การเสนอความเห็นการขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน
- Details
- Category: มติ ครม.
- Published: Tuesday, 11 January 2022 23:54
- Hits: 8203
การเสนอความเห็นการขอจัดตั้งทุนหมุนเวียนของคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียน
คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบผลการพิจารณาการขอจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ตามร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนเสนอ และให้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) (สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม) รับความเห็นของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการนโยบายการบริหารทุนหมุนเวียนไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการฯ รายงานว่า
1. สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สภานโยบายฯ) ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ตามร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง [ซึ่งได้รวมภารกิจของเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนมาอยู่ภายใต้กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาด้วยแล้ว] โดยมอบหมายให้ อว. ดำเนินการเสนอกระทรวงการคลัง (กค.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจึงขอเสนอเรื่องขอจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาต่อคณะกรรมการฯ เพื่อพิจารณา
2. กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้
ประเด็น |
สาระสำคัญ |
วัตถุประสงค์ |
เพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาตามความต้องการของประเทศและด้านการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ พัฒนาการเรียนการสอน การวิจัย และการสร้างนวัตกรรม ร่วมกับนักวิชาการ สถาบันวิชาการและองค์กรชั้นนำของโลก และเชื่อมโยงการเรียนการสอน การวิจัยและการสร้างนวัตกรรมกับสถานประกอบการทั้งภาคเอกชน ภาครัฐ และภาคประชาสังคมรวมทั้งสนับสนุนการใช้ความรู้ในการพัฒนาสมรรถนะของชุมชนและสังคม และสนับสนุนการปฏิรูปการอุดมศึกษาส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานการอุดมศึกษา พัฒนาระบบการเรียนรู้ ส่งเสริมสนับสนุนระบบพัฒนาศักยภาพ สมรรถนะ ทักษะของคณาจารย์ สนับสนุนเงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้แก่สถาบันการอุดมศึกษาเอกชน |
แหล่งเงินทุน |
(1) เงินและทรัพย์สินที่ได้รับโอนมาจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเอกชน (2) เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้ (3) เงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ (4) เงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคหรือมอบให้เพื่อสมทบกองทุน (5) เงินอุดหนุนจากต่างประเทศ รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศ (6) เงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนหรือที่ได้รับตามกฎหมายหรือนิติกรรมสัญญา (7) เงินสมทบกองทุนที่สถาบันอุดมศึกษานำส่งกองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (8) ค่าตอบแทนหรือรายได้จากการดำเนินกิจการของกองทุน (9) ดอกผล ผลประโยชน์หรือรายได้อื่นที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของกองทุน |
3. คณะกรรมการฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 มีมติเห็นชอบในหลักการให้จัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษา ตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเสนอ โดยมีเงื่อนไขให้ดำเนินการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อกำหนดให้การออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน การเก็บรักษาเงิน และทรัพย์สินของกองทุนจะต้องขอความเห็นชอบจาก กค. และการกำหนดข้อบังคับว่าด้วยการบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การพัสดุ ตลอดจนการกำหนดค่าตอบแทน สิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ ของผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานบริหารกองทุนและการอื่นที่จำเป็น การกำหนดโครงสร้างการบริหารและอัตรากำลังกองทุน การกำหนดค่าเบี้ยประชุมหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธานกรรมการและกรรมการบริหารกองทุน และอนุกรรมการที่คณะกรรมการบริหารแต่งตั้ง การกำหนดอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้อำนวยการ การกำหนดให้จัดทำรายงานการเงินของกองทุนเสนอผู้สอบบัญชี และกำหนดให้ผู้สอบบัญชีทำรายงานการสอบบัญชีของกองทุนเสนอต่อคณะกรรมการบริหารกองทุนให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 พร้อมทั้งให้สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำข้อมูลเพิ่มเติม ดังนี้ (1) ภารกิจของกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาต้องไม่ซ้ำซ้อนกับภารกิจหลักของ อว. และที่ผ่านมามีการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาอย่างไร และ (2) ความชัดเจนในเรื่องแหล่งรายได้ การจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (Service Delivery Unit : SDU) เพื่อบริหารกองทุน รวมถึงประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดตั้งกองทุน
4. สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการฯ และจัดทำข้อมูลเพื่อชี้แจงเพิ่มเติม (ตามข้อ 3) ซึ่งคณะกรรมการฯ ในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2564 เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2564 มีมติรับทราบและมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ จัดทำรายละเอียดเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป สรุปได้ ดังนี้
หัวข้อ |
ข้อชี้แจงของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อคณะกรรมการฯ |
|
1. ความซ้ำซ้อนกับภารกิจหลักของ อว. และการดำเนินการที่ผ่านมา มีการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของกองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษามีการดำเนินการอย่างไร |
กองทุนเพื่อพัฒนาการอุดมศึกษาไม่มีความซ้ำซ้อนกับภารกิจหลักของสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยที่ผ่านมาสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมจะดำเนินการตามภารกิจหลักและได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาจากกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม แต่การดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากสามารถดำเนินการได้เฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมตามวัตถุประสงค์ของกองทุนวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่เน้นการวิจัยเพื่อหาคำตอบแต่ไม่สนับสนุนการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องหลายๆ ปี แบบระบบการจัดการศึกษา และไม่สามารถดำเนินการพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาในด้านอื่นๆ ได้ |
|
2. ความชัดเจนในเรื่องแหล่งรายได้ การจัดตั้งสำนักงานบริหารโครงการเป็นหน่วยบริการรูปแบบพิเศษเพื่อบริหารกองทุน |
ส่วนใหญ่เป็นรายได้จากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินและทรัพย์สินที่โอนมาจากเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาเอกชนและดอกเบี้ยจากการให้เงินกู้ยืมแต่สถาบันอุดมศึกษาเอกชนเป็นหลัก |
|
3. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดคั้วกองทุน |
(1) สามารถพัฒนาความเป็นเลิศของสถาบันอุดมศึกษาและการผลิตกำลังคนระดับสูงเฉพาะทางตามความต้องการของประเทศ (2) สามารถปฏิรูปการอุดมศึกษาให้สอดคล้องกับหลักการและแนวทางตามพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และกฎหมายอื่นเพื่อพัฒนาและยกระดับมาตรฐานของการอุดมศึกษาและสถาบันอุดมศึกษาและพัฒนาระบบการเรียนรู้ไปสู่การเรียนรู้ที่ตอบสนองการพัฒนาศักยภาพคนตลอดช่วงชีวิตครอบคลุมคนทุกกลุ่ม ให้เข้าถึงการอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ ทุกที่ ทุกเวลาในต้นทุนที่เข้าถึงได้ (3) สามารถเพิ่มศักยภาพของสถาบันอุดมศึกษาในการพัฒนาการจัดการศึกษาร่วมระหว่างสถาบันอุดมศึกษากับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงสถาบันวิชาการทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาความรู้และทักษะที่เชื่อมต่อกับโลกการทำงาน รวมทั้งพัฒนาทักษะความเป็นผู้ประกอบการให้กับผู้เรียน |
|
4. การแก้ไขร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... |
สำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ไม่ขัดข้อง หาก กค. จะขอให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติการอุดมศึกษา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 ในขั้นตอนกระบวนการนิติบัญญัติในชั้นต่อไป |
(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (นายกรัฐมนตรี) 11 มกราคม 2565
สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โทร. 0 2288-4396
A1235