WORLD7

smed PIONEER 720x100ใจฟู720x100pxgpf 720x100 66

ร่างมาตรการสนับสนุนให้สตรีเป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ

GOV4

ร่างมาตรการสนับสนุนให้สตรีเป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ

          คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการมาตรการสนับสนุนสตรีให้เป็นพลังสำคัญทางเศรษฐกิจ (มาตรการสนับสนุนสตรีฯ) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ ประกอบด้วยมาตรการย่อย จำนวน 3 มาตรการ ได้แก่ 1) จัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยขยายบริการของศูนย์เด็กเล็ก/สถานรับเลี้ยงเด็ก ให้รับอายุ 0 - 3 ปี และขยายเวลาเปิด - ปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/สถานรับเลี้ยงเด็กให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน ตามบริบทของพื้นที่ 2) ส่งเสริมการลาของสามีเพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด (Paternity Leave) โดยปรับแก้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาของข้าราชการ .. 2555 (ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาฯ) โดยให้ข้าราชการชายสามารถลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตร จากเดิม ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ เป็น ให้ลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันจนครบวันลา 3) ขยายวันลาคลอดของแม่โดยได้รับค่าจ้าง (Maternity Leave with Pay) โดยแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาฯ โดยแก้ไขวันลาคลอดบุตรของข้าราชการ จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน และเสนอประเด็นแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาฯ โดยให้ข้าราชการที่ลาคลอดบุตรแล้ว 98 วัน สามารถลาได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือน ร้อยละ 50 ของเงินเดือนปกติ

และให้ พม. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาในรายละเอียด โดยนำความเห็นของหน่วยงานต่างๆ ไปประกอบการพิจารณาให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจน ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

          สาระสำคัญของเรื่อง 

          พม. รายงานว่า

          1. จากข้อมูลสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจพบว่า ผู้หญิงมีบทบาททางด้านเศรษฐกิจน้อยกว่าผู้ชาย [ผู้หญิงมีส่วนร่วมในกำลังแรงงานน้อยกว่าผู้ชาย (ผู้ชาย 20.56 ล้านคน ผู้หญิง 17.36 ล้านคน) ทั้งแรงงานในระบบ (ผู้ชาย 9.35 ล้านคน ผู้หญิง 8.20 ล้านคน) และแรงงานนอกระบบ (ผู้ชาย 11.20 ล้านคน ผู้หญิง 9.16 ล้านคน)] และผู้หญิงมีอัตราการว่างงานที่สูงกว่าผู้ชาย ถึงแม้ว่าสัดส่วนประชากรผู้หญิงจะมีมากกว่าประชากรผู้ชายก็ตาม เนื่องจากผู้หญิงถูกกำหนดให้มีบทบาทเป็นผู้รับภาระทำงานบ้านและงานนอกบ้าน ส่งผลให้ผู้หญิงขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง และต้องใช้เวลาการทำงานส่วนหนึ่งไปกับการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร ทำให้ถูกมองว่ามีประสิทธิภาพในการทำงานน้อยกว่าผู้ชาย อีกทั้งตลาดแรงงานยังเห็นว่าการตั้งครรภ์ของผู้หญิงเป็นการเพิ่มต้นทุนให้แก่สถานประกอบการ

 

ais 720x100NHA720x100

 

          2. คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาสถานภาพสตรีแห่งชาติ (กยส.) (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เป็นประธาน) ในการประชุมครั้งที่ 2/2563 เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2563 ได้มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนสตรีฯ ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองและสนับสนุน รวมถึงอำนวยความสะดวกให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีบทบาททางด้านเศรษฐกิจ โดยสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการเลี้ยงดูบุตร และสร้างกลไกการพัฒนาเด็กเพื่อลดภาระให้แก่ผู้หญิงที่ทำงาน ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายตามมาตรการที่ประกอบด้วย กลุ่มแรงงานหญิง กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว และกลุ่มผู้หญิงสูงอายุที่ต้องเป็นผู้เลี้ยงดูเด็กทั่วประเทศ สามารถเข้ามามีส่วนร่วมและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รวมถึงสามารถปฏิบัติงานได้เต็มประสิทธิภาพ ส่งผลต่อการมีงานทำ การมีรายได้ ความก้าวหน้าที่ควรได้รับของผู้หญิง ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อความเสมอภาคเท่าเทียม การพัฒนาสถาบันครอบครัวและภาพลักษณ์อันดีของประเทศในระยะต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ รวมทั้ง พม. (กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว) ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรการด้วยแล้ว โดยมีสาระสำคัญของมาตรการสนับสนุนสตรีฯ สรุปได้ ดังนี้

