สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 7/2564
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 January 2022 22:34
- Hits: 9862
สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 7/2564
คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี (กตน.) เสนอ สรุปผลการประชุมคณะกรรมการติดตามการดำเนินงานตามนโยบายรัฐบาลและข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบการประชุมทางไกล และให้ส่วนราชการรับประเด็นและมติของที่ประชุม กตน. ไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ในการประชุม กตน. ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2564 โดยมีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมฯ มีผลการประชุมฯ สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
ความเห็น/ข้อสังเกต/มติที่ประชุม กตน. |
|
1) การแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองและหมอกควันไฟป่าอย่างยั่งยืน 1.1) การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการมลพิษ 1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ดำเนินการ เช่น (1) ผลการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เปรียบเทียบ ปี 2563 และ 2564 พื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือระหว่างวันที่ 1 ม.ค. - 31 พ.ค. โดยจำนวนวันที่ PM2.5 มีค่าเกินเกณฑ์มาตรฐาน ปี 2564 ลดลงร้อยละ 8ค่าเฉลี่ย PM2.5 ปี 2564 ลดลงร้อยละ 13 และจุดความร้อนภาพรวม ลดลงร้อยละ 52 (2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง ภายใต้คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อเสนอแนะมาตรการและแนวทางการบริหารจัดการสำหรับป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าว (3) พัฒนาระบบบริหารจัดการการเผาในที่โล่ง โดยจัดทำระบบเสร็จสมบูรณ์ และคาดว่านำระบบมาใช้งานจริงในพื้นที่ภาคเหนือในช่วงต้นปี 2565 (4) จัดกิจกรรมชิงเก็บ ลดเผา นำเชื้อเพลิงไปใช้ประโยชน์ ร่วมกับหมู่บ้าน เครือข่าย และราษฎร ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 3 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือโดยเก็บขนเชื้อเพลิงจากพื้นที่ได้รวมทั้งสิ้น 2,478.38 ตัน นำเชื้อเพลิงไปใช้ประโยชน์ 123.21 ตัน (5) พัฒนาระบบพยากรณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล โดยสามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ 3 วัน และอยู่ระหว่างการพัฒนาให้พยากรณ์ล่วงหน้า 7 วัน เพื่อเป็นการแจ้งเตือนประชาชน ผ่านช่องทางเว็บไซต์ Air4Thai.com และทางแอปพลิเคชัน Air4Thai 2) กระทรวงมหาดไทย (มท.) ได้ดำเนินการ เช่น (1) ให้ทุกจังหวัดจัดตั้งคณะทำงานติดตามสถานการณ์ภายใต้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเพื่อทำหน้าที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ที่ส่งผลต่อการเกิดปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่ (2) จัดทำแผนเผชิญเหตุ ปรับปรุงข้อมูลพื้นที่เสี่ยง การแบ่งพื้นที่รับผิดชอบภารกิจถึงระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน และ (3) เน้นย้ำการป้องกันและลดการเกิดมลพิษที่ต้นทางโดยบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และนำผลการดำเนินงานที่ผ่านมาไปปรับใช้ในการขยายผล 3) กทม. ได้ดำเนินการ เช่น (1) เฝ้าระวังฝุ่นละออง PM2.5ในพื้นที่ กทม. โดยมีสถานีตรวจวัดฝุ่นละออง PM2.5 ในรูปแบบของตู้คอนเทนเนอร์ แบบติดตั้งบนเสาเหล็ก และแบบติดตั้งภายนอกอาคาร รวมทั้งสิ้น 70 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 50 เขต มีรถตรวจวัดคุณภาพอากาศ จำนวน 4 คัน และเครื่องตรวจวัดแบบภายนอกอาคาร จำนวน 4 เครื่อง (2) เพิ่มพื้นที่สีเขียวในรูปแบบของสวนสาธารณะและสวนหย่อม รวม 8,769 แห่ง โดยมีอัตราส่วนพื้นที่สีเขียว 7.30 ตารางเมตรต่อประชากร 1 คน และจัดทำโครงการ GREEN BANGKOK 2030 เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้ได้ 10 ตารางเมตรต่อคน ภายในปี 2573 โดยมีสวนสาธารณะตามโครงการที่เปิดให้บริการแล้ว 6 แห่ง 1.2) การควบคุมและลดมลพิษจากยานพาหนะต่างๆ 1) ทส. ได้ดำเนินการ เช่น ยกเลิกการใช้เครื่องตรวจวัดควันดำแบบกระดาษกรอง และกำหนดระยะเวลาการใช้เครื่องมือวัดควันดำระบบวัดค่าความทึบแสงทดแทนเครื่องมือวัดควันดำระบบกระดาษกรอง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 2) กระทรวงคมนาคม (คค.) ได้ดำเนินการ เช่นมาตรการเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด โดยเปลี่ยนไปใช้น้ำมันไบโอดีเซล B20 ในรถโดยสารสาธารณะ 2,184 คัน และเรือโดยสารสาธารณะ 117 ลำ 3) กทม. ได้ดำเนินการ เช่น ตรวจสอบรถราชการในสังกัด กทม. ครั้งที่ 2 จำนวน 7,014 คัน ซึ่งไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 3 คัน และให้นำรถไปปรับปรุงแก้ไขให้ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน 1.3) การประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่ประชาชนในเรื่องปัญหาฝุ่นและมลพิษทางอากาศ 