รายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีกรณีหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่อง การป้องกันและลดอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 January 2022 22:22
- Hits: 9586
รายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีกรณีหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่อง การป้องกันและลดอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัย
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบรายงานเสนอต่อคณะรัฐมนตรีกรณีหน่วยงานของรัฐยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนตามหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เรื่อง การป้องกันและลดอันตรายจากอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัย ตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผผ.) เสนอ และให้กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานตำรวจแห่งชาติรับข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินไปพิจารณาดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วนตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
ผผ. รายงานว่า รัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุบนท้องถนนอยู่เป็นระยะซึ่งรวมถึงการบังคับใช้และรณรงค์กวดขันให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนน ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2561 - 2564) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือเพียง 18 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคนภายในปี 2564 อย่างไรก็ตาม การรณรงค์ให้ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ใช้รถจักรยานยนต์เท่าที่ควร ทำให้แนวโน้มการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นทุกปี ดังนั้น ผผ. จึงได้เสนอรายงานการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัยต่อคณะรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้
1. สภาพปัญหาและปัจจัยที่ทำให้การแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัยไม่มีประสิทธิภาพและไม่สามารถช่วยลดอัตราการเสียชีวิตได้ในระยะยาว สรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สภาพปัญหา/ปัจจัย |
(1) การบังคับใช้กฎหมายการสวมหมวกนิรภัย |
1) พระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 มีการเพิ่มอัตราค่าปรับให้สูงขึ้นแต่ยังพบผู้ขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ไม่สวมหมวกนิรภัย สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะมีการปรับเพิ่มอัตราค่าปรับแต่ผู้ขับขี่ยังคงขาดจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยและวินัยจราจร รวมทั้งสถิติอุบัติเหตุทางถนนไม่ได้ลดลง 2) การบังคับใช้กฎหมายจราจรของเจ้าหน้าที่ตำรวจ พบว่า การตั้งจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรเป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้ผู้ขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยมากขึ้น แต่ในปัจจุบันจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจมีไม่เพียงพอต่อการตั้งด่าน อีกทั้งยังขาดแคลนเครื่องมือ อุปกรณ์ ในการปฏิบัติงาน อย่างไรก็ตาม ได้มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการปฏิบัติงาน โดยการติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดตั้งให้ครอบคลุมได้ในทุกพื้นที่และเกิดปัญหากล้องใช้งานไม่ได้หรือไม่สามารถบันทึกภาพได้บ่อยครั้ง รวมทั้งพบว่าเจ้าหน้าที่มีการเลือกปฏิบัติและละเว้นการจับกุมต่อพวกพ้องของตนหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ต่อผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่า |
(2) การบริหารจัดการด้านนโยบาย การรณรงค์และมาตรการของรัฐในการสร้างทัศนคติและการปลูกฝังวินัยการสวมหมวกนิรภัย |
