รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามรายงานคู่ขนานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ตามกระบวนการ Universal Periodic Review รอบที่ 3
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 January 2022 11:07
- Hits: 4314
รายงานสรุปผลการพิจารณาต่อความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตามรายงานคู่ขนานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ตามกระบวนการ Universal Periodic Review รอบที่ 3
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสรุปผลการพิจารณาต่อความเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ตามรายงานคู่ขนานการประเมินสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ตามกระบวนการ Universal Periodic Review รอบที่ 3 ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ และให้แจ้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ทราบต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ยธ. รายงานว่า ยธ. ได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดประชุมหารือร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) กระทรวงแรงงาน (รง.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตช. ศอ.บต. และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรแล้ว เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 รวมทั้ง ยธ. ได้ขอข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงการคลังและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อประกอบการพิจารณาด้วยแล้วซึ่งมีผลการพิจารณาในภาพรวม สรุปได้ ดังนี้
ข้อเสนอแนะของ กสม. |
สรุปผลการพิจารณาในภาพรวม |
|
1. ควรเร่งกระบวนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .... เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีระหว่างประเทศที่ต้องปฏิบัติตาม และเร่งพิจารณาการให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ |
ที่ประชุมเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. สอดคล้องกับการดำเนินงานของ ยธ. แล้ว โดยร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ได้ยกร่างขึ้นตามหลักการของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษอื่นที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรีและอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ ซึ่งที่ผ่านมา ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้เสนอร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายตามลำดับแล้ว ปัจจุบันอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร สำหรับการพิจารณาการให้สัตยาบันพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ คณะอนุกรรมการประสานการดำเนินงานตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีปลัด ยธ. เป็นประธาน และมีผู้แทนจากส่วนราชการต่างๆ ร่วมเป็นอนุกรรมการได้มีมติให้ประเทศไทยคงท่าทีเดิม โดยยังไม่เข้าเป็นภาคีพิธีสารฯ แต่ควรสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพิธีสารฯ ให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง |
|
2. การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (1) ควรพิจารณายกเลิกบทบัญญัติที่เกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของ กสม. ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 247 (4) และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 26 (4) เพื่อความเป็นอิสระของ กสม. ในการปฏิบัติหน้าที่ต่อไปในอนาคต (2) ควรเพิ่มข้อบัญญัติในกฎหมายให้ กสม. มีหน้าที่และอำนาจในการไกล่เกลี่ยให้ชัดเจน |
กสม. สามารถเสนอแก้ไขกฎหมายเพื่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กร รวมทั้งการเพิ่มหน้าที่และอำนาจในการไกล่เกลี่ยให้มีความชัดเจนได้ด้วยตนเอง เนื่องจากประธาน กสม. เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ดังนั้น จึงเป็นอำนาจของ กสม. ที่จะสามารถดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวได้ รวมทั้งยังสอดคล้องกับหลักการปารีสเกี่ยวกับสถานะของ กสม. ที่มีอำนาจหน้าที่อย่างเป็นอิสระ และมีหน้าที่กึ่งศาลเพื่อรับฟังและพิจารณาข้อร้องเรียนและเรื่องราวร้องทุกข์ โดยแสวงหาแนวทางยุติปัญหาอย่างสมานฉันท์ผ่านกระบนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท |
|
3. การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) และผลกระทบด้านสิทธิมบุษยชน (1) ควรกำหนดมาตรการการช่วยเหลือเยียวยาให้ทั่วถึงและครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม และกำหนดช่องทางการให้ความช่วยเหลือที่สะดวก เพื่อการเข้าถึงสิทธิต่างๆ และใช้สิทธิในทางปฏิบัติได้จริง (2) ควรคำนึงถึงการให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มยากลำบากที่สุดให้สามารถกลับมาพึ่งพาตนเองได้ (3) ควรดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในการแก้ไขปัญหาการลักลอบนำแรงงานผิดกฎหมายเข้าประเทศและปัญหาบ่อนการพนัน |
