WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 7/2564

GOV 4

สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 7/2564

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอ สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล และให้ส่วนราชการรับประเด็นและมติของที่ประชุม กตน. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

          สาระสำคัญของเรื่อง

          ในการประชุม กตน. ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้

 

ประเด็น

 

ความเห็น/ข้อสังเกต/มติที่ประชุม กตน.

1) การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันไฟป่าอย่างยั่งยืน

        1.1) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ

                1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ดำเนินการ เช่น (1) ผลการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เปรียบเทียบ ปี 2563 และ 2564 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือระหว่างวันที่ 1 .. - 31 .. โดยจำนวนวันที่ PM2.5 มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน ปี 2564 ลดลงร้อยละ 8ค่าเฉลี่ย PM2.5 ปี 2564 ลดลงร้อยละ 13 และจุดความร้อนภาพรวม ลดลงร้อยละ 52 (2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภายใต้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อเสนอแนะมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว (3) พัฒนาระบบบริหารจัดการการเผาในที่โล่ง โดยจัดทำระบบเสร็จสมบูรณ์ และคาดว่านำระบบมาใช้งานจริงในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงต้นปี 2565 (4) จัดกิจกรรมชิงเก็บ ลดเผา นำเชื้อเพลิงไปใช้ประโยชน์ ร่วมกับหมู่บ้าน เครือข่าย และราษฎร ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 3 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเก็บขนเชื้อเพลิงจากพื้นที่ได้รวมทั้งสิ้น 2,478.38 ตัน นำเชื้อเพลิงไปใช้ประโยชน์ 123.21 ตัน (5) พัฒนาระบบพยากรณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล โดยสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 3 วัน และอยู่ระหว่างการพัฒนาให้พยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน เพื่อเป็นการแจ้งเตือนประชาชน ผ่านช่องทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และทางแอปพลิเคชัน Air4Thai

                2) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ดำเนินการ เช่น (1) ให้ทุกจังหวัดจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ (2) จัดทำแผนเผชิญเหตุ ปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยง การแบ่งพื้นที่รับผิดชอบภารกิจถึงระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และ (3) เน้นย้ำการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางโดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และนำผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไปปรับใช้ในการขยายผล

                3) กทม. ได้ดำเนินการ เช่น (1) เฝ้าระวังฝุ่นละออง PM2.5ในพื้นที่ กทม. โดยมีสถานีตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในรูปแบบของตู้คอนเทนเนอร์ แบบติดตั้งบนเสาเหล็ก และแบบติดตั้งภายนอกอาคาร รวมทั้งสิ้น 70 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต มีรถตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 4 คัน และเครื่องตรวจวัดแบบภายนอกอาคาร จำนวน 4 เครื่อง (2) เพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบของสวนสาธารณะและสวนหย่อม รวม 8,769 แห่ง โดยมีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียว 7.30 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน และจัดทำโครงการ GREEN BANGKOK 2030 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตารางเมตรต่อคน ภายในปี 2573 โดยมีสวนสาธารณะตามโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว 6 แห่ง

        1.2) การควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะต่างๆ

                1) ทส. ได้ดำเนินการ เช่น ยกเลิกการใช้เครื่องตรวจวัดควันดำแบบกระดาษกรอง และกำหนดระยะเวลาการใช้เครื่องมือวัดควันดำระบบวัดค่าความทึบแสงทดแทนเครื่องมือวัดควันดำระบบกระดาษกรอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568

                2) กระทรวงคมนาคม (คค.) ได้ดำเนินการ เช่นมาตรการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด โดยเปลี่ยนไปใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ในรถโดยสารสาธารณะ 2,184 คัน และเรือโดยสารสาธารณะ 117 ลำ

                3) กทม. ได้ดำเนินการ เช่น ตรวจสอบรถราชการในสังกัด กทม. ครั้งที่ 2 จำนวน 7,014 คัน ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 3 คัน และให้นำรถไปปรับปรุงแก้ไขให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

        1.3) การประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องปัญหาฝุ่นและมลพิษทางอากาศ

                1) ทส. ได้ดำเนินการ เช่น สื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ

                2) กทม. ได้ดำเนินการ เช่น ประชาสัมพันธ์และรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศ ผ่านช่องทางต่างๆ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษ และในช่วงวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 จะมีการเพิ่มรอบเวลาแจ้งเตือนผลตรวจวัดฝุ่นละอองให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางต่างๆ จากเดิม 1 รอบเวลา เป็น 3 รอบเวลา ได้แก่ 07.00 . 12.00 . และ 15.00 .

        1.4) ข้อเสนอแนะของ ทส. เช่น ควรกำหนดมาตรการรองรับกรณีเลื่อนการบังคับใช้เฉพาะรถยนต์ใหม่ตามมาตรฐานยูโร 5 ออกไปเป็นภายในปี 2567 เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและผลักดันการขยายเครือข่ายการตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งให้บูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเอกภาพ

 

ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : เช่น

1) คณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้ขยายผลการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งจะได้มีการรายงานผลการติดตามเพื่อฝ่ายเลขานุการ กตน. นำเสนอ กตน. ทราบต่อไป

2) ให้ ทส. ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญของการลดลงของฝุ่นละออง PM2.5 ร้อยละ 9 ในปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ที่มีมาตรการปิดเมืองและมาตรการทำงานที่บ้าน ในขณะนั้นหรือมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยหรือไม่