 

หัวข้อ

รายละเอียด

หลักการ

สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 และมาตรา 48 รวมทั้งสอดคล้องกับหลักการของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Discrimination Against Women: CEDAW) ที่ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นรัฐภาคี ซึ่งกำหนดขึ้นเพื่อให้รัฐภาคีใช้มาตรการที่เหมาะสม เพื่อขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงด้วยเหตุผลอันเนื่องมาจากการแต่งงานหรือการเป็นเพศมารดา ทั้งในด้านการศึกษาและด้านการจ้างงาน เช่น การห้ามไม่ให้มีการปลดเพราะเหตุแห่งการตั้งครรภ์หรือการลาคลอดบุตร การเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของสถานภาพในการแต่งงาน การลาคลอดบุตรโดยให้ได้รับค่าจ้าง การสร้างเสริมให้มีการจัดตั้งและพัฒนาขอบข่ายของสวัสดิการด้านภาระเลี้ยงดูเด็ก เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงาน และเพื่อสร้างสังคมที่เกิดจากจากมีส่วนร่วมของผู้หญิงและผู้ชาย

 

มาตรการสนับสนุนสตรีฯ

 

มาตรการย่อย/

แนวทางการปฏิบัติ

 

ประโยชน์

 

ความเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น

(1) จัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 3 ปี

- ให้กระทรวง มหาดไทย (มท.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ขยายบริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก/สถานรับเลี้ยงเด็ก โดยให้รับเด็กตั้งแต่อายุ 0 - 3 ปี และขยายเวลาเปิด - ปิดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงาน

 

1) ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงด้านการจ้างงาน ทำให้เกิดนโยบายที่มีลักษณะเป็นมิตรต่อผู้หญิง (women friendly) ส่งผลโดย ตรงต่อการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศ เอื้อต่อการออกไปทำงานนอกบ้านของผู้หญิงอย่างเต็มที่ และช่วยลดข้อกล่าวอ้างในการถูกเลือกปฏิบัติในตลาดแรงงาน

2) การพัฒนาเด็กในช่วงประถมวัยจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำตั้งแต่จุดเริ่มต้นของชีวิต นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้จัดบริการศูนย์พัฒนาเด็กเล็กครอบคลุมช่วงอายุ 2 - 3 ปี อยู่แล้วสำหรับการขยายบริการให้เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ควรกำหนดแนวทางให้ อปท. พิจารณาดำเนินการตามความพร้อมของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและความต้องการในแต่ละพื้นที่โดยรัฐบาลต้องสนับสนุนงบประมาณอัตรากำลังครู ผู้ดูแลเด็กในแต่ละช่วงอายุ รวมถึงการพัฒนาทักษะความเชี่ยวชาญในการดูแลเด็กอย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับ กทม. ที่มีการรับดูแลเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี โดยสำนักการแพทย์และสำนักอนามัยเป็นผู้รับผิดชอบ (มท.)

2) การขยายเวลาเปิดปิด ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนทำงานต้องคำนึงถึงความพร้อม สภาพบริบทที่ตั้ง การประกอบอาชี ความต้องการของผู้ปกครอง และงบประมาณที่ อปท. ใช้ดำเนินการดังกล่าว (มท. และ กทม.)

(2) ส่งเสริมการลาของสามีเพื่อช่วยภรรยาดูแลบุตรหลังคลอด

- ให้ พม. เสนอประเด็นในการปรับแก้ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาฯ โดยให้ข้าราชการชายสามารถลาไปช่วยเหลือภรรยาที่คลอดบุตรจากเดิม ลาครั้งหนึ่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 15 วันทำการ เป็นให้ลาได้ 15 วันทำการ เป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันจนครบวันลา

 

1) ส่งเสริมให้สามีมีส่วนร่วมในการดูแลบุตร

2) ส่งผลดีต่อชีวิตครอบครัวผู้หญิง และบุตร ทำให้การหย่าร้างลดลง เด็กที่เติบโตในสภาพที่คู่รักมีความ สัมพันธ์เท่าเทียมกันมีโอกาสสูงที่จะเป็นเด็กที่มีความสุข มีผลการเรียนดี สุขภาพดี เห็นคุณค่าในตัวเอง และมีพฤติกรรมในการสร้างปัญหาน้อยลง

 

1) ควรมีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของหน่วยงานกลางบริหารทรัพยากรบุคคลสำหรับข้าราชการประเภทอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือ จากข้าราชการพลเรือนสามัญ ตามพระราช บัญญัติระเบียบข้า ราชการพลเรือน .. 2551 (สำนักงาน ..)

