ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai universal health coverage reform for sustainable development) ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 January 2022 21:53
- Hits: 9831
ผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai universal health coverage reform for sustainable development) ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา
คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai universal health coverage reform for sustainable development) ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ และแจ้งให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทราบต่อไป
เรื่องเดิม
1. สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การปฏิรูปหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Thai universal health coverage reform for sustainable development) ของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา มาเพื่อดำเนินการ โดยคณะกรรมาธิการฯ เห็นว่า เพื่อให้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านการเงินการคลัง จึงได้มีข้อเสนอแนะ ดังนี้ (1) ยกระดับการบูรณาการและความยั่งยืนด้านการเงินการคลัง โดยให้มีชุดสิทธิประโยชน์หลักที่ครอบคลุมบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและเบิกจ่ายรูปแบบเดียวกัน และในระยะยาวเสนอให้มีการเก็บภาษีสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน และรวมกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบเป็นระบบเดียว (Single fund) (2) ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและสิทธิรวมถึงคนต่างด้าว (3) พัฒนาการจัดบริการสุขภาพแบบเพิ่มคุณค่า (value based healthcare) โดยสนับสนุนให้มีการนำร่องการจัดบริการแบบเพิ่มคุณค่าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และขยายผลการจัดบริการแบบเพิ่มคุณค่าอย่างเหมาะสมตามข้อเสนอจากการประเมินผลการนำร่อง เพื่อวางระบบอย่างยั่งยืนต่อไป
2. รองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) สั่งและปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้ สธ. เป็นหน่วยงานหลักรับรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สำนักงบประมาณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางและความเหมาะสมของรายงานพร้อมข้อเสนอแนะดังกล่าว และสรุปผลการพิจารณาหรือผลการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
ข้อเท็จจริง
สธ. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณารายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ตามข้อ 1 แล้ว โดยประเด็นการรวมกองทุนสุขภาพภาครัฐทุกระบบเป็นระบบเดียว (Single Fund) ทั้งสิทธิของคนไทยและคนต่างด้าว มีหน่วยงานไม่เห็นด้วยเนื่องจากผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเป็นผู้ที่ต้องมีการร่วมจ่าย โดยผ่านการเก็บเงินสมทบทั้งนี้ หน่วยงานส่วนใหญ่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ โดยสรุปได้ดังนี้
ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการฯ |
ผลการพิจารณา |
|
1. ควรยกระดับการบูรณาการและความยั่งยืนด้านการเงินการคลัง |
|
|
(1) ให้มีชุดสิทธิประโยชน์หลักที่ครอบคลุมบริการสาธารณสุขที่จำเป็นและเบิกจ่ายรูปแบบเดียวกัน และการบูรณาการงบประมาณด้านการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของหน่วยงาน ต่างๆ ได้แก่ สธ. สปสช. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และหน่วยงานอื่นๆ และเน้นการทำงานเชิงรุก | - สธ. ได้มีกิจกรรมปฏิรูปที่ 4 ภายใต้โครงการพัฒนาระบบการเงินการคลังและการบริหารจัดการด้านบริการสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ กำหนดเป้าหมายในการพัฒนาข้อเสนอชุดสิทธิประโยชน์หลักที่จำเป็นสำหรับคนไทยทุกคนที่มีมาตรฐานและบริหารจัดการระบบเดียว โดยเฉพาะบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค (P&P) ให้มีมาตรฐานและบริหารจัดการระบบเดี่ยวทั้งด้านขอบเขตสิทธิประโยชน์กลไกการเงินการคลัง/ธุรกรรมเบิกจ่าย และระบบบริการรองรับและได้มีการเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อเห็นชอบให้ สปสช. ขยายการบูรณาการบริการ P&P ร่วมกับ สสส. สธ. ระบบหลักประกันสุขภาพภาครัฐ และกองทุนที่เกี่ยวข้อง เพื่อบูรณาการงบประมาณและกิจกรรม P&P อย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2565 โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (26 ม.ค. 64) เห็นชอบเรื่องดังกล่าวแล้ว | |