3) เห็นควรให้พิจารณาความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงการเกิดจุดความร้อนกับการจัดสรรงบประมาณหรืองบพัฒนาพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการขับเคลื่อนการลดจุดความร้อนและเฝ้าระวังการเผาของชุมชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่

4) เห็นควรให้มีการศึกษาเรื่องการนำเครื่องมือการจัดการมลพิษทางอากาศรูปแบบเดียวกับที่ใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความคุ้มค่าและสามารถลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ได้

มติที่ประชุม :

1) รับทราบ

2) เห็นควรให้ ทส. มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณา

2) การพัฒนาความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพระดับโลก

        2.1) การพัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว โดย ทส. ได้ดำเนินการ เช่น (1) พัฒนาอุทยานแห่งชาติ ด้านอารยสถาปัตย์ โดยติดตั้งอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือและป้ายสัญลักษณ์สำหรับห้องน้ำเพื่อคนทั้งมวล 155 แห่ง (2) พัฒนาและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อเสริมศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยว (3) อนุรักษ์และพัฒนามรดกธรณีและอุทยานธรณี โดยส่งเสริมและสนับสนุนอุทยานธรณีเพื่อพัฒนาระดับอุทยานธรณีในระดับต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 7 พื้นที่ และ (4) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งอนุรักษ์นอกถิ่นที่อยู่

        2.2) แนวทางการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสู่ระดับโลก

                1) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ได้ดำเนินการ เช่น ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้แก่หน่วยงานเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวทั้งภาครัฐภาคเอกชน และประชาชนผู้สนใจ ด้วยการจัดอบรม เสวนา ผ่านสื่อออนไลน์

                2) มท. ได้ดำเนินการ เช่น ส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ปี 2564 ผ่านโครงการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และโครงการส่งเสริมการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว

        2.3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยววิถีเกษตรในแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จำนวน 77 แห่ง

        2.4) พัฒนาโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีแผนการดำเนินการ 3 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1 งานศึกษาและเตรียมความพร้อมโครงการ ระยะที่ 2 เตรียมพื้นที่ก่อสร้าง และระยะที่ 3 งานก่อสร้าง นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialized Expo จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่องาน Expo 2028-Phuket, Thailand เป็นงานมหกรรมแสดงนวัตกรรมและการพัฒนาระดับโลก

        2.5) ข้อเสนอแนะ เช่น กก. เสนอว่า ควรพัฒนาระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายใต้รูปแบบเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นระบบในระยะต่อไป ทส. เสนอว่า ควรมีการปรับปรุง แก้ไข ระเบียบข้อบังคับให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้สามารถร่วมดำเนินการด้านการท่องเที่ยวกับภาคเอกชนได้ และ กษ. เสนอว่า ควรส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรพัฒนาสินค้าของฝากของที่ระลึก และขายผ่านตลาดออนไลน์

 

ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : เช่น

1) ให้ กก. ส่งข้อมูลการวิเคราะห์ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยว และการกระจายรายได้ในระดับพื้นที่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ประเภทผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ และประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดวิสัยทัศน์ และนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

2) การท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการสนับสนุนประชาชนในการหารายได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะการค้าชุมชนภาคการเกษตร ที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้มีการยกระดับเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับล่างต่อไป

3) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหลายประเทศยังคงจำกัดการเดินทาง จึงควรมีการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวของไทยผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็น Virtual Tours ให้มากยิ่งขึ้น

มติที่ประชุม :

1) รับทราบ

2) เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอแนะของ กก. ทส. มท. และ กษ. ไปพิจารณา

3) รายงานการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป

        3.1) ผลการใช้จ่ายงบประมาณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 โดยในภาพรวมมีผลการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 793,887.1054 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 637,907.7992 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 155,979.3063 ล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าแผนการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 225,023.7599 ล้านบาท

        3.2) สรุปรายการผูกพันใหม่ของปีงบประมาณ .. 2565 ที่มีวงเงินทั้งสิ้นเกิน 1,000 ล้านบาท ภาพรวมรายการผูกพันใหม่ฯ 5 กระทรวง วงเงินภาระผูกพัน มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ .. 2561 จำนวน 9 รายการ 19,999.1455 ล้านบาท

  มติที่ประชุม : รับทราบ

4) รายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการใน กตน.

        โดยคณะอนุกรรมการด้านการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ได้รายงานผลงานที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในปี 2565 ของส่วนราชการต่างๆ ที่สอดคล้องกับหัวข้อหลักของการจัดประชุมเปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุลโดยมี 20 หน่วยงาน ได้ส่งผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ (1) ด้านการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมเพื่อผลักดันการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุลในทุกมิติ (2) ด้านการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และ (3) ด้านการฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว

 

ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. :

1) การประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลในด้านต่างๆ จะช่วยสร้างประโยชน์ให้ประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งประโยชน์ทางตรง คือ การแสดงศักยภาพของประเทศในการรองรับด้านการค้า การลงทุน และประโยชน์ทางอ้อม เช่น การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว จึงเห็นควรให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประเทศที่เข้าร่วมประชุม และประชาชนในประเทศได้รับทราบ และเห็นควรให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพที่ดี

2) ควรส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐจัดสัมมนาในประเด็นเกี่ยวกับการประชุมAPEC ในระดับภูมิภาคให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภูมิภาค กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

มติที่ประชุม : รับทราบผลการรวบรวมและบูรณาการผลงานที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC ปี 2565 ตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 มกราคม 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A1442

 Click Donate Support Web

EXIM One 720x90 C JGC 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100NHA720x100

เจนเนอราลี่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!