ครม.ตั้งเงื่อนต้องรับซื้อสินค้าเกษตรจากไทย อนุมัติจีนทำ'ทางคู่'3 สาย
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Thursday, 20 November 2014 13:11
- Hits: 2892
ครม.ตั้งเงื่อนต้องรับซื้อสินค้าเกษตรจากไทย อนุมัติจีนทำ'ทางคู่'3 สาย
แนวหน้า : ครม.เห็นชอบร่างความร่วมมือไทย-จีน ทั้งการก่อสร้างทางรถไฟ และรับซื้อสินค้าเกษตร ชี้เป็นความร่วมมือแบบ “จีทูจี” ด้าน สตง.ร่อนหนังสือถึง'คมนาคม'ทบทวน'ราคากลาง'เส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ชี้สูงไป
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคม นำเสนอหลักการความร่วมมือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน หรือโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ระหว่างไทยกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยจีนสนใจจะทำเส้นทาง1435 จากหนองคาย มามาบตาพุด ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างจีทูจี หรือรัฐต่อรัฐ ทั้งนี้เรื่องการสร้างทางรถไฟนั้นก็เพื่อเตรียมการไปสู่อนาคตโดยได้เตรียมไว้หลายเส้น นอกจากนี้จีนจะซื้อสินค้าเกษตรของไทยจำนวนหนึ่งซึ่งถือว่าเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนไทยเนื่องจากการครบรอบความสัมพันธ์ทางการทูต 40 ปี
ขณะที่ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.รับทราบความร่วมมือไทย-จีน ในการลงทุนก่อสร้างทางคู่ขนานรางมาตรฐาน 1.435 เมตร 3 ช่วง คือ 1.หนองคาย-นครราชสีมา-แก่งคอย 2.แก่งคอย-กรุงเทพฯ และ 3.แก่งคอย-ชลบุรี-มาบตาพุด รวมระยะทางทั้งหมด 867 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างปี 2558 รองรับความเร็วประมาณ 160-180 กม./ชม. โดยเป็นความร่วมมือแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ส่วนการลงนาม คาดว่าจะเสนอ ครม.สัปดาห์หน้า
นอกจากนี้ สาธารณรัฐประชาชนจีนพร้อมรับซื้อสินค้าเกษตร เช่น ข้าวจากไทย เพื่อร่วมฉลองครบรอบสัมพันธไมตรี ระหว่างไทย-จีน 140 ปี หลังจากนี้ทั้งกระทรวงคมนาคมและกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้ลงนามความร่วมมือกับจีนต่อไป
ด้าน นายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ สตง.ได้ทำหนังสือถึง รมว.คมนาคม เมื่อวันที่ 24 ต.ค.2557 เพื่อขอให้พิจารณาทบทวนการดำเนินโครงการก่อสร้างทางคู่ในเส้นทางรถไฟสายชายฝั่งทะเลตะวันออก ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย สัญญาที่ 1 งานก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-วิหารแดง และช่วงบุใหญ่-แก่งคอย พร้อมทางคู่เลี่ยงเมือง 3 แห่ง โดยเมื่อพิจารณาและตรวจสอบในเบื้องต้นจากประกาศ และเอกสารประกวดราคาจ้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์โครงการดังกล่าวแล้ว พบว่า ร.ฟ.ท. กำหนดราคากลางในการก่อสร้างโครงการดังกล่าวไม่ถูกต้อง ทำให้ราคากลางสูงเกินความเป็นจริง
ทั้งนี้ การที่ ร.ฟ.ท.กำหนดคุณสมบัติให้ผู้ประสงค์จะเสนอราคาต้องมี ต้องจัดหาหรือต้องเช่าเครื่องมืออุปกรณ์รายการ ทั้งรถอัดหินแบบสองหมอนอัดต่อเนื่องสำหรับอัดหินในทางทั่วไป, รถอัดหินแบบหมอนเดียวอัดต่อเนื่องสำหรับอัดหินในชุดประแจ, รถเกลี่ยหินและรถสั่นหิน เพื่อใช้ในการก่อสร้างทางรถไฟ และส่งมอบให้ ร.ฟ.ท.เมื่องานแล้วเสร็จ ซึ่ง ร.ฟ.ท.ได้นำราคาค่าเครื่องมืออุปกรณ์ก่อส้รางไปคำนวณและกำหนดไว้เป็นราคากลางก่อสร้าง ส่งผลให้การกำหนดราคากลางที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ราคากลางสูงเกินความเป็นจริง
อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ของทางราชการและรักษาประโยชน์สูงสุด รวมทั้ง ป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับ ร.ฟ.ท. สตง.จึงขอให้ รมว.คมนาคม ในฐานะผู้ที่มีอำนาจกำกับดูแล พิจารณาทบทวนการดำเนินโครงการดังกล่าวด้วยความระมัดระวัง
นายพิศิษฐ์ยังกล่าวว่า สตง.ยังทำหนังสือถึง ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)ขอให้พิจารณาทบทวนการจัดการรถโดยสารรุ่นใหม่ สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ 115 คัน เนื่องจากหนึ่งในผู้ชนะการประกวดราคาโครงการดังกล่าว ได้มี
การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการยัง ศาลล้มละลายกลาง และศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้วว่าการฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ โดย สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่าเพื่อเป็นประโยชน์ของทางราชการและเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จึงขอให้ ร.ฟ.ท. พิจารณาทบทวนการดำเนินโครงการดังกล่าว