1) ทส. ได้ดำเนินการ เช่น สื่อสารประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ให้ครอบคลุมทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยจัดตั้งคณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และการจัดตั้งศูนย์แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ 2) กทม. ได้ดำเนินการ เช่น ประชาสัมพันธ์และรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศ ผ่านช่องทางต่างๆ โดยบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมควบคุมมลพิษ และในช่วงวิกฤติฝุ่นละออง PM2.5 จะมีการเพิ่มรอบเวลาแจ้งเตือนผลตรวจวัดฝุ่นละอองให้ประชาชนรับทราบผ่านช่องทางต่างๆ จากเดิม 1 รอบเวลา เป็น 3 รอบเวลา ได้แก่ 07.00 น. 12.00 น. และ 15.00 น. 1.4) ข้อเสนอแนะของ ทส. เช่น ควรกำหนดมาตรการรองรับกรณีเลื่อนการบังคับใช้เฉพาะรถยนต์ใหม่ตามมาตรฐานยูโร 5 ออกไปเป็นภายในปี 2567 เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและผลักดันการขยายเครือข่ายการตรวจวัดคุณภาพอากาศให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งให้บูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารที่เป็นเอกภาพ |
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : เช่น 1) คณะอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ได้ขยายผลการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งจะได้มีการรายงานผลการติดตามเพื่อฝ่ายเลขานุการ กตน. นำเสนอ กตน. ทราบต่อไป 2) ให้ ทส. ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัจจัยสำคัญของการลดลงของฝุ่นละออง PM2.5 ร้อยละ 9 ในปี 2564 เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2563 ซึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 (โควิด-19) ที่มีมาตรการปิดเมืองและมาตรการทำงานที่บ้าน ในขณะนั้นหรือมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมด้วยหรือไม่ 3) เห็นควรให้พิจารณาความเป็นไปได้ของการเชื่อมโยงการเกิดจุดความร้อนกับการจัดสรรงบประมาณหรืองบพัฒนาพื้นที่ เพื่อเป็นการสร้างแรงจูงใจในการขับเคลื่อนการลดจุดความร้อนและเฝ้าระวังการเผาของชุมชนและทุกภาคส่วนในพื้นที่ 4) เห็นควรให้มีการศึกษาเรื่องการนำเครื่องมือการจัดการมลพิษทางอากาศรูปแบบเดียวกับที่ใช้ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งมีความคุ้มค่าและสามารถลดปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ได้ มติที่ประชุม : 1) รับทราบ 2) เห็นควรให้ ทส. มท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณา |
|
2) การพัฒนาความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพระดับโลก 2.1) การพัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว โดย ทส. ได้ดำเนินการ เช่น (1) พัฒนาอุทยานแห่งชาติ ด้านอารยสถาปัตย์ โดยติดตั้งอุปกรณ์ขอความช่วยเหลือและป้ายสัญลักษณ์สำหรับห้องน้ำเพื่อคนทั้งมวล 155 แห่ง (2) พัฒนาและฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อเสริมศักยภาพและยกระดับขีดความสามารถการท่องเที่ยว (3) อนุรักษ์และพัฒนามรดกธรณีและอุทยานธรณี โดยส่งเสริมและสนับสนุนอุทยานธรณีเพื่อพัฒนาระดับอุทยานธรณีในระดับต่างๆ จำนวนทั้งสิ้น 7 พื้นที่ และ (4) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกที่เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งอนุรักษ์นอกถิ่นที่อยู่ 2.2) แนวทางการยกระดับแหล่งท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสู่ระดับโลก 1) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) ได้ดำเนินการ เช่น ส่งเสริมองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวให้แก่หน่วยงานเจ้าของแหล่งท่องเที่ยวทั้งภาครัฐภาคเอกชน และประชาชนผู้สนใจ ด้วยการจัดอบรม เสวนา ผ่านสื่อออนไลน์ 2) มท. ได้ดำเนินการ เช่น ส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยวนวัตวิถี ปี 2564 ผ่านโครงการพัฒนากระบวนการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และโครงการส่งเสริมการบริหารจัดการชุมชนท่องเที่ยวรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว 2.3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้ดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยววิถีเกษตรในแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร จำนวน 77 แห่ง 2.4) พัฒนาโครงการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ จังหวัดภูเก็ต สู่เมืองท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีแผนการดำเนินการ 3 ระยะได้แก่ ระยะที่ 1 งานศึกษาและเตรียมความพร้อมโครงการ ระยะที่ 2 เตรียมพื้นที่ก่อสร้าง และระยะที่ 3 งานก่อสร้าง นอกจากนี้ จังหวัดภูเก็ตได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดงาน Specialized Expo ณ จังหวัดภูเก็ต ภายใต้ชื่องาน Expo 2028-Phuket, Thailand เป็นงานมหกรรมแสดงนวัตกรรมและการพัฒนาระดับโลก 2.5) ข้อเสนอแนะ เช่น กก. เสนอว่า ควรพัฒนาระบบการเชื่อมโยงเครือข่ายการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวภายใต้รูปแบบเครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์อย่างเป็นระบบในระยะต่อไป ทส. เสนอว่า ควรมีการปรับปรุง แก้ไข ระเบียบข้อบังคับให้องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้สามารถร่วมดำเนินการด้านการท่องเที่ยวกับภาคเอกชนได้ และ กษ. เสนอว่า ควรส่งเสริมให้แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรพัฒนาสินค้าของฝากของที่ระลึก และขายผ่านตลาดออนไลน์ |
