริบทของสภาพภูมิศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการแข่งขันระหว่างมหาอำนาจ (สหรัฐฯ -จีน) ประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาจะเสริมสร้างความร่วมมือกับอาเซียนภายใต้มุมมองอาเซียนต่ออินโด-แปซิฟิก (ASEAN Outlook on the Indo-Pacific: AOIP) นอกจากนี้ ไทยได้เสนอให้อาเซียนพิจารณาแนวทางใหม่ๆ ในการส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ในภูมิภาค เพื่อลดการเผชิญหน้าระหว่างกัน 5.2 ทะเลจีนใต้ ประเทศสมาชิกอาเซียนและคู่เจรจาบางประเทศได้แสดงความห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในทะเลจีนใต้ในกรอบการประชุมต่างๆ อย่างไรก็ดี ที่ประชุมฯ ได้ย้ำถึงความสำคัญของการรักษาสันติภาพ เสถียรภาพความปลอดภัย เสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่าน รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติของภาคีในทะเลจีนใต้ (Declaration on the Conduct of Parties in the South China Sea: DOC) และการเจรจาประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ (Code of Conduct: COC) ที่มีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ รวมถึงอนุสัญญานุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ. 1982 [United Nations Convention on the Law of the Sea (UNCLOS) 1982] 5.3 การจัดตั้งหุ้นส่วนไตรภาคีด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐฯ สหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย (AUKUS) ประเทศสมาชิกอาเซียนบางประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชาและสหพันธรัฐมาเลเซีย แสดงความห่วงกังวลต่อการจัดตั้ง AUKUS ซึ่งอาจนำไปสู่การแข่งขันสะสมอาวุธและความตึงเครียดในภูมิภาค รวมทั้งเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเคารพและธำรงรักษาหลักการในสนธิสัญญาว่าด้วยเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Nuclear Weapon-Free Zone: SEANWFZ) อย่างไรก็ดี ออสเตรเลียและสหรัฐฯ ได้ใช้โอกาสการประชุมครั้งนี้ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินการตาม AOIP และความเป็นแกนกลางของอาเซียนในสถาปัตยกรรมภูมิภาค รวมทั้งพันธกรณีภายใต้สนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (Nuclear Non-Proliferation Treaty: NPT) 5.4 สถานการณ์ในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (เมียนมา) สหรัฐฯ และนิวซีแลนด์กล่าวประณามรัฐประหารในเมียนมาอย่างชัดเจนและเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง นอกจากนี้ ทุกประเทศทั้งอาเซียนและคู่เจรจาต่างสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ของอาเซียนในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในเมียนมาผ่านการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ ของผู้นำอาเซียน และสนับสนุนการทำงานและบทบาทของผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเรื่องเมียนมาเพื่อช่วยสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและสร้างบรรยากาศสำหรับการหารือที่สร้างสรรค์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง |
|
6. การส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียน ปี 2565 |
บรูไนได้ส่งมอบตำแหน่งประธานอาเซียนให้แก่ราชอาณาจักรกัมพูชา (กัมพูชา) โดยนายกรัฐมนตรีแห่งกัมพูชาได้ประกาศแนวคิดหลักของการเป็นประธานอาเซียน ปี 2565 ได้แก่ “ASEAN A.C.T.: Addressing Challenges Together” |
2. ที่ประชุมฯ ได้รับรองเอกสารผลลัพธ์การประชุม จำนวน 25 ฉบับ โดยสาระสำคัญของเอกสารไม่แตกต่างจากที่คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบไว้แล้ว
3. กต. พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลการประชุมฯ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับส่วนราชการต่างๆ เช่น
ประเด็น |
การดำเนินการที่สำคัญ เช่น |
หน่วยงานที่รับผิดชอบ |
||
1. การสร้างประชาคมอาเซียน |
1.1 จัดทำข้อริเริ่มเชิงยุทธศาสตร์และองค์รวมเพื่อเชื่อมโยงการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินและภัยพิบัติของอาเซียน 1.2 รับรองขอบเขตอำนาจหน้าที่ของคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 1.3 ส่งเสริมความร่วมมือด้านต่างๆ เช่น ด้านเศรษฐกิจ ภาคทะเล และด้านสุขภาพจิต |
กต. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) |
||
2. การรับมือกับโรคโควิด-19 |
2.1 ส่งเสริมความร่วมมือให้มีการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม 2.2 หาข้อสรุปเกี่ยวกับที่ตั้งศูนย์อาเซียนด้านภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) |
กต. สธ. สถาบันวัคซีนแห่งชาติ |
||
3. การฟื้นฟูเศรษฐกิจและการสร้างอนาคตที่ยั่งยืน |
3.1 สนับสนุนให้ความตกลง RCEP มีผลบังคับใช้ตามเป้าหมาย (ภายในช่วงเดือนมกราคม 2565) 3.2 เปิดภูมิภาคและการเดินทางระหว่างกันอย่างปลอดภัยในอาเซียน รวมถึงผลักดันให้อาเซียนจัดทำการรับรองวัคซีนและใบรับรองการฉีดวัคซีนระหว่างกัน 3.3 การส่งเสริมการเข้าถึงดิจิทัลและการนำดิจิทัลมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น เศรษฐกิจดิจิทัลและการค้าอิเล็กทรอนิกส์ 3.4 ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด และการเงินสีเขียว โดยสอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) 3.5 เสริมสร้างศักยภาพของวิสาหกิจขนาดกลางและการสร้างอนาคต ขนาดย่อม และรายย่อย โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี |
กระทรวงการคลัง (กค.) กต. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ดศ. ทส. กระทรวงพลังงาน (พน.) กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) สธ. สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม |
||
4. ความสัมพันธ์กับคู่เจรจาและภาคีภายนอกและสถานการณ์ระหว่างประเทศและในภูมิภาค |
4.1 ดำเนินการเกี่ยวกับการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์แบบรอบด้านระหว่างอาเซียนกับจีนและออสเตรเลีย 4.2 เตรียมการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรปสมัยพิเศษ ในปี 2565 4.3 พิจารณาหาแนวทางในการส่งเสริมการปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ 4.4 ส่งเสริมความร่วมมือทางวัฒนธรรม การศึกษา และการแลกเปลี่ยนระดับประชาชน 4.5 สนับสนุนให้การเจรจาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องในประเด็นคาบสมุทรเกาหลีมีความคืบหน้า 4.6 รักษาและส่งเสริมสันติภาพ ความมั่นคงเสถียรภาพ และเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านเหนือทะเลจีนใต้ |
กต. กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) วธ. กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) (กรมประชาสัมพันธ์) |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1605