(1) ที่ประชุมเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดย สธ. ได้ให้สิทธิการตรวจคัดกรองและการเข้าถึงสิทธิในการรักษาพยาบาลให้กับประชาชนทุกกลุ่ม ซึ่งครอบคลุมถึงกลุ่มเปราะบางต่างๆ ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) อย่างเสมอภาค และไม่เลือกปฏิบัติ ทั้งในโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน รวมทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นหน่วยงานกลางดูแลเกี่ยวกับเรื่องค่ารักษาพยาบาลต่างๆ สำหรับการฉีดวัคซีนมีเป้าหมายให้สามารถเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม โดยในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักได้เร่งดำเนินการฉีดวัคซีน เพื่อให้การแพร่ระบาดของเชื้อลดลงและป้องกันการเสียชีวิตและป่วยหนักให้เร็วที่สุด สำหรับมาตรการช่วยเหลือเยียวยาประชาชนกลุ่มเป้าหมายผู้ใด้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาด สำหรับมาตรการเพื่อช่วยเหลือตั้งแต่เด็กแรกเกิด เยาวชน คนพิการ ผู้สูงอายุ คนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และผู้ด้อยโอกาสในสังคม รวมทั้งผู้มีรายได้น้อย พม. ได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น การสนับสนุนนมผงสำหรับเด็กเล็กเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน นอกจากนี้ กค. ได้มีมาตรการบรรเทาและเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาด ได้แก่ 1) มาตรการทางการคลัง 2) มาตรการทางภาษี และ 3) มาตรการทางการเงิน (2) ที่ประชุมเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและการดำเนินงานของ รง. แล้ว โดย รง. ให้ความคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกันทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติโดยไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งได้ดำเนินการตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ สำหรับแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ นอกจากนี้ได้ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ทั้งแรงงานในระบบและนอกระบบ รวมทั้งนายจ้าง/สถานประกอบการ โดยดำเนินการ ดังนี้ 1) การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน 2) การส่งเสริมการให้บริการจัดหางาน 3) การแนะแนวและการส่งเสริมการประกอบอาชีพอิสระ 4) การสร้างและพัฒนาเครือข่ายการคุ้มครองแรงงานนอกระบบ 5) การจ้างงานเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) 6) การส่งเสริมการจ้างานใหม่สำหรับผู้จบการศึกษาใหม่ 7) การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ 8) การฝึกทักษะอาชีพที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากนี้ สศช. ได้กำหนดแนวทางพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวไว้ในแผนแม่บทเฉพาะกิจ ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติแล้ว (3) ที่ประชุมเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดย รง. ได้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินคดีนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ตช. ได้จัดให้มีการประชุมและศึกษาวิเคราะห์ ทบทวนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละกองกำกับเป็นประจำทุกเดือน โดยเน้นย้ำ กำกับ ดูแล ให้ดำเนินการตาม พรบ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 และ พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 พ.ศ. 2562 อย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ สศช. ได้กำหนดแนวทางพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศ (ฉบับปรับปรุง) ด้านกฎหมายแล้ว |
|
4. สถานการณ์การชุมนุมทางการเมือง (1) ควรรณรงค์ส่งเสริมให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมที่ไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่นรวมทั้งไม่ใช้คำพูดที่เป็นการตีตราเลือกปฏิบัติหรือสร้างความเกลียดชัง (2) ควรเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างทันท่วงที เพื่อเป็นการต่อต้านข่าวลวงแทนการจับกุมผู้กระทำความผิด (3) การใช้มาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยโดยการยุติหรือสลายการชุมนุมแม้กฎหมายจะบัญญัติไว้เป็นขั้นตอนให้ดำเนินการได้ แต่การใช้มาตรการเช่นว่านั้นย่อมส่งผลกระทบตามมา โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชุมนุมที่มีทั้งเด็ก เยาวชน ผู้หญิง ดังนั้น หากเป็นไปได้ ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้มาตรการดังกล่าวเท่าที่จำเป็น |
