ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 January 2022 22:43
- Hits: 9962
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ของคณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา ตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา (สว.) ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาไฟฟ้าในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ของคณะกรรมาธิการการพลังงานวุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ ได้มีข้อเสนอแนะ เช่น ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เร่งรัดการจัดทำกฎหมายลำดับรองตาม มาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ มาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยการตราพระราชกฤษฎีกาจัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้สิทธิที่ดินนั้น เพื่อจะได้จัดให้มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในโครงการต่อไป รัฐบาลควรสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง โดยให้ พน. จัดหางบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาส และให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรู้สึกที่ดีมีความรักและหวงแหนอยากที่จะช่วยกันดูแลรักษาทรัพย์สินให้ใช้งานได้อย่างยั่งยืนต่อไป
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ พน. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่งเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
พน. ได้ดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรีตามข้อ 2 แล้ว โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาแนวทางและความเหมาะสมของข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ซึ่งเห็นด้วยกับข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ สรุปผลการพิจารณาได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการ |
ผลการพิจารณา |
|
1. กรณีการขยายเขตไฟฟ้าให้กับหมู่บ้านที่ไม่มีไฟฟ้าในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน |
|
|
- ให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเร่งรัดการจัดทำกฎหมายลำดับรองตาม ม. 64 แห่งพ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ ม. 121 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยการตรา พ.ร.ฎ. จัดทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์และดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยมิได้สิทธิที่ดินนั้น เพื่อจะได้จัดให้มีระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในโครงการต่อไป | - กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชได้ดำเนินการยกร่างกฎหมายลำดับรองตาม ม. 64แห่ง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติฯ และ ม. 121 แห่ง พ.ร.บ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเสร็จแล้ว โดยได้ดำเนินกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วยแล้ว และจะนำร่างกฎหมายดังกล่าวเข้า คกก. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าและ คกก. อุทยานแห่งชาติ พิจารณา เมื่อผ่านความเห็นชอบของ คกก. แล้ว จะเร่งรัดจัดทำกฎหมายเพื่อเสนอเข้า ครม. เห็นชอบและประกาศเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป | |
- ให้กรมป่าไม้และคณะกรรมการพิจารณาการใช้ประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ เร่งรัดการพิจารณาการอนุญาตให้ประชาชนเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติตามเงื่อนไขที่กำหนด | - กรมป่าไม้ได้มีการเร่งรัดดำเนินการเกี่ยวกับพื้นที่เป็นโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาลในพื้นที่ตามที่ คกก. นโยบายที่ดินแห่งชาติได้เสนอไว้ ปัจจุบันได้ดำเนินการในส่วนพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนไปแล้ว 9,630 ไร่ 34 ตารางวา และกรมป่าไม้อยู่ในระหว่างการพิจารณาพื้นที่อื่นๆ เพิ่มเติม | |
- ควรจัดทำสัญญาประชาคมระหว่างประชาชนในหมู่บ้านกับหน่วยงานภาครัฐในการร่วมกันกำหนดแนวทางและมาตรการในการป้องกันรักษาป่าไม้และแหล่งน้ำ รวมทั้งระบบนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้มีการบุกรุกทำลายป่า และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาแหล่งน้ำและทรัพยากรธรรมชาติระบบนิเวศน์วิทยาและสิ่งแวดล้อม |
