รายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 January 2022 23:28
- Hits: 9745
รายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอรายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2563-31 พฤษภาคม 2564 (เป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 มาตรา 6 วรรคสี่ ที่บัญญัติให้ รง. รวบรวมจัดทำรายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ จำนวนคดี การดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเกี่ยวกับการคุ้มครองแรงงานในงานประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกำหนด) สรุปสาระสำคัญ ได้ดังนี้
1. ด้านนโยบาย (Policy) สร้างกลไกการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โดยแต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมง คณะทำงานกำกับและติดตามการป้องกันปัญหาการบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน และกำหนดมาตรการถอดรายการสินค้าออกจากรายการที่ถูกขึ้นบัญชีการใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ
2. ด้านการป้องกัน (Prevention) จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รง. ได้ดำเนินการบริหารจัดการแรงงานในกิจการประมง เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานและเพื่อให้แรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยได้ทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยได้ขยายระยะเวลาดำเนินการเพื่อตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 การทำประกันสุขภาพ และการยื่นคำร้องขอใบอนุญาตทำงานและต่อใบอนุญาตทำงาน รวมทั้งได้กำหนดให้นายจ้างจัดทำสัญญาจ้าง 3 ภาษา (เมียนมา ลาว กัมพูชา) ไว้ในฉบับเดียวกัน และลูกจ้างเก็บรักษาไว้ 1 ฉบับ เพื่อเป็นหลักประกันว่าแรงงานต่างด้าวจะได้รับการคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย นอกจากนี้ รง. ได้จัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว จำนวน 10 แห่ง ซึ่งได้ให้บริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว เช่น การให้คำปรึกษา แนะนำ การติดตามค่าจ้างค้างจ่าย การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว จำนวนทั้งสิ้น 2,686 ราย
3. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) รง. ได้บูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกรมประมง และศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ดำเนินการตรวจเรือประมงจำนวน 60,288 ลำ พบการกระทำความผิด 20 ลำ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดเวลาพักไม่ถูกต้อง/ไม่มีเอกสารเวลาพัก ไม่จัดทำสัญญาจ้าง เอกสารจ่ายค่าจ้างไม่ถูกต้อง และไม่จัดทำหลักฐานเวลาพัก เพื่อให้พนักงานตรวจแรงงานตรวจสอบ และดำเนินคดีกับนายจ้างที่ปฏิบัติไม่ถูกต้อง จำนวน 7 คดี ในเรื่องไม่นำลูกจ้างไปรายงานตัวตามระยะเวลาที่กำหนด ไม่จัดทำสัญญาจ้าง ไม่จัดทำเอกสารการจ่ายค่าจ้าง และไม่จ่ายเงินค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคารแก่ลูกจ้าง รวมทั้งได้ดำเนินการตรวจเรือประมงกลางทะเล จำนวน 431 ลำ พบการกระทำความผิด จำนวน 8 ลำ พนักงานตรวจแรงงานจึงได้ออกคำสั่งให้นายจ้างปฏิบัติ จำนวน 8 คำสั่ง ในเรื่องเกี่ยวกับการไม่ส่งมอบสัญญาจ้าง 3 ภาษาให้ลูกจ้าง ไม่จัดทำเอกสารเวลาพัก และไม่จัดให้ลูกจ้างลงลายมือชื่อในเอกสารเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างและค่าทำงานในวันหยุด
4. ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) รง. โดยสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการจ่ายประโยชน์ทดแทนให้กับผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานประมง 1,067 ราย จากกองทุนประกันสังคม จำนวน 18.63 ล้านบาท ในกรณีแรงงานเจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร และว่างงาน รวมทั้งดำเนินการจ่ายเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน 249 ราย จำนวน 49.23 ล้านบาท ในกรณีแรงงานประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานในกิจการประมง
5. ด้านการมีส่วนร่วม (Partnership) รง. ได้ดำเนินโครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Project) ร่วมกับสหภาพยุโรปและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ เพื่อกำหนดและดำเนินมาตรการปกป้องและส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิแรงงานทางทะเลรวมถึงแรงงานต่างด้าว ซึ่งนำไปสู่การให้สัตยาบันพิธีสารส่วนเสริมอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 29 ว่าด้วยแรงงานบังคับ และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลาร่วมกับองค์กรภาคประชาสังคม Stella Maris เพื่อช่วยเหลือแรงงานประมงทะเลให้ได้รับสิทธิตามกฎหมาย นอกจากนี้ได้ดำเนินโครงการ ATLAS Project โดยร่วมกับกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน ตลอดจนดำเนินการร่วมกับองค์การแรงานระหว่างประเทศ ภายใต้การส่งเสริมการรวมตัวและเจรจาต่อรอง โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เพื่อเปิดโอกาสให้นายจ้างและลูกจ้างมีความสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น
นอกจากนี้ รง. ได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในอนาคตเพื่อให้แรงงานในแรงงานประมงได้รับการคุ้มครองสิทธิสอดคล้องตามมาตรฐานสากล เช่น การกำหนดนโยบาย งบประมาณ บุคลากร เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองแรงงานในแรงงานประมงให้เกิดผลในทางปฏิบัติ การกำหนดกลไกในการดำเนินงานและบรรทัดฐาน ในการคุ้มครองแรงงานประมง การสร้างเครือข่ายความร่วมมือและผลักดันกลไกของหน่วยงานภาครัฐ และการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้เกี่ยวกับพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1445