ขอความเห็นชอบและอนุมัติให้มีการรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ (Communique) สำหรับการประชุม Global Forum for Food and Agriculture (GFFA) ครั้งที่ 14 และการประชุม Berlin Agriculture Ministers’ Conference ครั้งที่ 14
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 25 January 2022 10:39
- Hits: 4636
ขอความเห็นชอบและอนุมัติให้มีการรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ (Communique) สำหรับการประชุม Global Forum for Food and Agriculture (GFFA) ครั้งที่ 14 และการประชุม Berlin Agriculture Ministers’ Conference ครั้งที่ 14
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบและอนุมัติให้มีการรับรองเอกสารร่างแถลงการณ์ (Zero Draft-2022 Communique) ในการประชุมรัฐมนตรีเกษตรเบอร์ลิน (Berlin Agriculture Ministers’ Conference) ครั้งที่ 14 และอนุมัติในหลักการว่า หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวในประเด็นที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ
สาระสำคัญ
1. เอกสารร่างแถลงการณ์เป็นเอกสารที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืนและการปกป้องดินสำหรับการเกษตร เพื่อปกป้องความมั่นคงด้านอาหารตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนการเปลี่ยนระบบอาหารที่การประชุมสุดยอดระบบอาหารแห่งสหประชาชาติให้ความสำคัญ โดยร่างดังกล่าวให้ความสำคัญของการดำเนินการใน 4 ด้าน ได้แก่
1.1 การส่งเสริมสุขภาพดิน ส่งเสริมการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ความหลากหลายทางชีวภาพของดินอย่างยั่งยืน การจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ เพื่อบรรลุเป้าหมายของข้อตกลงปารีสสนับสนุน ข้อริเริ่มโครงการ 4per1000 และการดำเนินการ RECSOIL (Recarbonization of Global Soils) ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ รวมทั้งความสำคัญของวาระการดำเนินการตามนโยบายการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่อาหารและการเกษตรที่ยั่งยืน
1.2 การฟื้นฟูความเสื่อมสภาพของดิน ความพยายามในการฟื้นฟูและอนุรักษ์แหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติซึ่งปกป้องดินและเสริมสร้างสุขภาพติน รวมทั้งความมุ่งมั่นต่อการแปรสภาพเป็นทะเลทรายตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการแปรสภาพเป็นทะเลทราย (United Nations Convention to Combat Desertification: UNCCD) ตลอดจนการส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรมในด้านการจัดการที่ดิน ดินและน้ำอย่างยั่งยืน
1.3 การใช้ทรัพยากรที่ดินอย่างจำกัด ให้ความสำคัญกับการจัดการดินและที่ดินอย่างยั่งยืน และเน้นถึงความสำคัญของการประชุมสมัชชาความร่วมมือดินโลก (Global Soil Partnership: GSP) ซึ่งเป็นกลไกในการส่งเสริมการจัดการดินอย่างยั่งยืนในทุกระดับ
1.4 การเข้าถึงที่ดินและการรักษาสิทธิ์ในการครอบครอง ส่งเสริมการดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติตามความสมัครใจว่าด้วยการกำกับดูแลที่รับผิดชอบต่อการครอบครองที่ดิน การประมง และป่าไม้ในบริบทของความมั่นคงอาหารระดับชาติ (Voluntary Guidelines on the Responsible Governance of Land, Fisheries and Forests in the Context of National Food Security: CFS VGGT)
2. ร่างแถลงการณ์ฯ สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล และการดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่สำคัญ ได้แก่ การดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายที่ 2 การขจัดความอดอยาก สร้างความมั่นคงทางอาหาร ข้อ 2.4 ปรับปรุงดินและที่ดิน (การอนุรักษ์ดินและน้ำ)เป้าหมายที่ 13 ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน ข้อ 13.2 ลดการปลดปล่อยคาร์บอนในดิน และเป้าหมายที่ 15 ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศฯ บนบก ข้อ 15.3 ลดความเสื่อมโทรมของดินและที่ดิน และข้อ 15.5 เพิ่มความหลากหลายทางขีวภาพในดิน และเป็นการแสดงจุดยืนของประเทศไทยในการสนับสนุนนโยบายด้านระบบอาหารโลกเพื่อผลักดันและนำไปปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 24 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1601