(2) การจ่ายชดเชยค่าบริการต้องจัดการอย่างมีกลยุทธ์ ปรับระบบเพื่อให้กองทุนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันสุขภาพภาครัฐมีการบริหารจัดการไปในทิศทางที่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน | - สปสช. ทำหน้าที่บริหารจัดการสิทธิประโยชน์และจ่ายค่าชดเชยการตรวจคัดกรองและป้องกันการติดเชื้อ Covid - 19 สำหรับคนไทยทุกคนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือบริการสายด่วน 1330 การสนับสนุนชุดตรวจ ATK เป็นต้น และได้มีการทำงานร่วมกัน โดยบูรณาการสิทธิประโยชน์และบริการดูแลรักษาที่สอดคล้องและใกล้เคียงกันอย่างต่อเนื่อง เช่น บริการ Home Isolation และ Community Isolation เป็นต้น | |
ในระยะยาว เสนอให้มีการเก็บภาษีสุขภาพสำหรับคนไทยทุกคน และรวมกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบเป็นระบบเดียว (Single fund) ทั้งสำหรับคนไทยและคนต่างด้าวที่อยู่ประเทศไทยทุกคนเพื่อให้มีเอกภาพ โดยมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง | - การจัดเก็บภาษีส่วนประกอบอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพประมาณการจำนวนเงิน 9,500 ล้านบาทต่อปี จากการเก็บภาษี 5% ของมูลค่าการผลิตส่วนประกอบอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเป็นการจัดเก็บที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพโดยตรงและอาจทำให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงจนต้นทุนด้านสุขภาพในอนาคตลดลง อย่างไรก็ตามอาจเป็นภาระแก่ผู้บริโภค สำหรับการรวมกองทุนประกันสุขภาพภาครัฐทุกระบบเป็นระบบเดียว (Single fund) ทั้งสำหรับคนไทยและคนต่างด้าวนั้นเห็นควรกำกับทิศทางนโยบาย ในกรณีมีหน่วยบริหารการคลังระบบสาธารณสุขหลายหน่วย (Multiple purchasers) โดยกำหนดให้มีองค์กรในระดับประเทศทำหน้าที่อภิบาลระบบ โดยมีอำนาจตามกฎหมายที่จะสั่งให้หน่วยบริหารการคลังระบบสาธารณสุขต้องปฏิบัติตามกติกาเดียวกัน | |
2. ยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียนและสิทธิรวมถึงคนต่างด้าว กรณีคนไทย บูรณาการการบริหารจัดการระบบหลักประกันสุขภาพของรัฐเป็นระบบเดียวกันให้เกิดเป็นรูปธรรมอย่างแท้จริง โดยใช้กลไกที่มีอยู่แล้ว กรณีคนต่างด้าว การเข้าประเทศต้องมีกลไกและกระบวนการที่ทำให้เป็นการเข้าเมืองถูกกฎหมาย ต้องมีประกันสุขภาพเมื่อเข้ามาในประเทศ โดยใช้กลไกหลักประกันสุขภาพภาครัฐเป็นหลักและระบบเดียวกับคนไทยเพื่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการ ต้องมีการร่วมจ่ายก่อนป่วย เพื่อให้ได้สิทธิประกันสุขภาพภาคบังคับ โดยจ่ายผ่านระบบภาษี การจ่ายสมทบ (contribution) หรือการซื้อประกันสุขภาพ สำหรับกลุ่มคนต่างด้าวที่ยังไม่สามารถเข้าถึงระบบประกันสุขภาพให้ใช้ระบบหลักประกันสุขภาพที่บริหารจัดการโดย สปสช. |
- สปสช. อยู่ระหว่างขับเคลื่อนงานดังกล่าวร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำข้อเสนอแนวทางการขยายความครอบคลุมการประกันสุขภาพภาคบังคับสำหรับคนต่างด้าวทุกคนที่เข้ามาประเทศไทยที่ไม่มีระบบประกันสุขภาพ โดยนำร่องใน 4 กลุ่ม คือ นักท่องเที่ยว, ผู้ต้องขัง, แรงงานต่างด้าว 4 สัญชาติ และ Stateless เพื่อให้มีสิทธิประโยชน์ การจ่ายสมทบ/ซื้อประกัน และการบริหารจัดการที่เหมาะสมเป็นระบบหรือมาตรฐานเดียว โดยจะเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบและมอบหมายหน่วยงานหลักรับผิดชอบต่อไป |
|
3. พัฒนาการจัดบริการสุขภาพแบบเพิ่มคุณค่า (value based healthcare) โดยสนับสนุนให้มีการนำร่องการจัดบริการแบบเพิ่มคุณค่าในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและขยายผลการจัดบริการแบบเพิ่มคุณค่าอย่างเหมาะสมตามข้อเสนอจากการประเมินผลการนำร่อง เพื่อวางระบบอย่างยั่งยืนต่อไป |
- สปสช. มีแผนงานและกระบวนการในการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารกองทุน สปสช. อย่างต่อเนื่องภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการ สปสช. เช่น การปรับประสิทธิภาพการบริหารกองทุนฯ และมาตรการในการควบคุมกำกับการเบิกจ่ายให้ถูกต้องกรณีบริการที่จ่ายชดเชยตามรายการ (Fee Schedule) ปีงบประมาณ 2565 การขยายรูปแบบบริการต่างๆ เพื่อรองรับวิถีชีวิตใหม่ (new normal) ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลและใช้ศักยภาพของทรัพยากรสาธารณสุขที่อยู่นอกโรงพยาบาล การพัฒนาระบบการดูแลในชุมชน เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้บริการของประชาชน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มประสิทธิภาพระบบสุขภาพในภาพรวม นอกจากนั้น ภายใต้กิจกรรมปฏิรูปที่ 4 สปสช.อยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อดำเนินงานโครงการนำร่องการจัดบริการแบบเน้นคุณค่า (Value - Based Healthcare) ในพื้นที่เขตสุขภาพนำร่อง 4 เขต โดยประสานการทำงานร่วมกับ สธ. ที่รับผิดชอบกิจกรรมปฏิรูปที่ 5 การปฏิรูปเขตสุขภาพให้มีระบบบริหารจัดการแบบบูรณาการคล่องตัวและร่วมรับผิดชอบด้านสุขภาพระหว่างหน่วยงานและท้องถิ่น |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1436