2) ต้องสร้างการรับรู้ความเข้าใจกับผู้ประกอบการให้ชัดเจน และศึกษาวิเคราะห์บทบาทของหน่วยงานที่จะรองรับมาตรการที่เกิดขึ้น เพื่อลดความซ้ำซ้อนของภารกิจที่คล้ายคลึงกัน (กระทรวงแรงงาน) (รง.)

(3) ขยายวันลาคลอดของแม่โดยได้รับค่าจ้าง

- ให้ พม. เสนอประเด็นแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาฯ โดยแก้ไขวันลาคลอดบุตรของข้าราชการจากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน

- ให้ พม. เสนอประเด็นแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการลาฯ โดยให้ข้าราชการที่ลาคลอดบุตรแล้ว 98 วัน สามารถลาได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือนร้อยละ 50ของเงินเดือนปกติ

 

1) ปรับเปลี่ยนจำนวนวันลาคลอดของข้าราชการให้เท่ากับภาคเอกชน

2) สนับสนุนนโยบายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่ตั้งเป้าหมายการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน

 

ควรมีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอ แนะของหน่วยงานกลางบริหารทรัพยากรบุคคล สำหรับข้า ราชการประเภทอื่นๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง (สำนักงาน ..)

 

กลุ่มเป้าหมาย

(1) กลุ่มแรงงานหญิง จำนวน 17,366,400 คน* จำแนกเป็นแรงงานหญิงในระบบ จำนวน 8,205,700 คน และแรงงานหญิงนอกระบบ จำนวน 9,160,700 คน เป็นกลุ่มที่ต้องคำนึงถึงอย่างเร่งด่วน เนื่องจากกระแสการพัฒนาในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (.. 2560 - 2564) เน้นไปที่การแข่งขันทางทักษะเป็นอย่างสูง และเพื่อให้การทำงานของแรงงานสตรีเกิดประสิทธิภาพ จึงต้องแบ่งเบาภาระเรื่องงานบ้าน การเลี้ยงดูบุตร และการดูแลบุพการี เพื่อให้ได้ใช้เวลาในการพัฒนาศักยภาพตนเองให้สูงขึ้น เพื่อให้มีความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและสามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาและใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้

(2) กลุ่มแม่เลี้ยงเดี่ยว จำนวน 1,061,182 คน** เป็นกลุ่มที่ต้องรับภาระการเป็นหัวหน้าครอบครัวเลี้ยงดูบุตรที่ยังเล็กทำให้ไม่สามารถทำงานในระบบได้อย่างเต็มศักยภาพ ขาดความก้าวหน้าต้องทำงานเหมาช่วง1 หรือเป็นแรงงานนอกระบบที่ขาดหลักประกันทางสังคม จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือเพื่อให้สามารถทำงานและพึ่งพาตนเองได้

(3) กลุ่มผู้หญิงสูงอายุที่ต้องเป็นผู้เลี้ยงดูเด็ก จำนวน 379,347 คน *** เป็นกลุ่มที่ต้องเป็นผู้ดูแลเด็กให้กับพ่อแม่ที่อพยพไปทำงานในเขตเมือง ซึ่งบางคนยังต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพอยู่ เกิดผลในทางลบทั้งกับตัวผู้หญิงสูงอายุและเด็กในเรื่องสุขภาพและพัฒนาการของเด็ก

 

1การทำงานเหมาช่วง เป็นการดำเนินการทำงาน การผลิตสินค้าหรือบริการตามสัญญาที่ได้กระทำไว้กับผู้ว่าจ้างตามช่วงเวลาที่กำหนดไว้ โดยได้รับค่าตอบแทนตามสัญญาจ้าง

 

หมายเหตุ    *ข้อมูลการสำรวจแรงงานนอกระบบ .. 2563 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)

                  **ข้อมูลจากรายงานสถิติรายปีประเทศไทย .. 2561 (สำนักงานสถิติแห่งชาติ)

                  ***ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์ประชากรไทย .. 2558 (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ) (สศช.)

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 มกราคม 2565

สำนักโฆษก   สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396

 

A1238

 Click Donate Support Web

EXIM One 720x90 C JGC 720x100TU720x100sme 720x100

BANPU 720x100QIC 720x100

เจนเนอราลี่

apm

 

 

Facebook

5 ข่าวฮอตนิวส์!