การขอความเห็นชอบต่อร่างแผนงานของคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก พ.ศ. 2564 – 2568 (Draft ACWC Work Plan 2021 – 2025)
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 18 January 2022 21:47
- Hits: 6221
การขอความเห็นชอบต่อร่างแผนงานของคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก พ.ศ. 2564 – 2568 (Draft ACWC Work Plan 2021 – 2025)
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบต่อร่างแผนงานของคณะกรรมาธิการอาเซียนว่าด้วยการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (ASEAN Commission on the Promotion and Protection of the Rights of Women and Children: ACWC) พ.ศ. 2564 - 2568 (ร่างแผนงานของ ACWC พ.ศ. 2564 - 2568) โดยหากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเอกสารในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดผลประโยชน์ต่อประเทศไทย ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการได้โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก รวมทั้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะรัฐมนตรีอาเซียนที่รับผิดชอบด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา (ASEAN Minister in Charge of Social Welfare and Development: AMMSWD Minister) ของประเทศไทยมีหนังสือแจ้งการรับรองต่อร่างแผนงานของ ACWC พ.ศ. 2564 - 2568 ไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ในฐานะประธาน การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านสวัสดิการสังคมและการพัฒนา ในโอกาสแรก ภายหลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแล้ว ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ACWC เป็นกลไกด้านสิทธิมนุษยชนสำหรับสตรีและเด็กในอาเซียนมีอำนาจหน้าที่สำคัญในการส่งเสริมการอนุวัติการตราสารระหว่างประเทศ ตราสารอาเซียนและตราสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนกำหนดนโยบาย แผนงาน และกลยุทธ์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็กในอาเซียน โดยจะมีการจัดทำแผนงานระยะ 5 ปี เพื่อเป็นแผนงานหลักในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและเด็กของ ACWC ซึ่งแผนงานดังกล่าวจะมีความสอดคล้องกับพันธกรณีตามตราสารระหว่างประเทศที่ประทศไทยได้รับรองและเป็นภาคี รวมถึงมีการบูรณาการความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ทั้งนี้ แผนงานของ ACWC พ.ศ. 2559 – 2563 ได้สิ้นสุดลงแล้ว ประเทศสมาชิกอาเซียนโดยการสนับสนุนของสำนักเลขาธิการอาเซียนจึงได้ จัดทำร่างแผนงานของ ACWC พ.ศ. 2564 - 2568 ซึ่งจะเป็นแผนงานฉบับใหม่สำหรับการดำเนินงานในระยะอีก 5 ปีข้างหน้า โดยร่างแผนงานดังกล่าวประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ดังนี้
หัวข้อ |
สาระสำคัญ |
1. ภาพรวม |
1.1 วิสัยทัศน์ของ ACWC คือ การเป็นผู้นำในการดำเนินการที่สำคัญในระดับภูมิภาคโดยการขับเคลื่อนวาระและการสื่อสารปฏิสัมพันธ์ ตลอดจนการกระตุ้นให้เกิดการดำเนินนโยบายและการโน้มน้าวให้เกิดยุทธศาสตร์และแนวทางในการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็กในอาเซียน โดยความสำเร็จที่ผ่านมา ACWC ได้เสริมสร้างพัฒนาการในการยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรีและเด็กในอาเซียนและบรรลุเป้าหมายที่สำคัญ เช่น (1) การวิเคราะห์ ศึกษา และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (2) การจัดให้มีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้การเสวนา และการเรียนรู้ระหว่างประเทศอาเซียน (3) การมีส่วนร่วมในกลไกระดับภูมิภาคในการดึงดูดการมีส่วนร่วมของเสาหลักของประชาคมอาเซียน เพื่อหาแนวทางแก้ไขสำหรับปัญหาเกี่ยวกับสตรีและเด็กในภูมิภาค 1.2 การจัดการและการแก้ไขข้อท้าทาย เช่น (1) การนำอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบมาใช้ในการพัฒนากฎหมายและนโยบายความเท่าเทียมทางเพศทั่วทั้งภูมิภาค (2) การลดอัตราความยากจนและช่องว่างความยากจน (3) การลดความเปราะบางของเด็กและวัยรุ่นผ่านนโยบายการคุ้มครองทางสังคมระดับชาติ |