1) การบริหารจัดการของภาครัฐ หน่วยงานของรัฐมีนโยบายหรือมาตรการที่น่าสนใจและโครงการที่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเป็นอย่างดี แต่ภาครัฐไม่มีการติดตามและประเมินผลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องภายหลังจากเริ่มดำเนินมาตรการ/โครงการ จึงไม่สามารถสร้างความตระหนักรู้และปลูกจิตสำนึกด้านวินัยจราจรแก่ผู้ใช้รถและถนนในระยะยาวได้ อีกทั้งหน่วยงานบางแห่งไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ใช่ภารกิจหลักของหน่วยงาน จึงทำให้การแก้ปัญหาการสวมหมวกนิรภัยเพื่อป้องกันอุบัติเหตุไม่เกิดผลสัมฤทธิ์ในระยะยาว 2) การสร้างทัศนคติและการปลูกฝังวินัยการสวมหมวกนิรภัยให้แก่เด็กปฐมวัยและเยาวชน ปัจจุบันอัตราการสวมหมวกนิรภัยในกลุ่มเด็กและเยาวชนมีเพียงร้อยละ 7 ขณะที่กลุ่มผู้ใหญ่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 43 ส่งผลให้เด็กและเยาวชนอายุตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ 19 ปี เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนจากการขับขี่หรือซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ในช่วงปี 2556 -2560 มีจำนวนสูงถึง 17,634 ราย หรือเฉลี่ยปีละ 3,526 ราย ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐได้เผยแพร่ความรู้เรื่องกฎจราจรเบื้องต้นมากกว่าการปลูกฝังค่านิยม การสร้างวินัย หรือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัย และไม่ได้สร้างการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งไม่มีการกำหนดยุทธศาสตร์เรื่องการปกป้องความปลอดภัยของเด็กปฐมวัยและเยาวชนในด้านความปลอดภัยทางถนนจากการโดยสารรถจักรยานยนต์ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเน้นการเสริมสร้างปลูกฝัง สร้างความตระหนักรู้ โดยให้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจัดทำแผนงานเพื่อให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งการกำหนดการใช้สื่อเพื่อให้ความรู้ที่เหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงวัยด้วย |
(3) การมีส่วนร่วมของภาคเอกชนในการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ |
ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการร่วมสร้างกฎระเบียบและกระตุ้นให้ประชาชนสวมหมวกนิรภัย โดยเป็นการดำเนินการร่วมกับภาครัฐในการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นความสำคัญของการสวมหมวกนิรภัย เช่น สถานประกอบกิจการเข้าร่วมโครงการกับคณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจร (สอจร.) โดยมีการส่งเสริมการสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 100 ตลอดทั้งปี ซึ่งจากสถิติ พบว่า มีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ของพนักงานลดลง อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การมีส่วนร่วมหรือการสนับสนุนจากภาคเอกชนยังไม่มีความต่อเนื่องและครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในระดับจังหวัดและระดับอำเภอหรือหากมีส่วนร่วมจะจำกัดเฉพาะในช่วงที่มีการรณรงค์จากภาครัฐเท่านั้น |
2. ข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนที่มีสาเหตุจากการไม่สวมหมวกนิรภัย สรุปได้ดังนี้
หน่วยงาน |
ข้อเสนอแนะ |
(1) กระทรวงมหาดไทย (มท.) |
1) กำหนดให้นโยบายและมาตรการด้านความปลอดภัยทางถนนเป็นวาระเร่งด่วนและจัดตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยทางถนนในระดับจังหวัด 2) สนับสนุนและผลักดันการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับบริบทของแต่ละจังหวัดและทุกจังหวัด รวมทั้งควรมีการจัดประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยความปลอดภัยทางถนนของจังหวัดเป็นประจำทุกเดือน 3) สร้างเครือข่ายประชาคมทำงานกับชุมชนและรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักถึงการสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งที่มีการขับขี่รถจักรยานยนต์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยใช้กลไก สอจร. ระดับจังหวัดเพื่อขับเคลื่อนให้ชุมชนเกิดการตื่นตัว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 1) ขอความร่วมมือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ให้การสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมด้านความปลอดภัยทางถนนอย่างต่อเนื่อง โดยให้บรรจุในงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2) ให้ศูนย์ปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางถนนของ อปท. จัดทำโครงการรณรงค์การสวมหมวกนิรภัยในเด็กปฐมวัยของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมหรือเข้าร่วมการอบรมและควรกำหนดให้พื้นที่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเป็นเขตสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 100 รวมทั้งติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการดังกล่าวเพื่อจัดทำข้อเสนอ มาตรการ และแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเป็นประจำทุกไตรมาส พร้อมทั้งถอดบทเรียนจากอุบัติเหตุที่ผ่านมาเพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาในแต่ละพื้นที่ต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป |
