WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ

GOV5 copy copy

แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ

          คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ ปัญหาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเพื่อให้ คค. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการต่อไป

          สาระสำคัญของเรื่อง 

          คค. รายงานว่า คค. โดยกรมเจ้าท่า ได้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของคณะกรรมการ ... และแผนบูรณาการมาตรการป้องกันการทุจริตเกี่ยวกับสิ่งล้วงล้ำลำน้ำ สรุปผลการดำเนินการได้ ดังนี้

          1. ความคืบหน้าการดำเนินการ

                 1.1 จัดทำโครงการสำรวจจัดทำแผนที่และรายละเอียดสิ่งปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำทั่วประเทศ โดยการรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ และจำแนกสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ได้รับอนุญาตและที่ไม่ได้รับอนุญาต เพื่อนำมากำหนดแนวเขตทางน้ำให้มีความชัดเจนรวมทั้งเป็นมาตรการในการควบคุมและป้องกันการปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยผิดกฎหมาย ทั้งนี้ มีการดำเนินการ 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 ดำเนินการแล้วเสร็จเมื่อปี 2563 ระยะที่ 2 อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยมีผลการดำเนินงาน ร้อยละ 38 และระยะที่ 3 ได้รับจัดสรรงบประมาณแล้วและอยู่ระหว่างเริ่มดำเนินการ

                 1.2 ปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ โดยมีการจัดทำพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย (ฉบับที่ 17) .. 2560 ซึ่งได้ปรับแก้อัตราโทษให้มีความเหมาะสมกับการแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ทางน้ำสาธารณะที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น (จากเดิมระวางโทษปรับไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 500 ถึง 10,000 บาทเป็นจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่น้อยกว่าตารางเมตรละ 1,000 ถึง 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันวันละไม่เกินตารางเมตรละ 20,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าท่า”) ยกเลิกการอนุญาตย้อนหลังให้แก่สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกำหนดให้สันนิษฐานว่าเจ้าหน้าที่ของกรมเจ้าท่าผู้ใดได้รับแจ้งเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่มิชอบด้วยกฎหมายแล้วไม่ดำเนินการตามกฎหมายเป็นการกระทำผิดวินัยร้ายแรง

 

TU720x100

 

                 1.3 ดำเนินการกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ปลูกสร้างขึ้นโดยไม่ได้รับอนุญาตและได้รับอนุญาต

                          (1) ขึ้นทะเบียนสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำที่สร้างก่อนวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2515 โดยประชาชนไม่ต้องเสียค่าตอบแทนรายปีสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในกรณีดังกล่าว

                          (2) ออกใบอนุญาตให้สิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ปลูกสร้างโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือสร้างไม่เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาตตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 32/2560 เรื่อง การบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำแม่น้ำ สั่ง วันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2560 ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งสิ่งล่วงล้ำลำน้ำต่อกรมเจ้าท่า จำนวน 86,906 รายการ ขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ จำนวน 59,123 ราย ไม่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบ จำนวน 19,891 ราย และไม่อนุญาต จำนวน 7,892 รายการ (จำนวน 19,891 ราย ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมเจ้าท่า)

                 1.4 ดำเนินคดีกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ได้แจ้งต่อกรมเจ้าท่าแต่ไม่ได้รับอนุญาต สรุปได้ ดังนี้

 

ความคืบหน้า

จำนวน (ราย)

กรมเจ้าท่าได้ออกคำสั่งให้รื้อถอน

9,892

อยู่ระหว่างอุทธรณ์และพิจารณาอุทธรณ์

5,378

ผู้กระทำความผิดดำเนินการรื้อถอนเองไปแล้ว

822

อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีของศาล

950

อยู่ระหว่างรวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดี

683

คดีถึงที่สุดและศาลมีคำพิพากษาให้ดำเนินการรื้อถอน

59

 

                  1.5 รณรงค์และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักในการหวงแหนรักษาทางน้ำสาธารณะให้กับประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนและท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการควบคุมและป้องกันการรุกล้ำพื้นที่ลำน้ำสาธารณะ ดังนี้

                          (1) มอบอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พิจารณาอนุญาตสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและดำเนินคดีสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งขอรับการสนับสนุนจาก อปท. ที่จัดเก็บค่าตอบแทนในการใช้พื้นที่สาธารณะ โดยนำรายได้ดังกล่าวมาใช้ในการดูแลรักษาทางน้ำและรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ผิดกฎหมาย