2. ผลผลิตและผลลัพธ์ที่สำคัญ |
2.1 แนวทางการดำเนินการ เช่น (1) การสร้างจากความสำเร็จของ ACWC ในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา (2) ความเชื่อมโยงกับเป้าหมายของอาเซียนที่ชัดเจนและการมีส่วนร่วมต่อแผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน พ.ศ. 2568 (3) ความสอดคล้องกับข้อตกลงสากล เช่น อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก และปฏิญญาว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี (ปฏิญญาเวียนนา) 2.2 ภารกิจและหน้าที่ของ ACWC เช่น (1) พัฒนานโยบาย โครงการ และยุทธศาสตร์เชิงนวัตกรรมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิสตรีและสิทธิเด็กเพื่อที่จะบรรลุกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียน (2) กำหนดแนวทางการทำงานและการหารือร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ภาควิชาการและภาคประชาสังคมที่มีความเกี่ยวข้องกับสิทธิสตรีและเด็ก (3) ส่งเสริมความตระหนักรู้สาธารณะและการศึกษาเกี่ยวกับสิทธิสตรีและเด็กในอาเซียน 2.3 ผลผลิต เช่น (1) การประชุมหารือระดับภูมิภาคว่าด้วยการศึกษาขอบเขตของแรงงานข้ามชาติที่เป็นสตรีในสถานการณ์ที่ยากลำบาก รวมทั้งในช่วงการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (2) การจัดทำงบประมาณสาธารณะเพื่อสิทธิสตรีและสิทธิเด็กในอาเซียน (3) การนำกรอบยุทธศาสตร์ในการบูรณาการความเสมอภาคทางเพศไปปฏิบัติ 2.4 กรอบผลลัพธ์ เช่น (1) การสนับสนุนของอาเซียนที่เพิ่มขึ้นสำหรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสตรีและเด็กผ่านการวิจัย วิเคราะห์ และประชาสัมพันธ์ที่มีประสิทธิภาพ (2) การบูรณาการสิทธิสตรีและสิทธิเด็กในอาเซียนให้เป็นสถาบันและมีมาตรฐาน (3) ความตระหนักรู้และการเผยแพร่เกี่ยวกับสิทธิสตรีและสิทธิเด็กในภูมิภาคเพิ่มขึ้น |
3. การดำเนินการ เพื่อไปสู่การปฏิบัติ |
3.1 การมีส่วนร่วมและความร่วมมือกับอาเซียน เช่น (1) การประชุมหารือระหว่าง ACWC กับคณะกรรมการอาเซียนว่าด้วยสตรี (2) การมีส่วนร่วมในคณะทำงานที่จะถูกจัดตั้งขึ้นภายหลังจากการรับรองกรอบยุทธศาสตร์การบูรณาการความเสมอภาคทางเพศอาเซียน (3) การสนับสนุนความก้าวหน้าของปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยวัฒนธรรมการป้องกันเพื่อมุ่งไปสู่สังคมแบบสันติ ครอบคลุม เข้มแข็ง และกลมเกลียว พ.ศ. 2560 3.2 การเสริมสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือและการระดมทรัพยากร เช่น (1) การใช้ กองทุน ACWC สำหรับการดำเนินโครงการ (2) การจัดประชุมหุ้นส่วนความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อวางแผนและหารือเกี่ยวกับการหนุนเสริมเงินทุนสำหรับแผนงานของ ACWC (3) การระดมความเชี่ยวชาญและความชำนาญเฉพาะด้านของเครือข่ายคู่ค้าเพื่ออำนวยความสะดวกในการสร้างและแบ่งปันความรู้ 3.3 โครงสร้างเชิงสถาบันและบทบาท ประกอบด้วย (1) บทบาทของผู้แทน ACWC เช่น เป็นผู้นำ ดำเนินการ ติดตามและรายงานผลลัพธ์ของแต่ละโครงการและแผนงานโดยรวม รวมทั้งเป็นผู้ประสานงานระดับประเทศ (2) บทบาทของสำนักเลขาธิการอาเซียน เช่น ให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการแก่ ACWC สนับสนุน ACWC ในการสำรวจแหล่งเงินทุนและช่วยเหลือ ACWC ในการพัฒนาและเผยแพร่สื่อมัลติมีเดีย 3.4 การประเมินโครงการ เพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดในคู่มืออาเซียนว่าด้วยการพัฒนาข้อเสนอสำหรับโครงการความร่วมมืออาเซียน |