(1) ที่ประชุมเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ที่ผ่านมา ยธ. โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพมาอย่างต่อเนื่องผ่านกลไกบ้าน วัด โรงเรียน (บวร) (2) ที่ประชุมเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและการดำเนินงานของ ดศ. แล้ว โดย ดศ. ได้กำหนดมาตรการต่อต้านและตรวจสอบข่าวลวง โดยบูรณาการร่วมกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ตช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด (3) ตช. ได้ให้ความเคารพต่อสิทธิของประชาชน และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย หมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยซึ่งในทางปฏิบัติกรณีการชุมนุมโดยสงบจะไม่มีการสลายการชุมนุมดังกล่าว แต่เนื่องจากสถานการณ์ในปัจจุบันมีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVD-19) รัฐบาลจึงได้ ประกาศใช้ พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และ พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เพื่อการป้องกันและลดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคดังกล่าว ดังนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีความจำเป็นต้องควบคุมและดูแลความสงบเรียบร้อย หรือจำกัดไม่ให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น โดยมีการกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจน ตลอดจนแจ้งและบอกกล่าวประชาชนทุกครั้งก่อนที่จะมีการจับกุมเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล |
|
5. สิทธิในกระบวนการยุติธรรม เรื่องกองทุนยุติธรรม ควรพิจารณาปรับปรุงระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี พ.ศ. 2559 เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการขอรับการช่วยเหลือทางการเงินของประชาชน |
ที่ประชุมเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและการดำเนินงานของ ยธ. โดยสำนักงานกองทุนยุติธรรมแล้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อประเมินผลการดำเนินการตามระเบียบคณะกรรมการกองทุนยุติธรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินคดี พ.ศ. 2559 ซึ่งจะนำไปสู่การปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมกับสภาวการณ์ยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิจัย “โครงการจ้างที่ปรึกษาดำเนินงานและพัฒนางานกองทุนยุติธรรม” โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDR) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกองทุนยุติธรรม |
|
6. ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (1) ควรพิจารณาเยียวยาเหยื่อของความรุนแรงและการละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้าน อื่นๆ อาทิ การให้สามารถกลับคืนสู่สภาพการดำเนินชีวิตได้เป็นปกติ การเยียวยาด้านจิตใจ (2) ควรบังคับใช้กฎหมายด้านความมั่นคงเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่เท่าที่จำเป็นอย่างยิ่งและในระยะเวลาที่จำกัดและพึงระวังอย่างยิ่งในการดำเนินมาตรการใดๆ ที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนบนพื้นฐานของหลักกฎหมายและการไม่เลือกปฏิบัติ |
(1) ที่ประชุมเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและ ศอ.บต. แล้ว โดย ศอ.บต. มียุทธศาสตร์แนวทางการให้ความช่วยเหลือซึ่งครอบคลุม 3 ปัจจัย ได้แก่ 1) การเยียวยาชีวิตและร่างกายในกรณีที่เสียชีวิต บาดเจ็บ และบาดเจ็บสาหัส 2) การเยียวยาทรัพย์สินที่เสียหายหรือสูญหาย และ 3) การเยียวยาด้านจิตใจ (2) ที่ประชุมเห็นว่า ข้อเสนอแนะของ กสม. สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยที่ปัจจุบัน พ.ร.ก. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ถือเป็นเครื่องมือที่จำเป็นสำหรับเจ้าหน้าที่ในการยับยั้งเหตุการณ์ต่างๆ และสำหรับนโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายและการอำนวยความยุติธรรมให้แก่ประชาชน โดยเฉพาะแนวทางการปรับลดพื้นที่ที่บังคับใช้กฎหมายความมั่นคงเมื่อสถานการณ์และเหตุการณ์โดยรวมเข้าสู่สภาวะปกติ สำหรับการตรวจดีเอ็นเอกับกลุ่มเป้าหมายในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปิดล้อมตรวจค้นเป็นการดำเนินการโดยศูนย์พิสูจน์หลักฐานของตำรวจซึ่งมีอยู่ทุกจังหวัด รวมถึงมีชุดนิติวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยสนับสนุนดำเนิ่นการในพื้นที่ด้วย ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องและไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งยังไม่เคยได้รับเรื่องร้องเรียนการละเมิดสิทธิมนุษยชนแต่อย่างใด |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1604