(2) กระทรวงคมนาคม (คค.) |
เร่งรัดการพิจารณาร่างระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการพักใช้หรือการเพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์และใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. .... ในการกำหนดให้ผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรและผู้ที่ได้รับใบสั่งต้องเข้ารับการอบรมทุกครั้ง รวมทั้งเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ข้อกำหนดว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับระบบการบันทึกคะแนนความประพฤติในการขับรถ การกำหนดคะแนน การตัดคะแนน การคืนคะแนน และการเข้ารับการอบรมความรู้เกี่ยวกับการขับรถและวินัยจราจร พ.ศ. 2562 และ 2) ร่างระเบียบกรมการขนส่งทางบกว่าด้วยการพักใช้หรือการเพิกถอนใบอนุญาตขับรถยนต์และใบอนุญาตขับรถจักรยานยนต์ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. .... ซึ่งต้องสอดคล้องกับการตัดแต้มใบอนุญาตขับขี่ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติม |
(3) กระทรวงศึกษาธิการ |
1) บรรจุหลักสูตรเรื่องความปลอดภัยทางถนนและสร้างจิตสำนึกในการสวมหมวกนิรภัยให้แก่เด็กและเยาวชน โดยปลูกฝังตั้งแต่เด็กปฐมวัยหรืออนุบาลและระดับเยาวชน เช่น การสอดแทรกหลักสูตรความปลอดภัยทางถนนในวิชาสุขศึกษาและจัดทำโครงการ “หนูน้อยหัวดี” ผ่านสื่อการสอนที่เข้าใจง่าย โดยสถานศึกษาควรสร้างและพัฒนาเกณฑ์มาตรฐาน ระบบการตรวจ ติดตาม ประเมินผล และการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างวัฒนธรรมการขับขี่อย่างปลอดภัยแก่นักเรียน 2) ส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกระบวนการเสริมสร้างจิตสำนึกด้านความปลอดภัยทางถนนผ่านกระบวนการจัดการเรียนการสอนเชิงบูรณาการระหว่างสถานศึกษาท้องถิ่นกับ อปท. โดยจัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ด้านความปลอดภัยทางถนนในโรงเรียนและพัฒนาหลักสูตรให้สอดรับกันในแต่ละช่วงอายุของเยาวชน |
(4) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) |
1) สร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมในการรณรงค์ส่งเสริมการสร้างค่านิยมเรื่องการสวมหมวกนิรภัยในชุมชน โดยให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขพื้นฐานในแต่ละตำบลและสอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการสวมหมวกนิรภัยให้แก่ประชาชนในชุมชนตนเอง โดยให้ติดตามและรายงานผลการดำเนินการทุกไตรมาส 2) จัดทำสถิติจำนวนผู้ใช้รถจักรยานยนต์ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากการไม่สวมหมวกนิรภัยเพื่อนำมาวิเคราะห์และศึกษาสาเหตุที่แท้จริงและวางแผนแก้ไขปัญหาให้ตรงจุดต่อไป 3) อบรมให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อนำความรู้ในเรื่องการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในทุกจังหวัด เนื่องจาก อสม. สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายและสร้างความไว้วางใจต่อประชาชนในชุมชนได้เป็นอย่างดี |
(5) กระทรวงแรงงาน (รง.) (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน) |
1) ประสานผู้ประกอบกิจการจัดโครงการรณรงค์ “สวมหมวกนิรภัย 100%” เพื่อเปิดโอกาสให้สถานประกอบกิจการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิและพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม 2) จัดทำกรอบแนวทางการพัฒนาศักยภาพในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยภายในสถานประกอบกิจการ โดยให้ความรู้แก่พนักงานเรื่องกฎจราจรและเทคนิคการสวมหมวกนิรภัยที่ปลอดภัยรวมทั้งกำหนดให้สถานประกอบกิจการเป็นพื้นที่สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 100 3) ออกประกาศ รง. เพื่อขอความร่วมมือให้นายจ้างสถานประกอบกิจการรณรงค์ให้สวมหมวกนิรภัยร้อยละ 100 |
(6) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) |
1) เพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ควรมีการตั้งด่านตรวจจับกุมผู้กระทำผิดกฎจราจรอย่างสม่ำเสมอ 2) นำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาโดยติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพื่อใช้เป็นหลักฐานสำหรับดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดกฎจราจร 3) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ระบบใบสั่งอิเล็กทรอนิกส์ด้วยการกำหนดค่าปรับให้สูงขึ้นและเป็นหลักเกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจควรปฏิบัติหน้าที่อย่างเข้มงวด สม่ำเสมอ และไม่เลือกปฏิบัติ |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1441