4. การติดตาม และประเมินผล |
4.1 หลักการและแนวทางปฏิบัติ เช่น (1) การให้ความสำคัญกับการตรวจสอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบ (2) การขยายการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด (3) การสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน และ ACWC ในทุกมิติของกระบวนการติดตามและประเมินผล 4.2 กรอบผลลัพธ์และดัชนีชี้วัดความสำเร็จ เช่น (1) จำนวนหน่วยงานและหุ้นส่วนที่จัดตั้งขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิสตรีและสิทธิเด็กในอาเซียนที่เพิ่มขึ้น (2) จำนวนข้อริเริ่มและโครงการที่เพิ่มขึ้นโดยองค์กรเฉพาะสาขาอาเซียนที่บูรณาการองค์ประกอบด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็ก (3) จำนวนกิจกรรมการเข้าถึงสื่อออฟไลน์ ออนไลน์ และโซเชียลมีเดียของอาเซียนด้านสิทธิสตรีและสิทธิเด็กเพิ่มขึ้น 4.3 ข้อมูลพื้นฐานและเป้าหมาย มี 2 ระดับ ได้แก่ (1) เป้าหมายผลลัพธ์ คือเหตุการณ์สำคัญที่ระดับผลลัพธ์ตามที่ระบุไว้ในกรอบผลลัพธ์ (2) เป้าหมายผลผลิตประจำปี คือ การส่งมอบผลลัพธ์เฉพาะที่จัดลำดับความสำคัญในแผนงานทุกปี ทั้งนี้ เป้าหมายที่ระบุไม่ได้ถูกเจาะจงและอาจได้รับการปรับปรุงแก้ไขตามภูมิทัศน์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การดำเนินการตามแผนงานอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนเป้าหมายที่ระบุไว้ก่อนหน้านี้ 4.4 การเก็บรวบรวมข้อมูลและคุณภาพของข้อมูล มีการพัฒนาชุดเครื่องมือและวิธีการรวบรวมข้อมูลเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการติดตามและประเมินผล (Monitoring and Evaluation: M&E) เพื่อช่วย ACWC ในการรวบรวมตรวจสอบข้อมูล โดยข้อมูลปฐมภูมิจะถูกรวบรวมจากแหล่งที่สามารถเข้าถึงได้ เช่น รายงานความสำเร็จของโครงการและจะได้รับการสนับสนุนด้วยข้อมูลทุติยภูมิ แหล่งข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะ แหล่งข้อมูลทางการในระดับประเทศและระดับภูมิภาค และรายงานที่เกี่ยวข้องจากอาเซียนและองค์กรระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือ 4.5 การรายงานความก้าวหน้าในการบรรลุผลลัพธ์ แบ่งเป็น (1) ระดับผลผลิตโดยข้อมูลการติดตามผลจะถูกรวบรวมและวิเคราะห์ปีละ 2 ครั้ง เพื่อรายงานต่อที่ประชุม ACWC ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง (2) ระดับผลลัพธ์ โดย ACWC จะทำการประเมินระยะครึ่งแผนในปี 2566 ซึ่งจะเป็นแนวทางให้กับ ACWC ในการปรับเปลี่ยนแนวทางใดๆ ที่จำเป็นเพื่อให้ผลลัพธ์เกิดการเปลี่ยนแปลง (3) ระดับผลกระทบ ACWC จะเป็นผู้ประเมินผลกระทบในปี 2568 ซึ่งเป็นการประเมินผลลัพธ์ระยะสุดท้ายที่จะแสดงให้เห็นถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ในประสิทธิผลของแผนงาน 4.6 การรักษาและสร้างขีดความสามารถด้านการประเมินผล เช่น (1) การเสริมสร้างขีดความสามารถเชิงสถาบันสำหรับ M&E (2) การจัดตั้งหน่วยงานประสานงานหลักของ M&E ในแต่ละประเทศสมาชิกอาเซียน สำหรับการดำเนินการตามแผนงานของ ACWC พ.ศ. 2564 - 2568 (3) การเปลี่ยนไปใช้ M&E แบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ |
2.2 ร่างแผนงานของ ACWC พ.ศ. 2564 - 2568 ได้รับความเห็นชอบโดยการแจ้งเวียน (Ad - referendum Endorsement) จากคณะผู้แทน ACWC ของประเทศสมาชิกอาเซียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในฐานะ AMMSWD Minister ของประเทศไทยจะต้องรับรองร่างแผนงานดังกล่าวร่วมกับ AMMSWD Ministers ของประเทศสมาชิกอาเซียนโดยการแจ้งเวียน เพื่อให้ร่างแผนงานของ ACWC พ.ศ. 2564 - 2568 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 18 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1435