- การจัดทำสัญญาประชาคมจะเกี่ยวพันกับการอนุญาตใช้พื้นที่หวงห้ามในการที่จะเข้าไปสนับสนุนระบบสาธารณูปโภค ถึงแม้ปัจจุบันได้มีข้อผ่อนผันทางกฎหมายมากขึ้น แต่ทั้งนี้ จะต้องดำเนินการตามระเบียบในการอนุญาตใช้พื้นที่ จึงจะสามารถดำเนินการเรื่องจัดทำสัญญาประชาคมได้ตามลำดับ ขั้นต่อไป |
|
2. กรณีแนวทางบริหารจัดการเพื่อความยั่งยืนของการมีไฟฟ้าใช้ของหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน |
|
|
- ควรสนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้าง โดยให้ พน. จัดหางบประมาณจากเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97 (1) ของ พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าที่ด้อยโอกาสและให้ชุมชนในท้องถิ่นเป็นเจ้าของทรัพย์สิน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความรู้สึกที่ดีมีความรักและหวงแหนอยากที่จะช่วยกันดูแลรักษาทรัพย์สินให้ใช้งานได้อย่างยั่งยืนต่อไป รวมถึงควรเร่งรัดจัดทำหลักเกณฑ์การใช้เงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตามมาตรา 97 (1) ของ พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 ในการสำรวจและติดตั้งอุปกรณ์จ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนที่ด้อยโอกาสและอยู่ในพื้นที่ห่างไกลด้วย | - พน. เห็นว่า การใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ตาม ม. 97 (1) ต้องดำเนินการแก้ไขกฎระเบียบซึ่งมีขั้นตอนและต้องใช้เวลาดำเนินการจึงเห็นว่า การสนับสนุนจ่ายไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ดังเช่นหมู่บ้านในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนสามารถจัดทำโครงการเสนอกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตาม ม. 97 (4) “เพื่อการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีที่ใช้ในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย” ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลย | |
- ควรให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้รับผิดชอบหลักในการจัดหาพัสดุ อุปกรณ์และก่อสร้างโรงไฟฟ้า ตั้งแต่เริ่มต้นของขั้นตอนการสำรวจ ออกแบบโรงไฟฟ้า/การจ่ายไฟฟ้าด้วยระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์สำหรับครัวเรือน (Solar Home System: SHS) โดยจะต้องทำงานประสานกับชุมชนท้องถิ่นเพื่อสำรวจหาความต้องการของการใช้ไฟฟ้าของหมู่บ้าน ครัวเรือน และการนำมาคำนวณขนาดของโรงไฟฟ้า/SHS ที่เหมาะสม | - ด้านการจัดหาพัสดุฯ และด้านการควบคุมปฏิบัติการฯ กฟภ. มีความพร้อมดำเนินการตามข้อเสนอแนะรายงานฯ โดยมีแนวทางดำเนินการโดยจัดทำรายละเอียดโครงการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนฯ และดำเนินการฝึกอบรม การควบคุมปฏิบัติการบำรุง รักษาโรงไฟฟ้า/SHS แก่ชุมชนท้องถิ่น ให้สามารถดูแลบำรุงรักษาได้ต่อไป | |
- ต้องมีการตั้งคณะกรรมการโรงไฟฟ้า/SHS ของแต่ละหมู่บ้านโดยจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม” (Social Enterprise) คัดสรรจากสมาชิกหมู่บ้านและผู้นำ เพื่อทำหน้าที่ร่วมกับผู้แทนจากองค์การบริหารส่วนตำบล และผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า กำหนดหลักเกณฑ์การใช้ไฟฟ้ากำกับดูแลการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน การบำรุง รักษา ซ่อมแซม และการเสนอของบประมาณมาตรการบำรุงรักษาระบบผลิตไฟฟ้าและบริหารงบประมาณสำหรับแก้ไขข้อขัดข้องของโรงไฟฟ้า/SHS | - การจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจเพื่อสังคม” จะต้องมีแหล่งงบประมาณสนับสนุนที่ชัดเจนโดยเฉพาะเมื่อมีการซ่อมใหญ่หรือการเปลี่ยนอุปกรณ์อินเวอร์เตอร์หรือเปลี่ยนชุดแบตเตอรี่เมื่อหมดอายุซึ่งต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และเรื่องปฏิบัติตามข้อกำหนดเงื่อนไข กฎเกณฑ์ความรับผิดชอบร่วมกันของชุมชนในการดูแล บำรุงรักษาโรงไฟฟ้า/SHS เพื่อความยั่งยืน | |
- ควรใช้แนวทางการจ่ายไฟฟ้าของหมู่บ้านในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นแม่แบบ (Model) ให้กับพื้นที่ในจังหวัดอื่นด้วย | - พน. ได้มีการเสนอให้มี “คณะอนุกรรมการ” ภายใต้ “คณะกรรมการจัดทำแผนบูรณาการการลงทุนและดำเนินงานเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า” เพื่อทำหน้าที่พิจารณาและเสนอแนะแนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกล รวมถึงจัดทำแผนงานแก้ไขปัญหาและพัฒนาแนวทางดำเนินการในการแก้ไขปัญหาสำหรับพื้นที่ห่างไกลที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ในภาพรวมของประเทศนำเสนอคณะกรรมการกำหนดเป็นนโยบายในการปฏิบัติต่อไป |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1443