ร่างพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Wednesday, 12 January 2022 00:41
- Hits: 13897
ร่างพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้
1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป
2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ
3. ให้ พน. รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติที่ พน. เสนอ เป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 เพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความชัดเจนและเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน โดยปรับปรุงคำนิยาม “น้ำมันเชื้อเพลิง” ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพิ่มคำนิยาม “ผู้บรรจุก๊าซ” และกำหนดให้ต้องยื่นจดทะเบียน เพื่อให้สามารถกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบรรจุก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนหลักการคำนวณปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองเพื่อให้ประเทศมีปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้ภายในประเทศมากยิ่งขึ้น ยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดให้ผู้ขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงต้องแจ้งต่ออธิบดี เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการขออนุมัติ อนุญาต เนื่องจากผู้ประกอบการดังกล่าวต้องขอใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งกรมธุรกิจพลังงานกำกับดูแลอยู่แล้ว เพิ่มมาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบการบรรจุก๊าซหุงต้มเพื่อจำหน่ายโดยต้องมายื่นขอจดทะเบียนต่ออธิบดี และผู้ค้าน้ำมันหล่อลื่นต้องยื่นขอหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นก่อนการจำหน่าย รวมทั้งมีการปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
ร่างพระราชบัญญัติฯ มีสาระสำคัญเป็นการยกเลิกพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 เพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงให้มีความชัดเจนและเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพการประกอบธุรกิจในปัจจุบัน ดังนี้
1. แก้ไขคำนิยามคำว่า “น้ำมันเชื้อเพลิง” ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถกำหนดชนิดของผลิตภัณฑ์ที่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งผู้ประกอบการค้าจะต้องขออนุมัติอนุญาตเป็นผู้ค้าน้ำมัน โดยกำหนดให้ “น้ำมันเชื้อเพลิง” หมายความว่า
(1) ก๊าซธรรมชาติ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันดิบ น้ำมันเบนซิน น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบิน น้ำมันก๊าด น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา และน้ำมันหล่อลื่น
(2) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอื่นที่ใช้หรืออาจใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือเป็นสิ่งหล่อลื่น
(3) เอทานอล ไบโอดีเซล และไบโอมีเทน ที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ โดยจะใช้เป็นเชื้อเพลิงโดยตรง หรือใช้ผสมกับน้ำมันเชื้อเพลิงก็ได้
(4) สิ่งอื่นที่ใช้หรืออาจใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือเป็นสิ่งหล่อลื่น หรือ สิ่งอื่นที่ใช้ หรืออาจใช้เป็นวัตถุดิบในการกลั่นหรือผลิตเพื่อให้ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ตาม (1) ทั้งนี้ ตามที่รัฐมนตรีกำหนดให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิง โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
2. เพิ่มคำนิยามคำว่า “ผู้บรรจุก๊าซ” โดยหมายความว่า ผู้บรรจุก๊าซปิโตรเลียมเหลวลงในถังก๊าซปิโตรเลียมเหลวหุงต้มในโรงบรรจุตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง และกำหนดให้ต้องยื่นจดทะเบียน เพื่อให้สามารถกำกับดูแลการประกอบธุรกิจบรรจุก๊าซได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ใช้กำกับดูแลการประกอบธุรกิจดังกล่าวมีการยกเลิก
3. เพิ่มคำนิยามคำว่า “ปริมาณการจำหน่ายประจำปี” และเปลี่ยนหลักการคำนวณปริมาณสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงจาก “ปริมาณการค้าประจำปี” เป็น “ปริมาณการจำหน่ายประจำปี” เพื่อให้ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองสอดคล้องกับปริมาณการใช้จริงของประเทศ โดยกำหนดให้ “ปริมาณการจำหน่ายประจำปี” หมายความว่า ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดที่จำหน่ายเป็นเชื้อเพลิงหรือเป็นน้ำมันหล่อลื่นในปีหนึ่ง และให้หมายความรวมถึงปริมาณที่ใช้ในการกลั่นหรือผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย
4. กำหนดปริมาณการค้าและชนิดของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงต้องดำเนินการให้ชัดเจน ดังนี้
4.1 กำหนดให้ผู้ใดเป็นผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตาม (1) และ (3) ของบทนิยามคำว่า “น้ำมันเชื้อเพลิง” หรือน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด โดยมีปริมาณการค้าแต่ละชนิด หรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่ 100,000 เมตริกตันขึ้นไป (ผู้ค้าขนาดใหญ่) ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐมนตรี ทั้งนี้ การขออนุญาต การออกใบอนุญาต คุณสมบัติของผู้รับใบอนุญาต และเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตปฏิบัติ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
4.2 กำหนดให้ผู้ใดเป็นผู้ค้าน้ำมันที่มีปริมาณการค้าไม่ถึง 100,000 เมตริกตัน (ผู้ค้าขนาดกลาง) แต่เป็นผู้ค้าน้ำมันที่มีชนิด ปริมาณ หรือขนาดของถังที่สามารถเก็บน้ำมันเชื้อเพลิง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ต้องยื่นขอจดทะเบียนต่ออธิบดี
5. เพิ่มมาตรการกำกับดูแลผู้ประกอบการบรรจุก๊าซหุงต้มเพื่อจำหน่าย โดยกำหนดให้ผู้ใดเป็นผู้ค้าน้ำมันซึ่งดำเนินกิจการโดยเป็นผู้บรรจุก๊าซ ต้องยื่นขอจดทะเบียนต่ออธิบดี การขอจดทะเบียนและการจดทะเบียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด (เดิมกำหนดให้เป็นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง) เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา
6. กำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันที่ประสงค์จะจำหน่ายหรือมีไว้เพื่อจำหน่ายน้ำมันหล่อลื่นชนิดที่อธิบดีประกาศกำหนด ต้องยื่นคำขอหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นต่ออธิบดี การยื่นคำขอหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด และต้องชำระค่าธรรมเนียมหนังสือรับรองผลิตภัณฑ์น้ำมันหล่อลื่นเป็นรายปี ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง ทั้งนี้ เพื่อให้การกำกับดูแลการค้าน้ำมันหล่อลื่นเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
7. ปรับปรุงบทกำหนดโทษให้เหมาะสมกับการประกอบธุรกิจและสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน เช่น เพิ่มโทษปรับจากไม่เกิน 25,000 บาท เป็น ไม่เกิน 50,000 บาท ในกรณีที่บุคคลที่เกี่ยวข้องไม่อำนวยความสะดวกต่อการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัตินี้ เป็นต้น
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1245