                          (2) ประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจให้แก่ประชาชน ชุมชน และ อปท. เกี่ยวกับการปลูกสร้างและโทษของการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำรวมถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อให้เกิดจิตสำนึกรักษ์แหล่งน้ำสาธารณะของชุมชน

                          (3) บูรณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย (มท.) จังหวัด อปท. และหน่วยงานอื่นๆ ในการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ไม่รับอนุญาต

                          (4) จัดทำบันทึกความร่วมมือในโครงการบ้านมั่นคงในพื้นที่ลำน้ำสาธารณะระหว่างกรมเจ้าท่า สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และ อปท. เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและการอยู่อาศัยของผู้มีฐานะยากจนในชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของกรมเจ้าท่า เช่น โครงการเทศบาลตำบลหาดเล็ก องค์กรชุมชนจังหวัดตราด จังหวัดตราด

                          (5) จัดตั้งอาสาสมัครทางน้ำในชุมชน ได้แก่ เครือข่ายอาสาวารีและเยาวชนรักษ์น้ำ เพื่อประชาสัมพันธ์และแสวงหาแนวร่วมของชุมชนและท้องถิ่น

                          (6) เน้นการมีส่วนร่วมจากชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ผิดกฎหมาย โดยให้มีการแจ้งเบาะแสการกระทำความผิด

 

sme 720x100

 

         2. ปัญหาและข้อเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ

                 2.1 ปัญหาและอุปสรรค ได้แก่ การรุกล้ำลำน้ำมีจำนวนมาก กำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณไม่เพียงพอ รวมทั้งความร่วมมือจากชุมชน อปท. และหน่วยงานอื่นมีอำนาจหน้าที่ไม่มากพอ ส่งผลให้การป้องกันการรุกล้ำลำน้ำและการบังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพซึ่งทำให้มีการรุกล้ำลำน้ำเพิ่มขึ้น

                 2.2 ข้อเสนอแนะ

                          (1) จัดสรรกำลังเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย การตรวจตรา การปราบปราม การดำเนินคดี และการรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ

                          (2) ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อจัดทำโครงการและดำเนินการด้านต่างๆ ได้แก่

                                   (2.1) โครงการสำรวจจัดทำแผนที่และรายละเอียดสิ่งปลูกสร้างล่วงล้ำลำน้ำเพิ่มเติมในลำคลองและทางน้ำอื่นๆ เพื่อให้ครอบคลุมทางน้ำทุกประเภท

                                   (2.2) โครงการปักหลักเขตควบคุมทางน้ำ

                                   (2.3) โครงการประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับทางน้ำสาธารณะและสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ

                                   (2.4) การรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ได้แจ้งแต่ไม่ได้รับอนุญาต รวมถึงดำเนินคดีและรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่ฝ่าฝืนกฎหมาย

                          (3) ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้โดยเร่งจัดทำโครงการเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับทางน้ำสาธารณะแก่ประชาชน ชุมชน และท้องถิ่น โดยเจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า เครือข่ายอาสาวารีและเยาวชนรักษ์น้ำ รวมทั้งจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทางต่างๆ โดยขอรับการจัดสรรงบประมาณดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

                          (4) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและชุมชน โดยเร่งจัดทำโครงการฝึกอบรมและเพิ่มเครือข่ายอาสาวารีและเยาวชนรักษ์น้ำให้ครอบคลุมการดูแลรักษาทางน้ำสาธารณะทั่วประเทศ และสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเครือข่ายอาสาวารีและเยาวชนรักษ์น้ำ รวมทั้งกิจกรรมของชุมชนและท้องถิ่นในการดูแลรักษาทางน้ำ

                          (5) บูรณาการหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายในการดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ เช่น มท. (กรมการปกครอง อปท.) ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมป่าไม้ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยจัดทำบันทึกความเข้าใจร่วมกันในการตรวจตราและบังคับใช้กฎหมาย

                          (6) ประสานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและ อปท. เพื่อนำเงินค่าตอบแทนรายปีสิ่งล่วงล้ำลำน้ำที่จัดเก็บได้มาสนับสนุนการตรวจตราและการรื้อถอนสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 มกราคม 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A1440

 Click Donate Support Web

EXIM One 720x90 C JGC 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

ais 720x100NHA720x100

เจนเนอราลี่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!