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : เช่น 1) ให้ กก. ส่งข้อมูลการวิเคราะห์ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยว และการกระจายรายได้ในระดับพื้นที่ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด ประเภทผู้ประกอบการกลุ่มต่างๆ และประชาชนที่ได้รับประโยชน์จากการท่องเที่ยว เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดวิสัยทัศน์ และนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 2) การท่องเที่ยวจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการสนับสนุนประชาชนในการหารายได้เพิ่มเติม โดยเฉพาะการค้าชุมชนภาคการเกษตร ที่อยู่ในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมให้มีการยกระดับเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับล่างต่อไป 3) ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งหลายประเทศยังคงจำกัดการเดินทาง จึงควรมีการพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวของไทยผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลให้เป็น Virtual Tours ให้มากยิ่งขึ้น มติที่ประชุม : 1) รับทราบ 2) เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อเสนอแนะของ กก. ทส. มท. และ กษ. ไปพิจารณา |
|
3) รายงานการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบประมาณที่เกินกว่า 1,000 ล้านบาท ขึ้นไป 3.1) ผลการใช้จ่ายงบประมาณ ณ วันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 โดยในภาพรวมมีผลการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 793,887.1054 ล้านบาท (รายจ่ายประจำ 637,907.7992 ล้านบาท และรายจ่ายลงทุน 155,979.3063 ล้านบาท) ซึ่งสูงกว่าแผนการใช้จ่ายงบประมาณ จำนวน 225,023.7599 ล้านบาท 3.2) สรุปรายการผูกพันใหม่ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ที่มีวงเงินทั้งสิ้นเกิน 1,000 ล้านบาท ภาพรวมรายการผูกพันใหม่ฯ 5 กระทรวง วงเงินภาระผูกพัน มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 จำนวน 9 รายการ 19,999.1455 ล้านบาท |
มติที่ประชุม : รับทราบ | |
4) รายงานผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการใน กตน. โดยคณะอนุกรรมการด้านการสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ได้รายงานผลงานที่สำคัญของรัฐบาลเพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ในโอกาสที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC) ในปี 2565 ของส่วนราชการต่างๆ ที่สอดคล้องกับหัวข้อหลักของการจัดประชุม “เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล”โดยมี 20 หน่วยงาน ได้ส่งผลการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่ (1) ด้านการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและครอบคลุมเพื่อผลักดันการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุลในทุกมิติ (2) ด้านการอำนวยความสะดวกด้านการค้าและการลงทุน และ (3) ด้านการฟื้นฟูความเชื่อมโยง โดยเฉพาะการเดินทางและการท่องเที่ยว |
ความเห็นและข้อสังเกตของ กตน. : 1) การประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลในด้านต่างๆ จะช่วยสร้างประโยชน์ให้ประเทศทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งประโยชน์ทางตรง คือ การแสดงศักยภาพของประเทศในการรองรับด้านการค้า การลงทุน และประโยชน์ทางอ้อม เช่น การเสริมสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและการท่องเที่ยว จึงเห็นควรให้มีการประชาสัมพันธ์ให้ประเทศที่เข้าร่วมประชุม และประชาชนในประเทศได้รับทราบ และเห็นควรให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าภาพที่ดี 2) ควรส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐจัดสัมมนาในประเด็นเกี่ยวกับการประชุมAPEC ในระดับภูมิภาคให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจภูมิภาค กระจายรายได้สู่ท้องถิ่น และให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น มติที่ประชุม : รับทราบผลการรวบรวมและบูรณาการผลงานที่สำคัญของรัฐบาล เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์ในโอกาสที่ไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APEC ปี 2565 ตามที่คณะอนุกรรมการฯ เสนอ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1442